
เปิดตำนาน “ย่านมุสลิมพระนคร” ที่คนกรุงเทพฯ เองยังไม่เคยรู้! (ตอนที่ 2)
เปิดตำนาน “ย่านมุสลิมพระนคร” ที่คนกรุงเทพฯ เองยังไม่เคยรู้! (ตอนที่ 2)
เมื่อสัมภาษณ์ช่างแกะลายลงบนแหวนหรือแผ่นทองหรือเงินที่บ้านมัสยิดตึกดินในปัจจุบัน คือ ประเสริฐ เจริญราชกุมาร (เสียชีวิตแล้ว, ข้อมูลสัมภาษณ์, อายุ 89 ปี, 29 พฤษภาคม 2558) เล่าข้อมูลที่มีผู้รู้อยู่น้อยคนแล้วว่า ตระกูลฝ่ายแม่ของตนเองนั้นสืบทอดเชื้อสายมาจากคนแถบ “โคกโพธิ์” แล้วถูกอพยพโยกย้ายมายังกรุงเทพมหานคร แต่เดิมชุมชนมัสยิดตึกดินในปัจจุบันมีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่แถวๆ “ตรอกศิลป์” ฝั่งใต้คลองหลอดวัดเทพธิดาฯ ทำเครื่องทอง ตลับพระ แหวนฝังพลอยสี เครื่องประดับกำไลต่างๆ และตีทองคำเปลว เหตุนี้จึงเรียกว่าตรอกศิลป์
มัสยิดตึกดิน
โดยเล่าว่าแทบทุกบ้านจะมี “โต๊ะทำทอง” และเครื่องมือทำทอง บริเวณนั้นอยู่ใกล้กับ “ตึกดิน” ซึ่งเป็นสถานที่โล่งกว้างใช้สำหรับเก็บดินปืนหลวงมาตั้งแต่ครั้งสร้างกรุงฯ และดินปืนที่เป็นวัตถุอันตรายจึงสร้างออกมาไกลพระบรมมหาราชวังหน่อย แต่เมื่อมีการขยายตัวของเมือง สร้างวัดและบ้านช่องขุนนางและพ่อค้า ตึกดินก็ดูเหมือนจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง ตามแผนที่ พ.ศ. 2440 ยังมีการแสดงอาณาบริเวณของตึกดินที่กินพื้นที่ทั้งสองฝั่งของถนนราชดำเนินที่สร้างขึ้นอีกสองปีต่อมาบริเวณของตึกดินมีเขตจรดแนวคลองหลอดวัดราชนัดดา มาจนจรดแนวใกล้คลองหลังวัดบวรรังษี
ตรอกศิลป์นี้อยู่ใกล้กับวัดมหรรณพารามที่มีการกล่าวถึงกลุ่มบ้านช่างทองและช่างทองหลวงที่ตั้งอยู่หน้าวัดมหรรณฯ ด้วยหลายบ้านในเอกสารของกรมไปรษณีย์ ซึ่งก็น่าจะเป็นกลุ่มบ้านช่างทองและช่างทำทองต่างๆ ที่เป็นกลุ่มบ้านย่านดั้งเดิมของชาวมัสยิดตึกดินในปัจจุบันด้วย
แผนที่เก่า พ.ศ. 2440 แสดงตำแหน่งและอาณาบริเวณของตึกดิน ก่อนที่จะมีการตัดถนนราชดำเนินกลาง
เมื่อตัดถนนราชดำเนินก็ต้องเวนคืนที่ดินทำให้พื้นที่ของตึกดินถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนของถนนราชดำเนินกลาง ดังที่มีชื่อตรอกตึกดินและสะพานตึกดินใกล้กับคลองหลอดวัดเทพธิดาฯ และมัสยิดตึกดินและชุมชนตึกดินทางฝั่งโรงเรียนสตรีวิทยาดังที่พบเห็นในปัจจุบัน ชาวบ้านที่เป็นช่างทองรูปพรรณต่างๆ ก็ถูกเวนคืนที่ดิน โดยได้รับพระราชทานที่ดินทดแทนในบริเวณดังกล่าวและย้ายมา สร้างบ้านเรือนที่ฝั่งเหนือของถนนราชดำเนิน
เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงครามสร้างตึกสองฝั่งถนนราชดำเนินในปี พ.ศ. 2484 ต้องเวนคืนพื้นที่โรงเรียนสตรีวิทยาที่อยู่ริมถนนราชดำเนินฝั่งใต้มาสร้างไว้ ณ สถานที่ตั้งทุกวันนี้ กินพื้นที่ชุมชนมัสยิดตึกดินที่ถูกเวนคืนไปไม่น้อย โดยมีคลองคั่นซึ่งคลองนี้คนเก่าเล่าว่าเรือขนข้าวเปลือกยังเคยล่องเข้ามาได้ ปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่ชุมชนบ้านเรือนที่มาปลูกกันในภายหลังและมีปัญหาเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งไปบุกรุกทางน้ำสาธารณะด้วย
ชุมชนมัสยิดตึกดินในทุกวันนี้มีพื้นที่ไม่มากนักและอยู่ปะปนไปกับคนพุทธที่ต่อเนื่องมาจากแถบตรอกบวรรังษี หลังวัดรังษีสุทธาวาสที่มารวมกับวัดบวรนิเวศภายหลังในสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นแนวคลอง อีกฝั่งหนึ่งเรียกว่า ตรอกบวรรังษี เคยมีขุนนาง ข้าราชการอยู่อาศัยและเติบโตกันที่นี่หลายท่าน แม้แต่อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ก็เคยเล่าว่าเกิดที่ตรอกนี้เช่นเดียวกัน ในกลุ่มชาวบ้านที่นี่ทั้งชาวพุทธและมุสลิม บางบ้านยังประกอบอาชีพทั้งตีทองคำเปลว ทำทองรูปพรรณ เป็นช่างแกะลายดังที่คุณตาประเสริฐ เจริญราชกุมารทำเป็นอาชีพสืบต่อมาพร้อมกับคนในชุมชนอีกหลายท่าน ชุมชนตึกดินเคยมีเพียงบาแลไม้เป็นอาคารศาสนสกิจดั้งเดิม ต่อมาเมื่อชุมชนถูกไฟไหม้ครั้งใหญ่ราว พ.ศ. 2528 จึงเริ่มสร้างมัสยิดเป็นอาคารตึกถาวรดังที่เห็นในปัจจุบัน
คุณประเสริฐ เจริญราชกุมาร ช่างทองคนสุดท้ายของชาวตึกดิน
การเป็นช่างทองหลวงและช่างทองที่รับทำเครื่องทองรูปพรรณชนิดต่างๆ ให้กับผู้มีฐานะเพียงพอจะซื้อหาได้ และเป็นการทำทองแบบโบราณทำให้เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางการปกครอง สังคมและเศรษฐกิจแบบสมัยใหม่มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 มีการสร้างโรงกษาปณ์ที่อยู่ติดกับถนนเจ้าฟ้าและบริเวณด้านหน้าคือคลองหลอดหรือคลองเมืองชั้นในสุดที่ขุดตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีและด้านหนึ่งติดกับคลองล้อมรอบวัดชนะสงครามเพื่อผลิตเหรียญต่างๆ และต่อมาคือการผลิตเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พนักงานช่างแกะและช่างทำเครื่องประดับเพชรพลอยและเครื่องประดับทองคำจึงเป็นชาวบ้านมุสลิมแถบมัสยิดจักรพงษ์และตึกดินจำนวนมาก เนื่องจากมีความชำนาญที่สืบทอดงานช่างฝีมือมาจากภายในชุมชนนั่นเอง แม้แต่คุณยายมานิดา แตงอ่อน ซึ่งเป็นคนทำเครื่องทองในบ้านที่สืบทอดมาจากคุณพ่อของคุณยาย ซึ่งรับงานในวังมาทำด้วยและทำงานโรงกษาปณ์มาก่อนก็ใช้งานฝีมือเหล่านี้สมัครเป็นข้าราชการในกองกษาปณ์ในยุคของคุณยายจนเกษียณอายุราชการ
ส่วนมัสยิดจักรพงษ์ถือเป็นอาคารมัสยิดเป็นหลังแรกแถบนี้และน่าจะเป็นสุเหร่าของชุมชนมาตั้งแต่เมื่อแรกสร้างชุมชนแล้วและมีการบริจาคที่ดินเพิ่มเติม จากที่เคยเป็นบาแลเรือนไม้ยกพื้นสูงเป็นอาคารตึก ลวดลายประดับต่างๆที่เป็นช่องลมล้วนเป็นงานฉลุจากไม้สักโดยช่างในบ้านที่ฝีมือชั้นครูทุกแผ่น ออกแบบเขึยนลายอยู่ในสายเลือด และมีเอกสารจากคำบอกเล่าของคนในชุมชนว่าเปลี่ยนจากบาแลเรือนไม้เป็นสุเหร่าก่ออิฐถือปูนราว พ.ศ. 2441 และมัสยิดหลังที่เห็นในปัจจุบันมีอายุ 93 ปีแล้ว ยุคนั้นคนสุเหร่าจักรพงษ์น่าจะมีฐานะดีมั่นคงกันมากเพราะเป็นช่างหลวงและข้าราชการกันโดยมาก
เครื่องมือทำทองสมัยก่อน
ชุมชนมุสลิมภายในเขตคลองเมืองพระนครนั้น แม้จะมีกุฎีหรือบาแลหรือมัสยิดก็ตาม แต่ก็ไม่มีสถานที่สำหรับฝังศพ เช่นเดียวกับผู้ที่อยู่อาศัยภายในเมืองที่เป็นชาวพุทธ และไม่ใช่พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงสุดที่ต้องนำศพออกนอกเมืองทางประตูผีอาจจะเป็นประตูช่องกุดแห่งใดแห่งหนึ่งแถวถนนมหาไชยใกล้กับวัดสระเกศ แล้วไปเผาหรือฝังนอกเมือง
คนมุสลิมในเมืองที่มีอยู่สองแห่งใหญ่ๆ เช่นเดียวกัน คนจากมัสยิดตึกดินและจักรพงษ์ก็ต้องนำศพไปฝังที่กูโบร์มหานาคนอกเมือง และคงออกทางประตูผีเพื่อไปทางคลองมหานาคเช่นเดียวกัน ทุกวันนี้หากไปเดินดูป้ายชื่อก็จะพบตระกูลเชื้อสายจากชุมชนมุสลิมภายในเมืองมาฝังที่มัสยิดมหานาคเป็นกลุ่มๆ นอกเหนือจากคนในชุมชนมหานาคเองและคนจากชุมชนที่ไม่มีกูโบร์บริเวณใกล้เคียง
จากเอกสารประกอบการเสวนา เรื่อง "ชุมชนมุสลิมร่วสร้างพระนคร"
บทความที่น่าสนใจ