ประกาศจุฬาราชมนตรี เรื่อง ขอชี้แจงเรื่องการขาดละหมาดวันศุกร์ (ญุมอะฮ์) เกินกว่า 3 ครั้ง
งดละหมาดวันศุกร์ เกิน 3 ครั้งได้ คำชี้ขาด สำนักจุฬาราชมนตรี
- สำนักจุฬาราชมนตรี แถลงการณ์ ขอมุสลิมเคร่งครัด เชื้อไวรัสโคโรน่า 2019
- จุฬาราชมนตรี ประกาศป้องกันโควิด 2019 (ฉ.2/2563)
- ประกาศจุฬาราชมนตรี งดละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิด (ฉ.3/2563)
ประกาศจุฬาราชมนตรี เรื่อง ขอชี้แจงเรื่องการขาดละหมาดวันศุกร์ (ญุมอะฮ์) เกินกว่า 3 ครั้ง
ตามที่ได้มีประกาศจุฬาราชมนตรีให้ชาวไทยมุสลิมทั่วราชอาณาจักรงดการละหมาดญะมาอะห์และการละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิดและหรือสถานที่ซึ่งมีการจัดละหมาดทั้งสองในชุมชน โดยให้ละหมาดที่บ้านและละหมาดดุฮ์ริ 4 รอกาอัต แทนการละหมาดวันศุกร์นั้น ทั้งนี้ นับตั้งแต่การออกคำประกาศเป็นต้นมาจนกว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จะเข้าสู่สภาวะอันเป็นปกติหรือมีคำประกาศเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ความเป็นที่ทราบโดยทั่วกันแล้วนั้น
บัดนี้มีพี่น้องมุสลิมไทยบางส่วนเกิดความกังวลเกี่ยวกับกรณีการขาดละหมาดวันศุกร์ติดต่อกัน 3 ครั้ง เกรงว่าจะตกเป็นผู้ประพฤติบาปใหญ่และถูกบันทึกว่าเป็นชนผู้กลับกลอก (มุนาฟิก) ตามที่มีตัวบทหลักฐานทางศาสนาระบุไว้ สำนักจุฬาราชมนตรีจึงขอชี้แจงให้เป็นที่ทราบโดยทั่วกัน ดังนี้
1. การละหมาดวันศุกร์ในภาวะปกติ เป็นศาสนกิจจำเป็น (ฟัรฎูอัยน์) สำหรับบุคคลที่เข้าเกณฑ์บังคับตามบัญญัติของศาสนา (มุกัลลัฟ) ซึ่งมิใช่กลุ่มบุคคลที่มีอุปสรรคและความขัดข้อง (อัศหาบุล อะอฺซารฺ) อันเป็นเหตุให้ได้รับการยกเว้นหรืออนุโลมไม่ต้องละหมาดวันศุกร์
(กิตาบอัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ; อัน-นะวาวีย์ 4/317, หาชิยะห์ อัชชัยค์ อิบรอฮีม อัล-บัยญูรีย์ 1/406)
2. การละหมาดญะมาอะห์และการละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิดในภาวะไม่ปกติ ซึ่งมีอุปสรรคและความขัดข้อง (อัล-อะอฺซารฺ) เกิดขึ้นในหมู่สัปปุรุษ เช่น ความหวาดกลัวหรือความเจ็บป่วย เป็นต้น ย่อมเป็นเหตุให้งดการละหมาดญะมาอะห์และการละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิดได้ นักปราชญ์ในมัซฮับอัชชาฟิอีย์ ระบุว่า :
" ... كُلُّ ﻋُﺬْرٍ سَقَطَتْ بِهِ الْجَمَاعَةُ فِيْ غَيْرِ الْجُمُعَةِ سَقَطَتْ بِهِ اْلجُمُعَةُ"
“ทุกอุปสรรคความขัดข้องที่การละหมาดญะมาอะห์ (ในกรณีอื่นจากการละหมาดวันศุกร์) ตกไปด้วยข้ออุปสรรคขัดข้องนั้น การละหมาดวันศุกร์ย่อมตกไปด้วยข้ออุปสรรคขัดข้องนั้น”
(กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ; อัน-นะวาวีย์ 4/323)
เป็นที่ทราบกันว่า ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้ลุกลามไปทั่วประเทศแล้ว สถานการณ์มีความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมิใช่น้อย นักปราชญ์ในกลุ่มประเทศมุสลิมต่างก็มีคำวินิจฉัย (ฟัตวา) สอดคล้องกันว่า ให้มุสลิมกักตัวอยู่ในเคหะสถานและงดการละหมาดญะมาอะห์และละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิด ในยามนี้จึงไม่มีข้ออุปสรรคขัดข้องใด ๆ ตามบัญญัติของศาสนาที่ชัดเจน และส่งผลกระทบรุนแรงต่อชีวิตของผู้คนมากไปกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
จึงขอให้พี่น้องมุสลิมในประเทศไทยมีความเคร่งครัดในการปฏิบัติตามคำประกาศจุฬาราชมนตรี และปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ ที่ออกประกาศโดยหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องด้วยความเคร่งครัดและพร้อมเพรียงกัน
3. กรณีการขาดละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิดติดต่อกัน 3 ครั้งนั้น มีตัวบทหลักฐาน ระบุไว้ดังนี้
3.1 "مَنْ تَرَكَ ثَلاَثَ جُمَعٍ تَهَاوُنًا بِهَا طَبَعَ الله عَلَى قَلْبِه"
ความว่า : “ผู้ใดละทิ้ง 3 (การละหมาด) วันศุกร์อันเนื่องจากการดูแคลน (อิฮานะห์) ต่อการละหมาดวันศุกร์ เอกองค์อัลลอฮฺทรงผนึกเหนือหัวใจของผู้นั้นแล้ว”
(บันทึกโดย อะห์มัด ๓/๔๒๔, อบูดาวูด ๑/๑๐๕๒, อัตติรฺมิซีย์ ๒/๕๐๐, อิบนุ มาญะห์ ๑/๑๑๒๕, อัล-หากิม ๑/๒๘๐ จากท่านอบี อัล-ญะอฺด์ (ร.ฎ.) เป็นหะดีษหะซัน เศาะหฮีห์)
พระวจนะบทนี้ระบุถึง เหตุแห่งการละทิ้งละหมาดวันศุกร์ 3 ครั้ง เนื่องจากการดูแคลน (อิฮานะห์) และการไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการละหมาดวันศุกร์ซึ่งส่งผลให้หัวใจถูกปิดผนึก การประกาศให้งดการละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิด ซึ่งอาจจะมากเกินกว่า 3 ครั้ง เป็นผลมาจากเกิดอุปสรรคข้อขัดข้อง (อุซร์) ที่ศาสนามีบัญญัติอนุโลม หรือยกเว้นไว้ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น มิได้เกิดจากการดูแคลนและการกระทำที่เบาความต่อสถานะอันสูงส่งและความประเสริฐของการละหมาดวันศุกร์ การงดละหมาดวันศุกร์ซึ่งอาจจะมีมากกว่า 3 ครั้งในสถานการณ์ขั้นรุนแรงของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จึงเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้และไม่มีโทษตามที่พระวจนะบทนี้ระบุไว้
3.2 "مَنْ تَرَكَ الْجُمُعَةَ ثَلاَثًا مِنْ غَيْرِ ﻋُﺬرٍ فَهُوَ مُنَافِقٌ"
ความว่า : “ผู้ใดละทิ้งการละหมาดวันศุกร์ 3 ครั้งอันเนื่องมาจากไม่มีอุปสรรคข้อขัดข้องใด ๆ ผู้นั้นก็คือผู้ที่กลับกลอก”
(คัดสายรายงานโดย อิบนุคุซัยมะห์ 3/1857, อิบนุ หิบบาน 1/258 จากท่านอบี อัล-ญะอฺด์ (ร.ฎ.) มีสายรายงานหะซัน เศาะฮีห์)
พระวจนะบทนี้ระบุชัดเจนว่า บุคคลจะเป็นผู้กลับกลอก (มุนาฟิก อะมะลีย์) ด้วยการละทิ้งการละหมาดวันศุกร์โดยไม่มีอุปสรรคขัดข้องมารองรับ แต่ในกรณีสถานการณ์ปัจจุบันมีอุปสรรคขัดข้องที่จำต้องงดการละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิด จึงไม่เข้าข่ายอยู่ภายใต้ความของพระวจนะบทนี้
3.3 "مَنْ تَرَكَ الْجُمُعَةَ مِنْ غَيْرِ ضَرُوْرَةٍ طَبَعَ اللهُ عَلَى قَلْبِهِ وَجَعَلَ قَلْبَهُ قَلْبَ مُنَافِقٍ" وفي رواية "كُتِبَ مِنَ اْلمنُاَفِقِيْنَ"
ความว่า: “ผู้ใดละทิ้งการละหมาดวันศุกร์ 3 ครั้งโดยไม่มีความจำเป็น (ในขั้นอุกฤษฏ์) เอกองค์อัลลอฮฺทรงปิดผนึกเหนือหัวใจของผู้นั้นแล้ว และทรงบันดาลให้หัวใจของ
ผู้นั้นเป็นหัวใจของผู้กลับกลอก” และในกระแสรายงานหนึ่งระบุว่า “ผู้นั้นได้ถูกบันทึกว่าเป็นส่วนหนึ่งจากบรรดาผู้กลับกลอก”
(บันทึกโดยอะห์มัดด้วยสายรายงานที่หะซัน, อิบนุมาญะห์ ด้วยสายรายงานญัยญิด, อัล-หากิม 1/292 เป็นหะดีษหะซัน เศาะฮีห์, ดู อัซ-ซะวาญิรฺ อะนิกติรอฟิลกะบาอิรฺ : อิบนุหะญัร อัล-ฮัยตะมีย์ 1/285)
พระวจนะบทนี้ระบุชัดว่า ผู้ที่เอกองค์อัลลอฮฺจะทรงปิดผนึกหัวใจและบันดาลให้หัวใจของผู้นั้นเป็นหัวใจของผู้กลับกลอก ตลอดจนผู้นั้นถูกบันทึกอยู่ในกลุ่มชนผู้กลับกลอกเมื่อบุคคลนั้นมีเจตนาละทิ้งการละหมาด 3 ครั้งติดต่อกัน (ดู ฟัยฎุลเกาะดีรฺ; อัล-มุนาวีย์ 6/103 คำอธิบายหะดีษเลขที่ 8590)
โดยไม่มีความจำเป็นในขั้นอุกฤษฏ์ (เฎาะรูเราะฮฺ) แต่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 0192(COVID-19) ขณะนี้เข้าขั้นวิกฤติแล้ว การงดละหมาดญะมาอะห์และละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิดกลายเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งยวด เพื่อมิให้เกิดการรวมตัวกันของสัปปุรุษ และการกักตัวอยู่บ้านในยามนี้เป็นมาตรการหนึ่งในการลดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
สำนักจุฬาราชมนตรีจึงขอชี้แจงให้พี่น้องมุสลิมไทยทั่วประเทศได้รับทราบและเกิดความวางใจโดยทั่วกันว่า
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งยังคงวิกฤติอยู่ในขณะนี้มีความจำเป็นที่จำต้องคงคำประกาศงดการละหมาดญะมาอะห์และการละหมาดวันศุกร์ เอาไว้ดังเดิม และได้โปรดวางใจพร้อมมีความเข้าใจอย่างถูกต้องว่า การขาดละหมาดวันศุกร์ 3 ครั้งหรือมากกว่าในสถานการณ์อันเป็นภัยบะลาอ์นี้ไม่มีผลทำให้เกิดโทษและบาปใด ๆ ตามหลักบัญญัติของศาสนา และขอให้เคร่งครัดตามคำประกาศที่รับทราบ โดยทำการละหมาดที่บ้านทั้งละหมาดฟัรฎูและสุนัต และร่วมขอดุอาอ์จากเอกองค์อัลลอฮ์ได้ทรงบันดาลให้ภัยบะลาอ์นี้สิ้นสุดลงในเร็ววัน เพื่อที่เราทั้งหลายจะได้ประกอบ
คุณงามความดีในเดือนรอมฎอนที่จะมาถึงด้วยความปลอดภัย
จึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน
ประกาศ ณ วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2563
นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี