เล่าเรื่องนายทหารมุสลิมคู่ใจคนสำคัญของกรุงธนบุรี “เจ้าพระยาจักรี (หมุด)” ว่า เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ หรือ “นายหมุด” เป็นแขกสุหนี่เชื้อสายเปอร์เซีย
ทหารมุสลิมคู่ใจ พระเจ้าตากสิน มหาราช
สมเด็จพระเจ้าตากสิน มหาราช เสด็จสวรรคตมากว่า 200 ปี หลาย เรื่องเกี่ยวกับพระองค์ยังเป็นที่ร่ำลือ ไม่ว่าจะเป็นคุณูปการที่กอบกู้บ้านเมือง พระอัจฉริยะภาพทางการทหาร ความผิดปกติของพระสติ แม้แต่เรื่องราวของ นายทหารสำคัญก็ยังถูกพูดถึง อาทิ พระยาพิชัยดาบหัก หรือในที่นี่จะพูดถึงคือ ทหารมุสลิมคู่ใจ
หลายเรื่องที่ว่า เป็นเรื่องเล่าที่เราเคยฟังกันในลักษณะของตำนานเรื่องเล่าที่ผสมปนเปทั้งเรื่องเท็จ เรื่องจริง และหลายเรื่องก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่
เรื่องเล่าที่พูดถึงนั้นมีหัวข้อเกี่ยวกับ ทหารของพระเจ้าตากที่ชื่อ “นายหมุด”
บทความเรื่อง “เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ (จักรีแขก) มุสลิมกู้ชาติ” ของปเรตร์ อรรถวิภัชน์ เผยแพร่ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤษภาคม 2560
เล่าเรื่องนายทหารมุสลิมคู่ใจคนสำคัญของกรุงธนบุรี “เจ้าพระยาจักรี (หมุด)” ว่า เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ หรือ “นายหมุด” เป็นแขกสุหนี่เชื้อสายเปอร์เซีย เดิมเป็นข้าราชสำนักอยุธยา ตำแหน่งหลวงนายศักดิ์ (หมุด) ได้รับพระบรมราชโองการให้ไปเก็บส่วยอากรจากหัวเมืองตะวันออก และได้เงินจากพระยาจันทบุรี 300 ชั่ง
แต่เมื่อ นายหมุดทราบข่าวว่า กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าก็ไม่ได้นำเงินส่วยอากร 300 ชั่งที่เก็บได้คืนแก่เจ้าเมืองจันทบุรี และตัดสินใจอาสาร่วม ทัพกู้ชาติของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
นายหมุดมีชื่อเต็มว่า “มะหะหมุด” เป็นบุตรของขุนลักษมณา (บุญยัง) เป็นหลานปู่ของพระยาราชบังสัน (ฮะซัน) เป็นลูกหลานผู้สืบสกุลของดะโต๊ะโมกอล แขกมุสลิมนิกายสุหนี่ พื้นเพเดิมมาจากเปอร์เซีย มาตั้งรกรากที่เมืองสาเลห์ ประเทศอินโดนีเซีย ก่อนหนีฝรั่งล่าอาณานิคมมาอยู่หัวเขาแดง ใกล้อำเภอสทิงพระ เมืองสงขลา ประมาณ พ.ศ. 2147
ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ มีบรมราชโองการให้พระยารามเดโช เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ยกทัพลงไปตีเมืองสงขลาจนได้ชัยชนะ คราวนั้นเมืองสงขลาที่หัวเขาแดงพ่ายแพ้สงครามและถูกเผาเสียหายเกือบทั้งเมือง
หลังสงคราม พระยารามเดโชซึ่งเป็นแขกมุสลิมนิกายสุหนี่ กราบบังคลทูลขอพระราชทานอภัยโทษลูกหลานสุลต่านสุลัยมาน แต่ให้กวาดต้อนคนออกจากพื้นที่ ผู้อายุ 60 ปีขึ้นไปย้ายไปเมืองไชยา หนุ่มสาวรวมไปถึงนายฮะซัน ให้เข้ามารับราชการที่กรุงศรีอยุธยา
ช่วงปลายอยุธยา นายหมุด ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระเจ้าเอกทัศน์ มีตำแหน่งที่หลวงศักดิ์นายเวร คนจึงเรียก “หลวงนายศักดิ์”
นายหมุด ร่วมรบในทัพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชอย่างต่อเนื่อง เชี่ยวชาญด้านการเดินเรือ ตั้งแต่การช่วยสนับสนุนพระเจ้าตากที่เมืองจันทบุรี และมีบทบาทสำคัญในการช่วยสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ กอบกู้เอกราช
การศึกเมื่อต้นแผ่นดิน เช่น การปราบก๊กพระเจ้านครศรีธรรมราชซึ่งตั้งตัวเป็นอิสระหลังกรุงแตก เจ้าพระยาจักรี (หมุด) ก็เป็นแม่ทัพใหญ่คุมกำลังไปปราบ แม้บทความระบุว่า ไม่สำเร็จ เนื่องจากหมู่ทหารแตกสามัคคีต้องถอยทัพ
ต่อมาสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ยกทัพหลวงมาหนุนจนยึดเมืองได้ พระเจ้านครศรีธรรมราช (หนู) หนีลงไปปัตตานี แต่พงศาวดารกล่าวถึงเหตุการณ์นี้ว่า เจ้าพระยาจักรี (หมุด) ออกติดตามและจับกุมพระเจ้านครศรีธรรมราชได้
เมื่อทำศึกกับเขมรก็รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นแม่ทัพเรือ ฯลฯ และเนื่องจากความดีความชอบในการกู้เอกราช หลวงนายศักดิ์ (หมุด) จึงได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยายมราชที่แม่ทัพเรือ
เวลาต่อมาได้เป็นเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ ดำรงตำแหน่งสมุหนายกคนแรกของกรุงธนบุรี
เมื่อถึงแก่อนิจกรรมในปี พ.ศ. 2317 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จไปร่วมในการฝังศพที่มัสยิดต้นสน (มัสยิดกุฎีใหญ่) จากนั้นแต่งตั้งพระยายมราช (ทองด้วง) ขึ้นเป็นเจ้าพระยาจักรี
อ้างอิง: ปเรตร์ อรรถวิภัชน์. เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ (จักรีแขก) มุสลิมกู้ชาติ ใน นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 37 ฉบับที่ 7 เดือนพฤษภาคม. 2560
ที่มา: www.silpa-mag.com
- สกุลมุสลิม สุนนี กับสายสัมพันธ์ราชินิกุล รัชกาลที่ 3
- เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ ขุนนางมุสลิมในรัชสมัยพระเจ้ากรุงธนฯ
- 'สายสกุลบุนนาค' ต้นตระกูลเป็นมุสลิม แต่ทำไมส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ
- สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กับหนี้ 60,000 ตำลึง และทหารมุสลิมคู่พระทัย
- ประวัติมุสลิมในสมัยกรุงธนบุรี
- ศาสนาอิสลามในสมัยกรุงศรีอยุธยา ชุมชนมุสลิมในอยุธยา ประวัติมุสลิมในสมัยอยุธยา (ละเอียด)