นอกจากกรุงศรีอยุธยาแล้ว มุสลิมยังตั้งถิ่นฐานอยู่ตามเมืองที่มีความสำคัญบนเส้นทางการค้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเมืองที่อยู่ชายฝั่งทะเลหรืออยู่ในเขตวงราชธานีอีกด้วย
ศาสนาอิสลามในสมัยกรุงศรีอยุธยา
ประชาคมมุสลิมตามหัวเมืองบนเส้นทางการค้านอกกรุงศรีอยุธยา
บทความโดย: อ.อาลี เสือสมิง
นอกจากกรุงศรีอยุธยาแล้ว มุสลิมยังตั้งถิ่นฐานอยู่ตามเมืองที่มีความสำคัญบนเส้นทางการค้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเมืองที่อยู่ชายฝั่งทะเลหรืออยู่ในเขตวงราชธานีอีกด้วย จากเอกสารของชาวตะวันตกในพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ระบุว่า
มุสลิมเข้ามาตั้งถิ่นฐานค้าขายอยู่ในเมืองท่าทวายมะริด และตะนาวศรี จดหมายรายงานการค้าของยอร์ช ไวต์ (George White) ชาวอังกฤษที่เข้ามาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ กล่าวถึงการตั้งถิ่นฐานของมุสลิมในเมืองมะริดและตะนาวศรี ว่า มีพลเมืองมุสลิมอยู่มากเกือบเท่าพลเมืองเดิม อันเนื่องมาจากการส่งเสริมของออกพระศรีเนาวรัตน์ ขุนนางแขกในราชสำนักสยาม (ประชุมพงศาวดารฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๕ (กรุงเทพฯ, สำนักพิมพ์ก้าวหน้า ๒๕๐๗) หน้า ๕๐๕)
เกี่ยวกับขุนนางมุสลิมผู้นี้ เอกสารของพวกฝรั่งมีชื่อปรากฏว่า ออกพระ Sinaret หรือ Synorat อยู่บ่อยครั้ง คำนี้อาจจะเป็น “ศรีเนาวรัตน์” หรือไม่ก็ตรงกับ “พระศรีเนาวรัชโชติธิบดินทรธรรมธา” (ลางทีจะเป็น “ธร”) ตำแหน่งเศรษฐีซ้าย ถือศักดินา ๓๐๐ (เรื่องกฎหมายตราสามดวงระบุว่า ออกพระศรีมโนราชภักดีศรีปลัยวัลนา ถือศักดินา ๑๐๐๐ มีตำแหน่งขันทีคู่กับหลวงราชาชานภักดี ถือศักดินา ๕๐๐)
ออกพระศรีมโนราชผู้นี้เป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระนารายณ์เป็นอันมากมาตั้งแต่ครั้งยังเป็นพ่อค้า (ประชุมพงศาวดาร เล่มที่ ๕ ภาค ๑๒-๑๙ (พระนคร, สำนักพิมพ์ก้าวหน้า ๒๕๐๗ หน้า ๔๙๘) และทรงชุบเลี้ยงจนกระทั่งแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาราชการส่วนพระองค์ ซึ่งเข้าใจว่า จะมีบทบาทในการสนับสนุนให้ชาวมุสลิมอื่นๆ ได้เข้ารับราชการด้วย เพราะ “…การค้าทางอ่าวเบงกอลมีพวกแขกมัวร์และแขกเปอร์เซียน ทำการค้าโดยทั่วไปแข่งขันกับพวกฝรั่ง เจ้าเมืองตะนาวศรี และเมืองมะริดตลอดจนหัวเมืองที่เป็นทางผ่านไปยังกรุงศรีอยุธยา เช่น เมืองกุย เมืองปราณ และเมืองเพชรบุรี เคยใช้แขกเปอร์เซียนเป็นเจ้าเมือง นายเรือของพระเจ้าแผ่นดินสยามที่เดินเรือค้าขายติดต่อระหว่างเมืองตะนาวศรีกับเมืองทางอ่าวเบงกอล ตลอดจนนายห้างตามเมืองชายทะเลเหล่านั้นก็ใช้แขกเปอร์เซียนเหมือนกัน
กรณีเป็นดังนี้ก็เพราะ ออกพระศรีมโนราช ซึ่งเป็นแขกที่นับถือศาสนามะหะหมัด ไปเป็นที่ปรึกษาราชการของพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยาม จึงได้อุดหนุนพวกเดียวกัน…” (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑๒ หน้า ๕๐๔-๕๐๕) คณะทูตที่กษัตริย์เปอร์เซียส่งมาตอบแทนคณะทูตไทย ได้เดินทางมาขึ้นบกที่เมืองมะริดแล้วเดินทางเข้ากรุงศรีอยุธยา โดยทางบก ได้บันทึกขณะเดินทางตอนหนึ่งกล่าวว่า
“…จนกระทั่งถึงเมืองเพชรบุรีก็มีข้าหลวง ชื่อ สัยยิด มาซันดะรานี..ถึงเมืองซูฮาน (Suhan = สุพรรณบุรี) เป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำที่อุดมสมบูรณ์มาก ข้าหลวงชื่อ เจะละบี (เชลละบีย์) ออกมาต้อนรับ เขาเป็นชาวกรีกที่เปลี่ยนมาถือศาสนาอิสลามแบบชีอะฮฺ…” (ดิเรก กุลสิริสวัสดิ์, อ้างแล้ว หน้า ๑๒๔) เจ้าเมืองบางกอก ก็มีเอกสารระบุว่า เป็นเติร์กมุสลิม (ตาชาร์ด กีย์, จดหมายเหตุการณ์เดินทางสู่ประเทศสยาม, แปลโดย สันต์ ท.โกมลบุตร. กรุงเทพฯ : เกษมบรรณกิจ (๒๕๑๙) หน้า ๑๐)
ลพบุรีเป็นอีกเมืองหนึ่งที่มีชุมชนมุสลิมอาศัยอยู่ โดยน่าจะมีการตั้งประชาคมในช่วงที่ลพบุรีเป็นราชสำนักอีกแห่งหนึ่ง ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ปรากฏหลักฐานใน “สำเภากษัตริย์สุลัยมาน” กล่าวว่า
ระหว่างที่คณะทูตอิหร่านพักอยู่ที่เมืองลพบุรี พวกเขาได้ร่วมในพิธี ตะซียัต (Taziyat) ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงการสิ้นชีวิตของอิหม่ามฮุเซ็น อันเป็นพิธีสำคัญของมุสลิมนิกายชีอะฮฺ นอกจากนี้พวกเขายังได้ยินเสียง “อะซาน” ซึ่งแสดงว่ามีการทำนมาซหรือการประกอบศาสนกิจประจำวันของมุสลิมในลพบุรี (Ibid, p. ๗๘) ยืนยันว่าในลพบุรีมีชุมชนมุสลิมตั้งอยู่ เนื่องจากมีสุเหร่าสำหรับใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา (ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ อ้างแล้ว หน้า ๑๐)
เมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นเมืองใหญ่และมีอำนาจทางการเมืองในแหลมมลายูตอนบน เคยปกครองเมืองเป็นทำนอง ๑๒ นักษัตร โดยใช้สัตว์ประจำปีเป็นตราของเมืองขึ้น ดังนี้ คือ
เมืองสายบุรี ใช้ตราหนู (ชวด) เมืองปัตตานี ใช้ตราวัว (ฉลู) เมืองกลันตัน ใช้ตราเสือ (ขาล) เมืองปะหัง ใช้ตรากระต่าย (เถาะ) เมืองไทรบุรี ใช้ตรางูใหญ่ (มะโรง) เมืองพัทลุง ใช้ตรางูเล็ก (มะเส็ง) เมืองตรัง ใช้ตราม้า (มะเมีย) เมืองชุมพร ใช้ตราแพะ (มะแม) เมืองบันทายสมอ ใช้ตราลิง (วอก) เมืองสงขลา (สะอุเลา) ใช้ตราไก่ (ระกา) เมืองตะกั่วป่า (ถลาง) ใช้ตราหมาย (จอ) เมืองกระ (บุรี) ใช้ตราหมู (กุน..) (ประวัติเมืองนครศรีธรรมราช, คณะศิษย์สมเด็จพระพุฒาจารย์, พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในคราวฉลองสมณศักดิ์พระครูใบฎีกาเจริญสุข (พระนคร ๒๕๐๒) หน้า ๒๔)
มีหลักฐานว่า มีมุสลิมเข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช ตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว (คึกฤทธิ์ ปราโมช, บันทึกปาฐกถาของคึกฤทธิ์ปราโมช (พระนคร : คลังวิทยา, ๒๕๐๓) หน้า ๙๘) ส่วนเมืองขึ้นอื่น ๆ ของนครศรีธรรมราชนั้น มีหลักฐานปรากฏชัดว่า ศาสนาอิสลามได้เข้ามาตั้งมั่นอยู่ในหัวเมืองเหล่านั้น นับแต่ต้นกรุงศรีอยุธยาหรือก่อนหน้านั้นเป็นเวลานานแล้ว อาทิเช่น เมืองสายบุรี เมืองปัตตานี เมืองกลันตัน เมืองปะหัง เมืองไทรบุรี เป็นต้น
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จเยี่ยมสุสานสุลต่าน สุลัยมาน ชาฮฺ โดยมี ฯพณฯ จุฬาราชมนตรี นายอาศิส พิทักษ์คุมพล รับเสด็จ (ขณะดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการอิสลาม ประจำจังหวัดสงขลา)
สำหรับเมืองสงขลา ซึ่งจดหมายเหตุชาวอังกฤษเรียกว่า “ชิงโกร่า” มีพ่อค้าชาวมุสลิมเข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่แต่เดิมแล้ว ในปลายสมัยรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ ประมาณปี พ.ศ.๒๑๔๕ ลงมา มีชาวมุสลิมเชื้อสายมลายู-ชวาชื่อ ดะโต๊ะ โมกอล พาบริวารเดินทางจากเกาะชวากลางเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณหัวเขาแดง สร้างบ้านแปงเมืองจนรุ่งเรือง ทางราชสำนักอยุธยาได้แต่งตั้งให้เป็นข้าหลวงผู้สำเร็จราชการนครสงขลา ซึ่งมีอาณาเขตครอบคลุมถึงบางส่วนของพัทลุง ตรัง และสตูล
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จเยี่ยมสุสานสุลต่าน สุลัยมาน ชาฮฺ โดยมี ฯพณฯ จุฬาราชมนตรี นายอาศิส พิทักษ์คุมพล รับเสด็จ (ขณะดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการอิสลาม ประจำจังหวัดสงขลา)ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม บุตรชายดะโต๊ะ โมกอล คือ สุลัยมานได้สืบทอดตำแหน่งของบิดานับแต่ พ.ศ.๒๑๖๓ ครั้นลุแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง สุลัยมานผู้นี้ก็ประกาศแข็งเมืองและตั้งตนเป็นอิสระ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๑๗๓ เรียกกันว่า สุลต่านสุลัยมานชาฮฺ แห่งสิงขรนคร ทำให้หัวเมืองสงขลากลายเป็นรัฐมุสลิมอิสระในคาบสมุทรมลายูเป็นเวลาถึง ๔๖ ปี ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หัวเมืองสงขลาถูกปราบปรามลงในปี พ.ศ.๒๒๒๓ แต่ลูกหลานสุลต่านสุลัยมานชาฮฺก็ยังคงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งขุนนางแห่งกรุงศรีอยุธยาสืบมา (เก็บความจาก สายสกุล สุลต่านสุลัยมาน โดยสรุป)
ที่มา: alisuasaming.org
- 164 สายสกุล สุลต่านสุลัยมาน พระราชาธิบดีแห่งเมืองสงขลา องค์ที่ 2
- จุฬาราชมนตรีตำแหน่งคู่ราชบัลลังก์
- พระสนมต่างชาติในราชวงศ์จักรี เชื้อสายสุลต่านมุสลิม ได้ขึ้นครองราชย์!!
- 4 มุสลิมีนคณะราษฎร ในภารกิจ 24 มิถุนายน 2475
- ทหารมุสลิมคู่ใจ พระเจ้าตากสิน มหาราช
- สกุลมุสลิม สุนนี กับสายสัมพันธ์ราชินิกุล รัชกาลที่ 3