คำถาม ทำไมปิดมัสยิด แต่เปิดตลาด? เมื่อไม่ใช่ผู้รู้ ต้องฟังผู้รู้ อ่านให้จบ
เลิกเอามัสยิดไปเทียบกับตลาดสักทีเถอะ!
คำถาม ทำไมปิดมัสยิด แต่เปิดตลาด?
เมื่อไม่ใช่ผู้รู้ ต้องฟังผู้รู้ อ่านให้จบ
คนความรู้น้อยบางจำพวก ชอบตั้งแง่รั้น สงสัยในสิ่งที่ผู้นำอุลามาอฺ ออกฟัตวา(ชี้ขาด) เรื่องที่ศาสนาอนุญาต แม้แต่การละหมาดที่มัสยิดทั้งญามาอะห์(เป็นกลุ่ม)และวันศุกร์ ซึ่งศาสนามีข้อผ่อนปรน ผ่อนผัน เมื่อเกิดวิกฤตและเหตุการณ์ต่างๆ
ซึ่งในสมัยท่านนบีมุฮัมมัด และบรรดาศอฮาบะห์สหายของท่านเคยเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้นแล้ว เช่น ฝนตกหนัก น้ำท่วม โรคระบาด และอากาศหนาวเหน็บ ซึ่งบรรดาอุามาอฺก็นำเหตุและผล จากอัลกุรอานและฮะดิษ มาเปรียบเทียบวินิจฉัยกับเหตุการณ์ รวมทั้งข้อกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ โดยเรื่องการปฎิบัติตัวในภาวะการระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 บรรดาอุลามาอฺทั้งหมดเห็นพ้องต้องกันทุกมัสฮับ(สำนักคิดนิติศาสตร์อิสลาม)
อุลามาอฺเหล่านี้ ไม่ได้คิดเองเออเอง โดยศาสตร์ในอิสลามครอบคลุมทุกอิริยาบถของเราทุกรูปแบบ อย่าลืมว่า บรรดาผู้รู้หรืออุลามาอฺ คือ ทายาทของท่านนบี
มีฮะดิษ จากท่านนบี ศ็อลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า :
แท้จริงอุลามาอฺ คือ ผู้สืบทอดมรดกของบรรดานบี
"ซึ่งที่จริงแล้วพวกเขาไม่ทอดทิ้งสิ่งใดเลย (ให้คนที่มีชีวิตต่อจากเขา) แม้จะเป็นเงินซักดีนาร์หรือเงินดิรฮัมเดียว แต่สิ่งที่พวกเขาได้ทิ้งไว้ คือ ความรู้ ดังนั้นใครก็ตามที่เขาได้รับเอาไปก็เท่ากับว่าเขาได้รับโชคลาภอันล้ำค่าที่สุด" (บันทึกโดยอิหม่ามบุคอรีย์)
การเปรียบเทียบมัสยิดกับตลาด เป็นการเทียบที่ไม่ถูกต้อง และเป็นการเขลาในความรู้เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากมัสยิดเป็นสถานที่มีเกียรติ มีความประเสริฐ จะนำไปเทียบกับตลาด ซึ่งเป็นแหล่งการขายอาหารไม่ได้ เราปฎิเสธไม่ได้ว่า การกินการดื่มต้องอาศัยปัจจัยยังชีพ อาหารเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับมนุษย์ มนุษย์ไม่ใช่มลาอิกะห์ ที่ถูกสร้างมาโดยไม่กินไม่ดื่ม ไม่มีใครปฎิเสธสิ่งเหล่านี้ หรือใครที่อยู่ทุกวันนี้โดยไม่กินอาหาร?
ซาอุดิอารเบีย อียิปต์ จอร์แดน มาเลย์ สิงคโปร์ และอีกหลายประเทศที่สั่งเคอร์ฟิว ล็อกดาวส์ มีการปิดมัสยิด แต่อนุโลมเป็นบางเวลาให้มีการซื้อขายในตลาด เพื่อให้ประชาชนประทังชีวิต ถ้าปิดตลาดแล้วจะกินอะไร? เพราะการแจกจ่ายไม่ทั่วถึงแน่นอน
อำนาจการจัดการตลาดในพื้นที่ตอนนี้ ก็เป็นหน้าที่การปกครอง ผู้ว่า เทศบาล หรืออบต. ในพื้นที่ที่ต้องจัดระเบียบดูแล ป้องกันโรคระบาด ไม่ใช่หน้าที่ของจุฬาราชมนตรีที่มีหน้าที่ประกาศเรื่องศาสนา ต้องแยกแยะ ลองคิดภาพว่า หากให้อิหม่าม หรือโต๊ะเซียะห์ไปเดินห้ามตามตลาด หรือเดินห้ามตามธนาคาร หรือไปเดินห้ามตามที่สาธารณะ มันใช่หน้าที่พวกเขาหรือไม่ ในเมื่อมีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว
ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศมุสลิม จุฬาฯไม่มีอำนาจไปสั่งผู้ว่า ให้ปิดตลาด ปิดธนาคาร ปิดอำเภอ ปิดจังหวัดได้ ซึ่งมีอำนาจและเป็นเรื่องของส่วนราชการอื่นๆ แต่สิ่งที่จุฬาฯทำได้คือ ประกาศแนวทางข้อผ่อนปรนตามหลักศาสนา ให้พี่น้องชาวไทยมุสลิมป้องกันโรคดังกล่าวตามที่ท่านได้วินิจฉัยกับบรรดาอุลามาอฺแล้ว
อิสลามถือว่า ชีวิตที่อัลลอฮ์ทรงสร้างนั้นสำคัญที่สุด อิสลามเป็นทางสายกลาง ไม่ตึงและหย่อนเกินไป ทุกอย่างหากเกิดวิกฤตคือ ศาสนามีข้อผ่อนปรน อย่าเอาบริบทปกติมาใช้กับเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ การรวมตัวในสถานที่เดียวกันในเวลานานๆ ซึ่งไม่ใช่การเคลื่อนไหวหรือทิ้งระยะห่างในการพูดคุย หรือยืน ถือเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งในสถานการณ์เช่นนี้
ล่าสุด มีการประกาศตามหาผู้ละหมาดที่มัสยิดแห่งหนึ่งแล้ว ในจังหวัดทางภาคใต้ มีการแอบละหมาดกัน ซึ่งมีผู้ติดเชื้อไปละหมาดและอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวด้วย ใครรับผิดชอบ?
อีกทั้งหากเกิดการระบาดขึ้นอีกในมัสยิด มุสลิมจะตกเป็นข้อครหาต่อสังคมว่า เห็นแก่ตัว สร้างปัญหาในสังคม และไม่แคร์ต่อส่วนรวมทำให้ภาพลักษณ์ดูแย่ลง
ทั้งๆ ที่อิสลามมาเพื่อมนุษยชาติทุกคน ไม่ใช่แค่เฉพาะมุสลิม อิสลามสอนให้มีการป้องกันเหตุ ก่อนมาแก้ไข เรื่องดังกล่าวมีคำสอนมานับ 1400 ปี อย่าให้พวกเขามองเราเป็นตัวประหลาด หรือตัวแปลกแยกในสังคม ปฎิบัติตามผู้นำตามผู้รู้..จบ อย่าทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก
หากท่านคิดว่าทำดี แต่กลับกัน สิ่งนั้นสร้างความเดือดร้อนตามมา ความหวังในผลบุญของท่านจะกลายเป็นบาปแทน
1. บาปในการไม่เชื่อฟังผู้นำ
2. บาปที่สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น
3. บาปที่ทำร้ายตัวเอง ฯลฯ
หมดโควิด-19 เมื่อไหร่จะละหมาดฟัรดู ซุนนะห์ ทั้งคืนก็ไม่มีใครห้ามท่าน
ไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่สั่งห้ามละหมาดที่มัสยิด
หลายประเทศมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม ได้มีการสั่งปิดมัสยิด และศาสนสถานของศาสนาอื่นๆ มา 1 เดือนแล้ว บางที่มากกว่า 2 เดือน ตามการระบาดของโรคโควิด-19ในแต่ละพื้นที่ โดยประชาชนในประเทศเขาเข้าใจต่อปัญหา และไม่ได้ออกมาตั้งข้อสงสัยหรือใคร่จะไปมัสยิดให้ได้ในสถานการณ์เช่นนี้
หากท่านไม่สามารถละหมาดที่มัสยิด ท่านละหมาดที่บ้านได้ แต่ถ้าหากท่านไม่มีอาหารประทังชีวิต ท่านก็ไม่มีความสามารถหาริสกี ไม่มีแรงปฎิบัติศาสนกิจและทำอิบาดะห์ได้เต็มที่เช่นเดียวกัน
อีกประเด็น: มัสยิดปิดแล้วทำไม่ตลาดถึงเปิด ตลาดเสี่ยงกว่าเยอะ
ขอตอบเลยว่า ทั้งตลาดทั้งมัสยิดเป็นพื้นที่เสี่ยงพอๆ กัน ที่จริงต้องปิดไปทั้ง 2 สถานที่ แต่ตลาดมันปิดไม่ได้ เพราะจะมีผลกระทบในเรื่องการกระจายสินค้า ปิด1 เดือนจะมีคนขาดแคลนอาหารอย่างแน่นอน อีกอย่าง คือ ถ้าปิดตลาดสดจริงๆ คนจะไม่ไปตลาดแต่จะไปซื้อที่อื่นแทนสุดท้ายสถานที่นั้นคนก็เยอะเหมือนเดิมไม่ต่างจากตลาดสดที่มีอยู่เดิม
อีกปัจจัยหนึ่งอีกปัจจัยหนึ่ง คือ จะมีผลกระทบในด้านอุปทาน คือ สมมุติปิดตลาด1 เดือน คนที่ปลูกผักผลไม้จะขายไม่ได้ และจะเน่าเสียในที่สุด ประมงจะออกหาปลาไม่ได้ เพราะไม่รู้จะขายใคร ร้านอาหารต่างๆ จะขายของไม่ได้ เพราะไม่มีวัถุดิบ ประชาชนได้ล่มละลายแน่ ๆ โดยเฉพาะภาคเกรษตร ภาคประมง ภาคธุรกิจอาหาร ขาดทุนกันย่อยยับแน่ ซึ่งสามกลุ่มนี้เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศด้วย
ถ้ารัฐปิดตลาด หลังโควิค19 ประเทศไทยได้ล่มจมทางเศรษฐกิจแน่นอนจะเหมือนประเทศเวเนซุเอลา
ดังนั้นขอสรุปสั้นเลยว่า มัสยิดควรปิดในสถานะการณ์แบบนี้ ส่วนตลาดปิดไม่ได้แต่ภาครัฐควรมีมาตรการที่ดีในการจัดการตลาดต่างๆ เท่าที่เห็นปัจจุบันมีการจัดการที่ดีพอสมควรแล้ว
ที่มา: รู้จักมุสลิมรู้จักอิสลาม , Anak kampong
- บันทึกประวัติศาสตร์ เสียงอะซานครั้งแรกในรัฐมินเนโซต้า สหรัฐอเมริกา
- ให้อดทน! จุฬาฯตอบมุสลิมชายแดนใต้ ขอผ่อนปรนละหมาดวันศุกร์
- บันนังสตา เด็กหญิง 7ขวบ หายป่วยโควิดแล้ว!
- ผู้นำศาสนามาเลเซีย เผยยังไม่มีข่าวเปิดมัสยิดศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 2 แห่ง
- ประกาศ! ผ่อนปรนให้ละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิด ต้องได้รับอนุญาตผวจ. (อ่านให้เข้าใจ)
- เมื่อส.ส.อังกฤษ ทดลองถือศีลอด 1 สัปดาห์ เขารู้สึกเช่นไร?
- คุณทวดมุสลิมวัย 100 ปีเดิน 100 รอบช่วยผู้ลี้ภัยในเดือนรอมฎอน
- พ่อของฉันตกงานในเดือนรอมฎอน