พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยมุสลิม
พระราชกรณียกิจ ร.9 ด้านศาสนาอิสลามกับอัลกุรอานแปลไทย
พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยมุสลิม
ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงปฏิบัติภารกิจด้วยการเอาพระทัยใส่ในกิจการของศาสนา ทั้งยังทรงศึกษาหลักคำสอน หลักการปฏิบัติของทุกศาสนาเท่าที่พระองค์จะค้นคว้ามาได้
เมื่อประมาณ ปีพุทธศักราช ๒๕๐๕ ในหลวง รัชกาลที่ 9 ได้รับการทูลเกล้าฯ ถวยพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานจาก ฯพณฯ เอกอัครราชทูตซาอุดิอาระเบียประจำประเทศไทย พระองค์ทรงนำไปศึกษาโดยตลอดพระองค์ทรงคิดว่า หากมีการแปลความหมายของพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ออกมาเป็นภาษาไทยแล้ว ก็คงจะทำให้ประชากรเข้าใจความหมายที่แท้จริง และนำไปปฏิบัติอย่างถูกต้อง อันจะทำให้เกิดประโยชน์ด้านจิตใจอย่างมาก
เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ในปีเดียวกัน จุฬาราชมนตรี ต่วน สุวรรณศาสน์ ได้นำโต๊ะครูปอเนาะพร้อมด้วยนายกสมาคมอิสลามต่าง ๆ เข้าเฝ้าถวายพระพร ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงรับสั่งว่า
“คัมภีร์อัลกุรอาน ที่เป็นภาษาอังกฤษมีอยู่หลายฉบับ แต่ยังไม่มีฉบับภาษาไทยที่แปลจากต้นฉบับเดิม คือ ภาษาอาหรับ ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระประสงค์ที่จะให้จุฬาราชมนตรี ต่วน สุวรรณศาสน์จัดทำถวาย และทรงย้ำว่าต้องการให้มีความหมายจากต้นฉบับเดิม”
จุฬาราชมนตรี ได้รับสนองพระราชประสงค์ โดยเริ่มทำการแปลตั้งแต่วันที่ ๑๔ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๐๗ และทำการถอดความจากภาษาอาหรับเป็นภาษาไทยได้สำเร็จเรียบร้อย เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๐๙ โดยใช้เวลาทั้งสิ้น ๑ ปี ๗ เดือน ๘ วัน หลังจากนั้นก็ได้ใช้เวลาในการทบทวนและขัดเกลาสำนวนภาษาไทย โดยใช้ภาษาง่าย ๆ เพื่อให้คนทุกระดับได้เข้าใจ
ซึ่งเป็นการทำงานที่ยากกว่าการนำความหมายจากภาษาอาหรับมาเป็นภาษาไทย เพราะต้องระวังให้ความหมายที่ขัดเกลาเป็นที่ถูกต้องและเข้าใจดี
ในหลวง รัชกาลที่ 9 ได้ทรงตรัสถาม ถึงการทบทวนและการขัดเกลาภาษาไทย และทรงเตือนให้รีบเร่งจัดพิมพ์ความหมายออกมาเป็นรูปเล่มสู่มือประชาชนต่อไป จุฬาราชมนตรีจึงคิดว่าจะจัดพิมพ์สนองพระราชประสงค์เป็นส่วน ๆ ไป จะเป็นการดีกว่ารอพิมพ์ให้ครบทั้ง ๓๐ ส่วน เพื่อเป็นการสนองตามที่มีรับสั่งเตือนนั้น
ทั้งนี้เนื่องด้วยเหตุผลดังกล่าวแล้วการพิมพ์คัมภีร์อัลกุรอานส่วนแรกก็สำเร็จลง และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในหลวง รัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่สถาบันต่าง ๆ ในวันฉลอง ๑๔ ศตวรรษแห่งอัลกุรอานของประเทศไทย ตรงกับวันเสาร์ที่ ๑๖ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๑๑ ณ สนามกีฬากิติขจร หัวหมาก
ในหลวง รัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า
“คัมภีร์อัลกุรอาน มิใช่จะเป็นคัมภีร์สำคัญในศาสนาอิสลามเท่านั้น ยังเป็นวรรณกรรมสำคัญของโลกเล่มหนึ่ง ซึ่งมหาชนรู้จักยกย่องและได้แปลออกเป็นภาษาไทยครั้งนี้ เป็นการสมควรชอบด้วยเหตุผลอย่างแท้จริง เพราะจะเป็นการช่วยให้อิสลามบริษัทในประเทศไทยที่ไม่รู้ภาอาหรับ ได้ศึกษาเล่าเรียนธรรมะ ในด้านศาสนาอย่างสะดวกและแพร่หลาย
ทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปที่สนใจศึกษาในหลักคำสอนศาสนาอิสลามอย่างถูกต้อง เป็นที่ทราบกันอย่างกว้างขวางว่าคัมภีร์อัลกุรอานมีอรรถรสลึกซึ้ง ยากที่จะแปลออกเป็นภาษาอื่นใดให้ตรงตามภาษาเดิมได้ เมื่อท่านมีศรัทธาและวิริยะอุตสาหะอันแรงกล้าแปลออกเป็นภาษาไทย
โดยพยายามรักษาใจความแห่งพระคัมภีร์เดิมไว้ให้บริสุทธิ์ และพิมพ์ขึ้นให้แพร่หลายเช่นนี้ จึงเป็นที่ควรอนุโมทนาสรรเสริญและร่วมมือสนับสนุนอย่างยิ่ง”
หลังจากได้มีพระราชดำรัสแล้ว ในหลวง รัชกาลที่ 9 พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นทุนในการดำเนินงานต่อไป ทำให้ทุกคนที่เฝ้าอยู่ในงานนั้นมีความซาบซึ้งตื้นตันใจในน้ำพระทัยของพระองค์
ขณะที่จุฬาราชมนตรีเดินออกไปรับเงินพระราชทานนั้น ดวงตาทุกคู่จ้องมองตามไปที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงยื่นพระหัตถ์ส่งเงินให้ท่านจุฬาราชมนตรีด้วยความตื้นตันใจ นับเป็นประวัติศาสตร์อีตอนหนึ่งต้องจารึกไว้
ปีพุทธศักราช ๒๕๒๔ การดำเนินการจัดพิมพ์พระมหาคัมภีร์อัลกุรอานได้เสร็จสิ้นลงด้วยความเรียบร้อย ก่อนที่จุฬาราชมนตรีจะถึงอสัญกรรม ได้นำส่วนสุดท้ายทูลเกล้าฯ ถวายในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงรับสั่งถามถึงการดำเนินงานในขั้นสุดท้ายทรงกล่าวประทานเกียรติแก่จุฬาราชมนตรีว่า
“ขอชมเชยในการที่จุฬาราชมนตรีได้มีความอุตสาหะจัดแปลพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานสำเร็จด้วยความเรียบร้อย นับว่าเป็นเกียรติประวัติอย่างสูงและจะได้เป็นประโยชน์แก่ผู้ประพฤติและปฏิบัติตาม”
พระมหาคัมภีร์อัลกุรอานฉบับภาษาไทย ซึ่งเป็นพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 ได้รับความสนใจจากผู้ที่สนใจในการศึกษามา ทั้งที่เป็นมุสลิมและต่างศาสนิก หลังจากพิมพ์เล่มที่พระราชทานแก่มัสยิดทุกแห่งแล้ว ก็ได้จัดพิมพ์เผยแพร่ในวงการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยห้องสมุด และแก่ผู้สนใจที่จะซื้อหาไว้ใช้ส่วนตัวอีกด้วย
- พระราชกรณียกิจ ในหลวงร.9 ด้านการส่งเสริมการศึกษาของชาวไทยมุสลิม
- พระราชกรณียกิจ ในหลวงร.9 ด้านการส่งเสริมการบริหารกิจการศาสนาอิสลามฯ
- พระราชกรณียกิจ ในหลวงร.9 ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวไทยมุสลิม
- ในหลวง ร.9 กับเรื่องราวการแปลอัลกุรอานเป็นไทย
- 'ในหลวง ร.10' สานต่อพระราชดำริ 'เสด็จพ่อ' แปลคัมภีร์อัลกุรอาน ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ชาวมุสลิมไม่เคยลืมเลือน
- กีตอกาเซะรายอกีตอ เรารักในหลวงของเรา รอยพระบาทยาตราชายแดนใต้
ที่มา :
- ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สถาบันพระมหากษัตริย์กับมุสลิมในแผ่นดินไทย
- กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม.พระบรมราชูปถัมภ์กิจการศาสนาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว