
เปิดตำนาน “ย่านมุสลิมพระนคร” ที่คนกรุงเทพฯ เองยังไม่เคยรู้! (ตอนที่ 3)
เปิดตำนาน “ย่านมุสลิมพระนคร” ที่คนกรุงเทพฯ เองยังไม่เคยรู้! (ตอนที่ 3)
ชุมชนนอกคลองเมืองบางลำภู-โอ่งอ่าง ที่เป็นคลองคูเมืองชั้นกลางที่ขุดตั้งแต่เมื่อแรกสร้างพระนครในรัชกาลที่ 1 ด้านนอกก็ยังมีชุมชนแบบนอกเมืองกึ่งชนบทที่ยังทำเกษตรกรรม เช่นการทำนาได้หลายแห่ง เช่น ย่านสนามควาย ย่านบ้านบาตร-วัดสระเกศฯ ย่านวัดคอกหมู ย่านชุมชนมลายูมุสลิมมหานาค ย่านบ้านชาวจาม ซึ่งล้วนอยู่ริมคลองมหานาคที่ขุดขึ้นครั้งรัชกาลที่ 1 ในคราวเดียวกับคลองเมืองบางลำภู-โอ่งอ่างที่ต่อเนื่องกับคลองขุดบางกะปิซึ่งขุดในคราวรัชกาลที่ 3 เพื่อเป็นเส้นทางคมนาคมไปยังนอกเมืองทางฝั่งตะวันออกของพระนคร
มัสยิดมหานาค ก่อนไฟไหม้
เมื่อมีการขยายเมืองออกไปโดยการขุดคลองขุดใหม่หรือคลองผดุงกรุงเกษมในคราวรัชกาลที่ 4 พ.ศ. 2394 ทำให้บริเวณคลองขุดใหม่ตัดกับคลองมหานาคและคลองที่ไปทางบางกะปิกลายเป็น “สี่แยก” และกลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและย่านการค้าสำคัญมาตั้งแต่บัดนั้น และชุมชนมัสยิดมหานาคที่มี กูโบร์ฝังศพก็กลายเป็นชุมชนภายในเมืองไป
ในเอกสารของกรมไปรษณีย์เรียกบริเวณนี้ว่า “คลองสี่แยกไปบางกะปิ” ซึ่งก็คือ “สี่แยกมหานาค” ในปัจจุบันนั่นเอง บริเวณนี้มีชุมชนรายคลองอยู่กันไม่น้อยทั้งจีนผูกปี้อยู่บ้าง ชาวจามที่ถูกเรียกว่า “แขกครัว” และชาวมลายูที่ขึ้นมูลนายกับพระยาราชวังสันและเจ้าคุณทหาร หรือเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) และขึ้นกับมูลนายอีกหลายท่าน โดยปลูกบ้านเรือนขัดแตะบ้าง เรือนจากบ้าง เรือนฝาไม้กระดานบ้าง เรือนแพในน้ำก็มีหลายหลังคาเรือน โดยชาวจามส่วนใหญ่เลี้ยงไหมและทอผ้า ซึ่งชาวมลายูก็ทอผ้าอยู่บ้างเช่นกัน ค้าขายบ้าง ทำสวนบ้าง ทำนาบ้าง แต่ไม่ปรากฏว่าเป็นช่างทองดังเช่นชุมชนมุสลิมในพระนครชั้นใน ย่านนี้ถือว่ามีอาชีพทอผ้า ทอผ้าม่วง ทอผ้าไหมขายกันมากที่สุด และถือว่าเป็นชุมชนมุสลิมที่ค่อนข้างหนาแน่นต่างจากชุมชนภายในเมือง
ชาวมุสลิมที่มหานาคมีคำนำหน้านอกจาก “โต๊ะ”, “โต๊ะหะยี” แล้วก็มี “ต่วน”, “ต่วนหะยี” ก็หลายท่าน
แผนผังชุมชนมหานาคแต่เดิม แสดงพื้นที่ใช้สอยและบ้านของตระกูลใหญ่ในมหานาค
อย่างไรก็ตาม จากการสัมภาษณ์ผู้คน (หะริน สิริคาดีญา อายุ 73 ปี, นิวัฒน์ วงษ์มณี อายุ 75 ปี, สมบัติ จันทร์ไทย อายุ 63 ปี, สมาน เมฆลอย อายุ 55 ปี, 28 กรกฎาคม 2558) ในชุมชนมัสยิดมหานาคเล่าว่า ชุมชนนี้มีตระกูลใหญ่ๆ อยู่หลายตระกูล และรับราชการเป็นช่างหลวงอยู่หลายท่าน เช่น ขุนศิลปศาสตร์ (สิน), ขุนสารพัดช่าง (นิ่ม), ขุนบริหารคู้นิคม, พระเทพ (หมึก), ขุนรัตนภิบาล (เสงี่ยม) ชุมชนนี้อาจจะขยับขยายจากชุมชนช่างในเมืองมาอยู่ทางฝั่งนอกเมืองที่ยังคงมีพื้นที่ทำนา ทำสวน หรืออยู่มาตั้งแต่แรกเริ่มในคราวครั้งรัชกาลที่ 3 ที่มีการอพยพโยกย้ายชาวมลายูมุสลิมมาครั้งใหญ่และครั้งเดียวกัน โดยมีลูกหลานขุนนางชาวมุสลิมนั้นสืบต่อกันมาในตระกูลต่างๆ อย่างมั่นคงจนทุกวันนี้
เมื่อพื้นฐานของชุมชนเป็นข้าราชการ และสามารถสร้างสุเหร่าขึ้นเป็นแห่งแรกๆ ในย่านพระนคร ชาวชุมชนสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างก่อน พ.ศ.๒๓๕๐ เป็นอาคารหลังเล็กๆ โดย “พระเทพ” บิดาขุนรัตนภิบาล (เสงี่ยม) พร้อมกับการจัดหาที่สร้างกุโบร์ด้วย จึงน่าจะเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงและเป็นยุคแรกๆ ในการตั้งถิ่นฐานที่นี่ ต่อมาจึงสร้างใหม่เมื่อราว พ.ศ. 2394 และถูกไฟไหม้ไปพร้อมกับบ้านเรือนในชุมชนครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2472 และสร้างใหม่เป็นมัสยิดที่เห็นในปัจจุบันก่อนจะปรับปรุงบูรณะซ่อมแซมมาเป็นลำดับ
กูโบร์ที่มหานาคป็นกูโบร์ใหญ่โตและกลายเป็นโอเอซีสกลางเมืองใหญ่ในปัจจุบัน บริเวณที่จอแจกลับกลายเป็นอีกโลกหนึ่งจนน่าเป็นสถานที่พักผ่อนและปลงต่อชีวิตและโลกย์ไม่ว่าผู้เข้าเยี่ยมชมนั้นจะนับถือศาสนาใด
ชาวชุมชนเล่าให้ฟังว่า แต่เดิมพื้นที่กูโบร์เดิมคงอยู่ลึกกว่านี้พอสมควร เพราะกล่าวกันว่าบริเวณพื้นดินปัจจุบันเพราะมีการถมรอบสองแล้ว และดินส่วนหนึ่งที่ถมก็ได้มาจากดินที่ขุดลอกจากคลองมหานาค
แต่เดิมก่อนที่จะมีการทำสะพานข้ามคลองมหานาคนั้น กูโบร์มหานาคเคยอยู่บริเวณเชิงสะพานเจริญราษฎร์ 32 และบริเวณนั้นใกล้กับแนวร่องน้ำเก่าที่ดึงเข้ามาเลี้ยงพื้นที่ภายใน ส่งไปให้สวนและที่นา ต่อมาปรับเป็นถนนพังคีในปัจจุบัน ชุมชนมหานาคจึงมีลำน้ำล้อมรอบจนทำให้คล้ายเป็นเกาะมาแต่เดิม ฝั่งถนนด้านตะวันตกกลายเป็นถนนนาคราชซึ่งแต่เดิมติดกับโรงเลี้ยงเด็กที่สร้างครั้งรัชกาลที่ 5 เมื่อจะสร้างสะพานซึ่งน่าจะเป็นการสร้างเมื่อครั้งฉลองร้อยปีพระนคร ซึ่งบริเวณสี่แยกมหานาคนั้นเป็นตลาดน้ำและตลาดชายน้ำแล้ว จึงขอพระราชทานที่ดินเพื่อสร้างโดยมีผู้ดำเนินการ 4 ท่าน คือ ท่านลักษณา พระยารังสัน ท่านศรเสนี ท่านศรีมหาราชา
กุโบร์มหานาค
จากรายชื่อดังกล่าวซึ่งเป็นการบอกเล่าจากความทรงจำที่มีผู้คนในชุมชนบันทึกไว้ คาดว่าน่าจะเป็นขุนนางที่เป็นมูลนายของชาวชุมชนมหานาคนั่นเอง เท่าที่พอประเมินได้คือเป็นตำแหน่งขุนนางฝ่ายมุสลิมในราชสำนัก ทั้งหมดนั้นคือตำแหน่งทางราชการแบบเก่าครั้งปลายกรุงศรีอยุธยาและอาจต่อเนื่องถึงต้นกรุงเทพฯ คือตำแหน่งพระยาราชวังสัน ขุนลักษมณา พระศรีมหาราชา เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นขุนนางมุสลิมเชื้อสายกรุงเก่าจากทางฝั่งธนฯ และคงเป็นผู้จัดการหาพื้นที่อยู่อาศัย ตลอดจนการกำกับผู้คนในสังกัดของตนครั้งกวาดครัวจากปาตานีมาเมื่อต้นกรุงฯ สืบมา
กูโบร์พื้นที่นั้นเรียกต่อมาว่า “กูโบร์ใน” แล้วมีการเพิ่มเติมพื้นที่โดยการวากัฟที่ดินโดย โต๊ะปุก บุตรกีเที่ยง โต๊ะเหรี่ยม ส่วนกูโบร์นอก หลวงศิลปศาสตร์ (สิน) เป็นผู้วากัฟหรืออุทิศที่ดินที่เคยเป็นที่นาให้สาธารณะ ทำให้พื้นที่กูโบร์มีพื้นที่กว่า 18 ไร่ ส่วนพื้นที่อยู่อาศัยขนาดเพียง 5 ไร่เท่านั้น
เมื่อครั้ง “ตนกูอับดุลเราะห์มาน” ผู้นำการเรียกร้องเอกราชและเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซีย ท่านเกิดที่รัฐเคดาห์หรือไทรบุรี ในขณะที่ยังอยู่ในการปกครองของสยามเมื่อ พ.ศ. 2446 ก่อนที่จะกลายเป็นหนึ่งในสหพันธรัฐมาเลเซีย เมื่อ พ.ศ. 2452 ท่านเป็นบุตรของเจ้าพระยาไทรบุรี (อับดุลฮามิด) (เจ้าพระยาฤทธิสงคราม) หรือ Sultan Abdul Hamid Halim Shah ( ค.ศ. 1881 – ค.ศ. 1943) สุลต่านองค์ที่ 25 กับหม่อมมารดาชาวไทยนามว่า หม่อมเนื่อง นนทนาคร หรือมะเจ๊ะเนื่อง ชายาองค์ที่ 6 ซึ่งเป็นบุตรีของหลวงนราบริรักษ์ (เกล็บ นนทนาคร) เจ้าเมืองนนทบุรีในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพี่ชายร่วมพระมารดาคือ ร้อยเอกตนกู ยูซุฟ ซึ่งรับราชการในกรมตำรวจไทย
บันทึกกันว่าท่านตนกูอับดุล เราะห์มานเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนเทพศิรินทร์ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากมหานาคนัก ซึ่งรวมทั้งพี่ชายท่านที่โอนสัญชาติเป็นไทยด้วย ภายหลังพี่ชายที่รับราชการตำรวจเสียชีวิตด้วยโรคปอดบวม ก็ฝังไว้ที่มัสยิดมหานาค คาดกันว่าที่พำนักในกรุงเทพฯ นั้นคงอยู่กับทางบ้านมารดาที่ถนนวรจักรซึ่งใกล้เคียงกับมัสยิดมหานาค
เมื่อท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว จึงมีความพยายามขอนำร่างพี่ชายกลับไปฝังยังสุสานหลวงที่เคดาห์อยู่หลายครั้ง จนครั้งสุดท้ายสัปบุรุษของมัสยิดมหานาคก็อนุญาต ลุงหริน สิริคาดีญา ที่อายุ 73 ปี ยังจำได้ว่า ได้ไปเสริฟน้ำแก่แขกในราชวงศ์จากเคดาห์และผู้ใหญ่จากมาเลเซียเมื่อครั้งเป็นเด็กเล็กๆ ศรีษะเพิ่งโผล่พ้นขอบแนวกำแพงกูโบร์มาเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งอาจจะมีอายุไม่ถึง 10 ขวบก็เป็นผู้เห็นเหตุการณ์นี้ด้วย
มัสยิดมหานาคในปัจจุบัน
เพราะที่ตั้งของชุมชนมัสยิดมหานาคอยู่ในบริเวณสี่แยกมหานาคที่เป็นจุดตัดการค้าขายทางน้ำ จึงทำให้มีชาวเรือค้าขายตลอดจนชาวมุสลิมจากนอกพระนคร เช่น ทางอยุธยาและทางใกล้ชายฝั่งทะเลมาค้าขายบริเวณนี้ จนเป็นการอพยพโยกย้ายเข้ามาอยู่อาศัยในเวลาต่อมา ซึ่งก็ควรเป็นหลังจากขุดคลองขุดใหม่หรือคลองผดุงกรุงเกษม โดยมีผู้คนจากแถบตะเกี่ยทางพระนครศรีอยุธยามาแต่งงานกับมุสลิมแถบฝั่งธนฯ แล้วอพยพมาค้าขายและอาศัยในชุมชนนี้ แล้วนำเอาไขวัวมาส่งขายเป็นส่วนผสมของน้ำมันหรือสบู่ต่างๆ บ้างนำไม้ฟืนที่เป็นไม้แสมมาจากทางป่าชายเลนมาขึ้น ค้าไม้ฟืนกันเป็นอาชีพหลักของชุมชน เมื่อเข้ามาแล้วก็รุกที่วากัฟของขุนศิลปศาสตร์ (สิน) บริเวณกูโบร์ทำบ้านเรือนบ้าง ค้าขายกันสืบต่อมา
แต่โดยพื้นแล้วชาวชุมชนมหานาคดั้งเดิมล้วนเป็นลูกหลานของข้าราชการและผู้มีความรู้ทางช่างที่รับราชการในพระบรมมหาราชวังส่วนหนึ่ง เมื่อผสมผสานกับผู้รู้ทางศาสนาจึงทำให้ผู้คนลูกหลานคนที่นี่ออกไปรับราชการกันโดยมาก และแตกสายไปยังอาชีพอาชีพอื่นๆ เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไปตามลำดับ
ชุมชนมหานาคมีพื้นที่ในการอยู่อาศัยมากกว่าชุมชนในเมืองที่มัสยิดจักรพงษ์และมัสยิดตึกดินมาก กว้างขวาง สมเป็นชุมชนชานพระนครชั้นนอก
แต่ถึงเช่นนั้น ความเปลี่ยนแปลงก็ยังทำให้เห็นร่องรอยว่าเคยเป็นชุมชนใหญ่ที่ผู้คนโยกย้ายออกไปหาที่อยู่ใหม่ตามขนาดของครอบครัวที่เติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะบ้านบางหลังก็ถูกปิดตายและเก่าพังตามกาลเวลา อีกทั้งยังอยู่ริมคลองมหานาคต่อคลองแสนแสบที่มีเรือโดยสารวิ่งกันเร็วฉิวบนท้องน้ำสีคล้ำมีกลิ่นก็ยิ่งทำให้พื้นที่ริมคลองไม่ค่อยน่าพิสมัยสำหรับการอยู่ริมน้ำแบบเดิม
จากเอกสารประกอบการเสวนา เรื่อง "ชุมชนมุสลิมร่วสร้างพระนคร"
บทความที่น่าสนใจ