ย้อนดูความสัมพันธ์ซาอุดีอาระเบีย-อิหร่าน จากเพื่อนกลายเป็นปรปักษ์ได้อย่างไร
ย้อนสัมพันธ์ ซาอุดีอาระเบีย-อิหร่าน จากเพื่อนกลายเป็นศัตรู
บทความโดย : ศราวุฒิ อารีย์
เช้ามืดของวันที่ 14 กันยายน 2019 มีการก่อวินาศกรรมโจมตีคลังน้ำมัน 2 แห่งของบริษัท Saudi Aramco การโจมตีดังกล่าวแม้ไม่ได้ทำให้ใครบาดเจ็บ แต่ก็ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำมันและก๊าซของประเทศซาอุดีอาระเบีย ทำให้การผลิตน้ำมันของประเทศลดลงถึง 5.7 ล้านบาร์เรลต่อวันเลยทีเดียว หรือคิดเป็น 5% ของอุปทานน้ำมันทั่วโลก
โฆษกกลุ่มฮูษี (Houthi) ที่ปฏิบัติการในเยเมนออกมาแสดงความรับผิดชอบ อ้างว่าการโจมตีครั้งนี้มีการใช้โดรนกว่า 10 ลำ พร้อมทั้งข่มขู่ว่าจะขยายการโจมตีซาอุดีอาระเบียให้กว้างขวางขึ้น แต่ฝ่ายสหรัฐฯ และซาอุดีอาระเบียไม่เชื่อแถลงการณ์ของกลุ่มฮูษี โดย ไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ทวีตข้อความแปลออกมาเป็นภาษาไทยได้ว่า “ท่ามกลางการเรียกร้องเรื่องการลดความรุนแรง อิหร่านกลับเปิดการโจมตีแหล่งพลังงานของโลกอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และไม่มีหลักฐานว่าการโจมตีมาจากเยเมน”
หลังจากนั้น ซัยยิด อับบาส มูซาวี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของอิหร่าน ได้ออกมาตอบโต้ว่าการที่สหรัฐฯ กล่าวหาอิหร่านว่าอยู่เบื้องหลังเหตุโดรนโจมตีโรงน้ำมันในซาอุดีอาระเบียเป็นเรื่องที่ไม่มีข้อพิสูจน์และไม่เป็นความจริง
“การที่สหรัฐฯ กล่าวหาอย่างนี้ก็เพื่อทำลายภาพลักษณ์ของอิหร่านในเวทีโลก เพื่อเตรียมมาตรการต่อต้านเตหะรานในอนาคต” ขณะเดียวกันกระทรวงกลาโหมซาอุดีอาระเบียได้ออกมาสรุปผลการตรวจสอบ ซึ่งอธิบายไปในทำนองว่าอาวุธที่ใช้ในการโจมตีเป็นของอิหร่าน พูดอีกอย่างคืออิหร่านเป็นผู้อยู่เบื้องหลังในการโจมตีคลังน้ำมันครั้งเลวร้ายนี้
ไม่ว่าผู้กระทำจะเป็นกลุ่มฮูษีในเยเมนหรืออิหร่านซึ่งเป็นพันธมิตรสนิทชิดเชื้อก็ตาม สถานการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นกำลังจะนำไปสู่ความขัดแย้งในวงกว้างที่น่าเป็นห่วงยิ่ง
มีบทความหลากหลายได้ออกมาวิเคราะห์เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทั้งเรื่องผลกระทบที่มีต่อราคาและการผลิตน้ำมันของโลก ทั้งเรื่องความเป็นไปได้ที่จะเกิดสงครามใหญ่เผชิญหน้ากันระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน ทั้งเรื่องศักยภาพด้านอาวุธของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และเรื่องอื่นๆ อีกมากมายหลายแง่มุม
แต่ผู้เขียนเห็นว่าเหตุการณ์นี้มีนัยสำคัญยิ่งต่อความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่าน ซึ่งเป็นมิติที่ยังมีบทวิเคราะห์ออกมาน้อยมาก ฉะนั้นบทความนี้ผู้เขียนจึงอยากชวนให้ย้อนกลับไปพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่าน เพื่อเป็นข้อมูลพิจารณาแนวโน้มความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศในอนาคตต่อไป
ย้อนดูความสัมพันธ์ซาอุดีอาระเบีย-อิหร่าน จากเพื่อนกลายเป็นปรปักษ์ได้อย่างไร
หากย้อนกลับไปดูความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอาระเบีย-อิหร่านในยุคประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ก็จะพบว่าทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันมาตั้งแต่ปี 1928 หรือช่วงที่มีการสถาปนารัฐซาอุดีอาระเบียขึ้นมาใหม่ภายใต้การนำของตระกูลสะอูด (Al-Saud Family) ความใกล้ชิดระหว่างระบอบราชาธิปไตยของทั้งสองประเทศยังไม่ปรากฏเด่นชัดมากนักในช่วงแรก จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติโค่นล้มกษัตริย์แห่งอิรักในปี 1964 อันเป็นผลมาจากกระแสชาตินิยมอาหรับที่เติบโตอย่างรวดเร็วในยุคนั้น
ภัยคุกคามที่เกิดขึ้นทำให้ซาอุดีอาระเบีย-อิหร่านต้องร่วมมือกันหยุดยั้งกระแสการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในตะวันออกกลาง อีกทั้งซาอุดีอาระเบีย-อิหร่านยังมีผลประโยชน์ร่วมกันในกิจการน้ำมันที่เป็นรายได้หลักสำคัญของประเทศ ดังที่ เฮนเนอร์ เฟอร์ทิก ได้อธิบายเอาไว้ว่า “ความสนใจร่วมในการต่อสู้กับพวกสังคมนิยมและชาตินิยมสุดโต่งที่กำลังคืบคลานเข้ามาในอ่าวเปอร์เซีย การสร้างหลักประกันให้เกิดการไหลของน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และการเพิ่มความมั่งคั่งร่ำรวยผ่านการส่งออกน้ำมัน ทำให้ซาอุดีอาระเบีย-อิหร่านต้องผนึกกำลังร่วมกันจนกระทั่งถึงปลายทศวรรษที่ 1970”
สัมพันธภาพที่ตั้งอยู่บนความเหมือนของระบอบการปกครองและผลประโยชน์ร่วมทางเศรษฐกิจดังกล่าวถูกตั้งข้อสังเกตจาก เดวิด ลอง ว่า
“ก่อนการปฏิวัติ (อิหร่าน) เหตุปัจจัยหลักอันทำให้เกิดการเผชิญหน้าทางการเมืองในอ่าวเปอร์เซียไม่ได้มีต้นเหตุมาจากประเด็นความขัดแย้งซุนนีย์-ชีอะห์ หรือความแตกต่างทางชาติพันธุ์ระหว่างอาหรับกับเปอร์เซีย แต่เป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยมกับฝ่ายชาตินิยมอาหรับ”
ข้อสังเกตดังกล่าวมีความน่าสนใจยิ่ง เพราะเป็นการชี้ให้เห็นว่าความขัดแย้งระหว่างซาอุดีอาระเบีย-อิหร่านที่เกิดขึ้นปัจจุบันไม่ได้มีสาเหตุหลักจากพื้นฐานความแตกต่างทางนิกายศาสนาอย่างที่หลายคนอ้าง แม้แต่ความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ภาษา และวัฒนธรรมก็ถูกก้าวข้าม หากทั้งสองประเทศต้องเผชิญปัญหาแรงกดดันร่วม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดทั้งสองประเทศให้มาร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ตาม นับจากการปฏิวัติอิหร่านปี 1979 ความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอาระเบียและอิหร่านก็เปลี่ยนไปทันที ซาอุดีอาระเบียมองการปฏิวัติอิหร่านว่าเป็นพลังที่จะสร้างความไร้เสถียรภาพขึ้นในภูมิภาค ส่วนหนึ่งเนื่องจากซาอุดีอาระเบียเห็นว่าอิหร่านพยายามตอกย้ำความพยายามที่จะส่งออกการปฏิวัติไปยังรัฐอื่นๆ รอบอ่าวเปอร์เซีย
ในทางกลับกัน อิหร่านก็มองซาอุดีอาระเบียว่าไม่มีความชอบธรรมที่จะเป็นผู้พิทักษ์ศาสนสถานสำคัญของโลกมุสลิมทั้งสองแห่ง (มัสยิดิลฮารอมในมักกะฮ์และมัสยิดนะบะวีย์ในมะดีนะฮ์) อีกทั้งอุดมการณ์ของ อยาตุลลอฮ์ โคมัยนี ผู้นำการปฏิวัติอิหร่าน คือต่อต้านระบอบราชาธิปไตยอย่างแข็งขัน และต้องการให้อำนาจสูงสุดทางการเมืองอยู่ภายใต้ผู้นำศาสนา ซึ่งแนวคิดเหล่านี้ล้วนตรงข้ามกับโครงสร้างทางการเมืองและนโยบายภายในของซาอุดีอาระเบียทั้งสิ้น
ความขัดแย้งระหว่างซาอุดีอาระเบีย-อิหร่านทวีความรุนแรงมากขึ้นอันเกิดจากสงครามอิรัก-อิหร่านที่เริ่มต้นขึ้นในปี 1980 ทั้งนี้เนื่องจากซาอุดีอาระเบียให้การสนับสนุนอิรักในการทำสงครามดังกล่าว พร้อมทั้งให้อิรักกู้ยืมเงินกว่า 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กองทัพอิรัก
เฟอร์ทิกเรียกปรากฏการณ์นี้ว่าเป็น ‘ระเบียบภูมิภาคอ่าวเปอร์เซียแบบสามเหลี่ยม’ (Triangular regional order of the Gulf) ซึ่งหมายถึงพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาคที่ปรับเปลี่ยนจากการที่อิหร่านและซาอุดีอาระเบียเคยร่วมกันสกัดกั้นการเติบโตของอิรัก ไปเป็นการที่อิรักและซาอุดีอาระเบียร่วมกันสกัดกั้นการเติบโตของอิหร่านในภูมิภาคตะวันออกกลาง
ในปี 1987 เกิดเหตุการณ์สำคัญที่สะเทือนความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอาระเบีย-อิหร่านอีกครั้ง เป็นเหตุการณ์ที่เริ่มต้นจากการที่ผู้แสวงบุญชาวอิหร่านจัดขบวนชุมนุมทางการเมืองเพื่อต่อต้านสหรัฐฯ ระหว่างประกอบพิธีฮัจญ์ ณ นครมักกะฮ์ จนเกิดการปะทะรุนแรงกับกองกำลังรักษาความมั่งคงของซาอุดีอาระเบีย นำไปสู่การนองเลือด ซึ่งทำให้ผู้แสวงบุญชาวอิหร่านเสียชีวิตทันที 275 คน บาดเจ็บอีก 303 คน
ขณะที่เจ้าหน้าที่ความมั่นคงของซาอุดีอาระเบียก็เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนไม่น้อยเช่นกัน เหตุการณ์นี้สร้างความเกลียดชังและความหวาดระแวงซึ่งกันและกันเพิ่มมากขึ้น อันนำไปสู่การตัดความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในที่สุดเมื่อปี 1988 ขณะที่อิหร่านก็ประกาศคว่ำบาตร ไม่ขอเข้าร่วมพิธีฮัจญ์ในซาอุดีอาระเบียอีกต่อไป
แม้สัมพันธภาพระหว่างซาอุดีอาระเบีย-อิหร่านจะไม่ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาทันทีหลังสงคราม 8 ปีอิรัก-อิหร่าน (1980-1988) จบสิ้นลง แต่ในทศวรรษที่ 1990 ก็มีเหตุการณ์สำคัญหลายเหตุการณ์ที่ทำให้มหาอำนาจทั้งสองประเทศต้องโน้มเอียงเข้าหากัน
เริ่มจากการที่กองกำลังอิรักเคลื่อนทัพไปบุกยึดคูเวตในปี 1990 ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ของมหาอำนาจในภูมิภาคที่เป็นแบบสามเหลี่ยมอีกครั้ง เพราะสงครามอ่าวเปอร์เซียที่ตามมาหลังจากนั้นได้ทำให้ความขัดแย้งระหว่างซาอุดีอาระเบีย-อิหร่านคลายความตึงเครียดลง เพราะต่างฝ่ายต่างต้องมาให้ความสนใจต่อปัญหาภัยคุกคามจากอิรักภายใต้ประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน
ความก้าวร้าวของฮุสเซนได้นำทั้งสองประเทศมาสู่เป้าหมายทางการเมืองร่วมกัน เนื่องจากอิหร่านยังผูกใจเจ็บอิรักจากการทำสงคราม 8 ปี ขณะที่ซาอุดีอาระเบียเองก็มองอิรักและพฤติกรรมการยึดครองคูเวตเป็นภัยคุกคามต่อราชวงศ์สะอูดมากกว่าภัยคุกคามที่มาจากอิหร่าน สุดท้ายความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างซาอุดีอาระเบีย-อิหร่านก็เปิดฉากขึ้นอีกครั้งในวันที่ 19 มีนาคม 1991
นอกจากนั้นเหตุผลด้านเศรษฐกิจยังเป็นปัจจัยที่ดึงสองฝ่ายให้ต้องหันหน้าเข้าหากัน อิหร่านเริ่มเห็นความสำคัญของซาอุดีอาระเบียในฐานะ ‘พี่ใหญ่’ ขององค์กรร่วมของประเทศผู้ผลิตน้ำมันเพื่อการส่งออก หรือ OPEC (Organization of the Petroleum Exporting Countries) เพราะเป็นหนทางในการร่วมมือเพื่อเพิ่มการค้าและรายได้อันเกิดจากการขายน้ำมันในตลาดโลก เพื่อที่จะนำเม็ดเงินมาบูรณะฟื้นฟูประเทศอิหร่านหลังตกอยู่ในภาวะสงครามมานานหลายปีติดต่อกัน
ขณะที่ซาอุดีอาระเบียเองก็ต้องการรักษาภาพลักษณ์ในฐานะผู้พิทักษ์ศาสนสถานสำคัญทั้งสองของโลกมุสลิม โดยไม่ต้องการให้ชาติใดคว่ำบาตรพิธีฮัจญ์ ซึ่งเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของซาอุดีอาระเบียรองจากน้ำมัน ทั้งนี้อิหร่านในยุคนั้นถือเป็นประเทศที่ประชาชนมาทำพิธีฮัจญ์มากที่สุด ขณะที่ความรู้สึกว่าอิหร่านเป็นภัยคุกคามต่อกลุ่มประเทศอ่าวเปอร์เซียก็ลดน้อยลงตามลำดับ โดยเฉพาะหลังจากที่อิหร่านมีรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้ผู้นำและนักการศาสนาสายปฏิรูป
ตะวันออกกลางหลังยุคซัดดัม ฮุสเซน
การก่อวินาศกรรมในสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 ทำให้สถานการณ์ในตะวันออกกลางตึงเครียดขึ้นมาทันที ภายใต้ข้ออ้างเรื่องสงครามต่อต้านการก่อการร้าย สหรัฐฯ ได้ใช้กำลังบุกโจมตีอัฟกานิสถาน (2001) และอิรัก (2003) เป็นผลให้อำนาจของระบอบตาลีบันและฮุสเซนถูกโค่นล้ม ซึ่งสุดท้ายก็ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอาระเบีย-อิหร่านที่ก่อนหน้านี้ไม่ค่อยมีความขัดแย้งกันมากนัก นอกจากนั้นตะวันออกกลางยุคหลังฮุสเซนยังเป็นการเปิดศักราชใหม่ในความขัดแย้ง ไม่เฉพาะระหว่างพวกสุดโต่งของตะวันตกและตะวันออกเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความขัดแย้งระหว่างนิกายศาสนาซุนนีย์-ชีอะฮ์อีกด้วย
ผลจากการที่สหรัฐฯ ใช้กำลังโค่นอำนาจฮุสเซนแห่งอิรัก ทำให้ดุลอำนาจในอ่าวเปอร์เซียที่เป็นแบบสามเหลี่ยมหมดไป เพราะอำนาจที่เคยคานกันระหว่างซาอุดีอาระเบีย อิรัก และอิหร่าน มาบัดนี้ถูกแทนที่ด้วยโครงสร้างที่เป็นการแข่งขันกันแบบสองขั้ว (Bipolar) คืออิหร่านกับซาอุดีอาระเบียโดยตรง
ขณะเดียวกัน การโค่นล้มฮุสเซนซึ่งเป็นศัตรูของอิหร่าน ทำให้อำนาจการปกครองอิรักจากที่เคยอยู่ในมือของนักชาตินิยมอาหรับก็เปลี่ยนเป็นอำนาจฝ่ายชีอะฮ์ซึ่งได้รับเลือกตั้งให้เป็นรัฐบาลใหม่ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ในอิรักกว่า 60% เป็นมุสลิมสายชีอะฮ์ ส่งผลให้อิหร่านมีเครื่องมือเชื่อมต่อความสัมพันธ์และเข้าไปมีอิทธิพลบทบาทในอิรักได้ง่าย
นอกจากอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของมุสลิมชีอะฮ์ในอิรักแล้ว บทบาทของกลุ่มฮิซบุลลอฮ์ยังปรากฏเด่นชัดขึ้นในการเมืองเลบานอนจากการช่วยเหลือของซีเรีย (ซึ่งทั้งฮิซบุลลอฮ์และซีเรียต่างเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับอิหร่าน) ทำให้อิทธิพลของอิหร่านแพร่ขยายอย่างเด่นชัดในระยะหลัง
ในทางตรงข้าม บทบาทของซาอุดีอาระเบียในการเมืองตะวันออกกลางกลับลดน้อยถอยลง ด้วยเหตุนี้สภาวะแห่งการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจทั้งสองจึงเริ่มเปิดฉากขึ้นอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันกันในสมรภูมิอิรักหลังยุคฮุสเซน หรือสงคราม 33 วันในเลบานอนระหว่างฮิซบุลลอฮ์กับอิสราเอล (2006) ตลอดจนการบุกโจมตีกาซาโดยกองกำลังอิสราเอลเป็นเวลา 22 วันในปฏิบัติการถล่มกลุ่มฮามาส (2008-2009)
ปัจจัยอีกประการที่นำไปสู่ภาวะการแข่งขันระหว่างซาอุดีอาระเบีย-อิหร่านคือความก้าวหน้าของอิหร่านในการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ ซาอุดีอาระเบียเชื่อว่าความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ทำให้อิหร่านมีสถานะที่เหนือกว่าตนในภูมิภาค ซึ่งในทางกลับกันก็สะท้อนให้เห็นถึงความล้าหลังไร้ศักยภาพของซาอุดีอาระเบียที่ไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวได้
ความไม่พอใจของซาอุดีอาระเบียในเรื่องนี้อาจดูได้จากความร่วมมือระหว่างซาอุดีอาระเบียกับสหรัฐฯ ในการที่จะหยุดยั้งทุกกิจกรรมของอิหร่านไม่ให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ได้สำเร็จอย่างเด็ดขาด
ปรากฏการณ์อาหรับสปริง
การขับเคี่ยวแข่งขันระหว่างซาอุดีอาระเบีย-อิหร่านเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกครั้ง หลังผู้นำเผด็จการในตะวันออกกลาง ไม่ว่าจะเป็นตูนิเซีย, อียิปต์, ลิเบีย และเยเมน ถูกโค่นอำนาจโดยกองทัพประชาชนที่ลุกฮือขึ้นต่อต้าน อีกทั้งกระแสการเปลี่ยนแปลงนี้ยังได้ลุกลามไปประเทศอื่นๆ ทั่วภูมิภาค รวมถึงในซาอุดีอาระเบียเองด้วย
การล้มลงของเผด็จการในหลายประเทศภายในเวลาอันรวดเร็วเป็นปรากฏการณ์ที่คล้ายกับตอนที่สหรัฐฯ บุกโค่นล้มระบอบซัดดัมในอิรักในแง่ที่ว่า เกิดการปรับดุลอำนาจครั้งใหม่ในตะวันออกกลางและเกิดสุญญากาศทางการเมืองในหลายประเทศ
สำหรับซาอุดีอาระเบีย กระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใหม่นี้ถือเป็นภัยคุกคามใหญ่ต่อราชวงศ์สะอูด เพราะเป็นกระแสที่กำลังคืบคลานเข้ามาและบ่อนเซาะการปกครองในระบอบอำนาจนิยมของซาอุดีอาระเบีย ฉะนั้นการรับมือกับกระแสที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการหาวิธีหยุดยั้งกระแสอาหรับสปริงจึงเป็นเป้าหมายหลักที่ซาอุดีอาระเบียต้องรีบดำเนินการ
แต่สำหรับอิหร่านซึ่งเป็นประเทศที่ถูกโดดเดี่ยวมานานแล้ว กระแสอาหรับสปริงถือเป็นโอกาสที่จะสร้างพันธมิตรใหม่ในประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะกับตัวแสดงใหม่ที่ขึ้นมาเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่เป็นฝ่ายนิยมแนวทางอิสลาม ขณะเดียวกันก็พยายามรักษาอำนาจของพันธมิตรอย่างซีเรียเอาไว้ ลักษณะเช่นนี้จึงเท่ากับเป็นการสร้างสมรภูมิแข่งขันระหว่างซาอุดีอาระเบีย-อิหร่านครั้งใหม่ ซึ่งทำให้อุณหภูมิการเมืองในตะวันออกกลางร้อนแรงยิ่งขึ้น
หลังปรากฏการณ์อาหรับสปริง ลักษณะ ‘สงครามเย็นใหม่’ ในตะวันออกกลางจึงเริ่มขึ้น คือการขับเคี่ยวแข่งขันระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่าน เพราะกระแสอาหรับสปริงทำให้เกิด ‘สุญญากาศทางอำนาจ’ และเกิดสภาพความอ่อนแอของรัฐต่างๆ ในภูมิภาค หลายประเทศเกิดความรุนแรงกระทั่งกลายเป็นสงครามกลางเมือง
สภาพเช่นนี้ได้เอื้อให้เกิดการช่วงชิงการขยายอิทธิพลอำนาจและการสกัดกั้นฝ่ายตรงข้ามอย่างหนักระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่าน โดยใช้ความแตกต่างระหว่างนิกายเป็นเครื่องมือจนทำให้ความขัดแย้งระหว่างซุนนีย์และชีอะฮ์กลายเป็นปัญหาใหญ่ อันเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความไร้เสถียรภาพขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลาง
นับจากนั้นมา เราจึงเห็นทั้งอิหร่านและซาอุดีอาระเบียเข้าไปมีส่วนแทรกแซงการเมืองของหลายประเทศในตะวันออกกลางเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบระหว่างกัน ทั้งสนามแข่งขันทางการเมืองในอียิปต์, อิรัก, บาห์เรน และเลบานอน ขณะเดียวกันทั้งสองประเทศก็ได้เข้าทำสงครามตัวแทน (Proxy War) ระหว่างกันอย่างจริงจังในอย่างน้อย 2 สมรภูมิคือซีเรียและเยเมน เป็นการต่อสู้ที่นับวันยิ่งรุนแรงและเข้มข้นขึ้น การก่อวินาศกรรมโจมตีคลังน้ำมัน 2 แห่งของบริษัท Saudi Aramco เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2019 เป็นกรณีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดถึงความสัมพันธ์ที่เลวร้ายลงระหว่างประเทศทั้งสอง
โดยสรุปแล้วอาจกล่าวได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอาระเบีย-อิหร่านเกิดขึ้นมานานนับตั้งแต่การก่อตั้งรัฐสมัยใหม่ในตะวันออกกลาง นับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศมีความซับซ้อนและแปรเปลี่ยนไม่คงที่ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาในตะวันออกกลาง
จากความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันในยุคการปกครองแบบราชาธิปไตยของทั้งสองประเทศ จนถึงการตัดความสัมพันธ์ระหว่างกันหลังการปฏิวัติอิหร่าน ก่อนที่จะรื้อฟื้นความสัมพันธ์กันใหม่ในช่วงทศวรรษที่ 1990 และมีการขับเคี่ยวแข่งขันกันมากขึ้นหลังยุคประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน แห่งอิรัก และปรากฏการณ์การลุกฮือของประชาชนขับไล่เผด็จการในโลกอาหรับ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘อาหรับสปริง’
สถานการณ์การโจมตีโรงงานผลิตน้ำมันของซาอุดีอาระเบียล่าสุดอาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งในความสัมพันธ์ระหว่างสองมหาอำนาจแห่งตะวันออกกลางนี้
แต่ความสัมพันธ์จะแปรเปลี่ยนไปในทิศทางใด ทั้งสองประเทศจะตัดสินใจหันไปทำสงครามกันโดยตรงหลังจากทำสงครามตัวแทนกันมาระยะหนึ่งแล้วหรือไม่ หรือสถานการณ์แวดล้อมที่เปลี่ยนไปในตะวันออกกลางหลังจากวันนี้จะนำพาให้สองประเทศต้องหันมาพูดคุยกัน เพื่อหยุดยั้งไม่ให้เกิดความหายนะขึ้นกับทั้งสองประเทศและภูมิภาคตะวันออกกลาง ตลอดจนหายนะที่จะเกิดขึ้นกับโลกโดยรวม
ที่มา: thestandard.co
- สุดยอด! IAEA ร่วมธนาคารอิสลามฯ รับมือโรคมะเร็งในผู้หญิง
- กองทุนซะกาต UNHCR ได้รับการรับรองว่าเลิศสุด
- มุสลิมอัสสัมนับแสน ระส่ำระสาย ถูกตัดสิทธิความเป็นพลเมือง
- ทรัมป์เตือนอิหร่าน 'ระวังตัวให้ดี' หลังขู่เสริมสมรรถนะยูเรเนียมเกินลิมิต
- เดือด! 'ทรัมป์'ขู่อิหร่าน เจอตอบโต้ ขั้นทำลายล้าง
- “อัลฮัมดุลิลละฮ์” คำพูดแรกจากปากนักชกมุสลิม หลังได้รับชัยชนะ (ชมคลิป)