
เปิดตำนาน “ย่านมุสลิมพระนคร” ที่คนกรุงเทพฯ เองยังไม่เคยรู้! (ตอนที่ 1)
เปิดตำนาน “ย่านมุสลิมพระนคร” ที่คนกรุงเทพฯ เองยังไม่เคยรู้! (ตอนที่ 1)
การนำชาวมลายูมุสลิมมาตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้ชิดกับชุมชนของขุนนางระดับผู้ใหญ่และพระบรมมหาราชวังและพระบวรราชวังนั้น ในระยะแรกกลุ่มหรือปัจเจกบุคคลทั้งหลายนั้นมีฐานะ “ไพร่” ที่ขึ้นอยู่กับขุนนางท่านต่างๆ หรือแม้แต่กงสุลต่างชาติในยุคที่มีการบีบคั้นในทางอาณานิคมของภูมิภาคนี้ โดยไม่เว้นแม้แต่ชาวพระนครที่เป็นครัวที่ถูกนำมาจากหัวเมืองอื่นๆ เมื่อมาอยู่กับมูลนายและบ้านเมืองใหม่ก็มีการจัดระบบระเบียบการปกครองในระดับถึงตัวบุคคลเลยทีเดียว
ระบบเช่นนี้สืบเนื่องมาจนถึงสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการปกครองจนเป็นระบบมณฑลเทศาภิบาล สร้างการปกครองแบบเทศบาล เริ่มให้สิทธิแบบปัจเจกและรวมถึงกรรมสิทธิ์ในที่ดินและยกเลิกระบบการขายบุคคลลงไปเป็นทาสในกลุ่มฐานะที่ต่ำกว่าไพร่ลงไป เป็นต้น
คนมุสลิมจากหัวเมืองในรัฐปาตานีเดิม เมื่อถูกนำมาอยู่อาศัยในกำแพงพระนครโดยมีบันทึกอย่างชัดเจนครั้งรัชกาลที่ 3 น่าจะขึ้นอยู่กับมูลนายในส่วนของพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้า โดยเฉพาะ “โรงไหม” ริมคลองหลอดที่เป็นคูเมืองเก่านั้นขึ้นอยู่กับกรมพระราชวังบวรสถานมงคล บริเวณโรงไหมหลวงน่าจะอยู่บริเวณโรงเรียนข่าวทหารบกต่อเนื่องกับตรอกโรงไหมในปัจจุบัน
หลังจากทศวรรษที่ 2370-2380 ซึ่งมีการอพยพโยกย้ายชาวมลายูมุสลิมเข้ามาอยู่อาศัยยังภายในกำแพงพระนครอย่างชัดเจน โดยเริ่มต้นที่ด้านเหนือฝั่งคลองคูเมืองหรือคลองหลอดที่โรงไหมหลวงหน้าพระราชวังบวรสถานมงคลแล้ว ชุมชนชาวมลายูมุสลิมก็คงขยายออกไปในพื้นที่อื่นๆ ที่พอสืบค้นร่องรอยได้ เพราะจากเอกสาร “สารบาญชี เล่ม 1-4 ของกรมไปรษณีย์กรุงเทพมหานคร” เมื่อ พ.ศ. 2426 พอมองเห็นร่องรอยของชุมชนชาวมลายูมุสลิมในเขตกำแพงพระนครได้ว่า ขยับขยายมาอยู่ที่ใดบ้าง โดยกล่าวถึง “หมู่บ้านแขกข้างวัดชนะสงคราม” เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่ารอบวัดชนะสงครามเคยมีการขุดคูคลองล้อมรอบวัด คลองด้านหนึ่งถูกถมกลายเป็นส่วนหนึ่งของถนนจักรพงษ์ คลองล้อมรอบวัดชนะสงครามนี้มีคลองขุดให้เชื่อมกับคลองหลอดหรือคลองคูเมืองชั้นแรกที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยาได้ด้วย และยังมีคลองที่ขุดต่อจากคลองล้อมรอบวัดไปออกทางตลาดบางลำพูแล้วขนานไปกับถนนสิบสามห้างเชื่อมกับคลองบางลำภูบนหรือคลองคูเมืองชั้นกลางได้ด้วย คลองล้อมรอบวัดเหล่านี้ยังมีผู้จดจำได้ว่า แม่ค้าผลไม้จากสวนฝั่งธนฯ ยังเข้ามาขายผลไม้จากสวนที่ในตรอกสุเหร่าได้ (มานิดา แตงน้อย, อายุ 90 ปี, ชุมชนตรอกสุเหร่า มัสยิดจักรพงษ์)
มัสยิดจักรพงษ์
คลองล้อมรอบวัดชนะสงครามนี้ถูกถมให้กลายซอยรามบุตรีที่ล้อมรอบวัดชนะสงครามในปัจจุบันและเรื่อยมาถึงตรอกมะยมและซอยรามบุตรีในอีกฟากถนนจักรพงษ์ ผ่านถนนตานีและกลายเป็นเกาะกลางถนนที่กลายเป็นหลุมหลบภัยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ปัจจุบันทำเป็นห้องน้ำสาธารณะของกรุงเทพมหานคร
วัดชนะสงครามหรือวัดตองปุ เป็นวัดดั้งเดิมที่ชื่อวัดกลางนามาตั้งแต่ก่อนสร้างกรุงเทพฯ โดยตั้งชื่อวัดตองปุแบบเดียวกับที่กรุงศรีอยุธยาเคยมี สืบเนื่องในการเป็นวัดของคณะสงฆ์ในรามัญนิกายซึ่งเป็นกลุ่มกำลังสำคัญในการทำศึกฝ่ายพม่าเมื่อครั้งต้นกรุงฯ รวมทั้งเป็นวัดสำคัญในพระราชวังบวรสถานมงคล โดยมีการเก็บอัฐิของเจ้านายในสายวังหน้ารวมกันที่นี่ตั้งแต่เมื่อรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ชุมชนที่อยู่รอบวัดชนะสงครามจึงมีหลายกลุ่ม เช่น บ้านเรือนของผู้ทำงานในวังหน้าตามริมคลองเชื่อมวัดชนะสงครามกับคลองหลอด ตรอกสะพานแดงรอบวัดชนะสงครามด้านหนึ่งมีบ้านเรือนขุนนาง โรงเลื่อยตั้งอยู่ บริเวณถนนวัดชนะสงครามหรือถนนจักรพงษ์มีวังเชื้อพระวงศ์วังหน้า บ้านเรือนขุนนาง ในกรมช่างต่างๆ ล่ามแปลภาษา เรือนค้าขายของต่างๆ มีทั้งคนไทยคนมลายูและจีนผูกปี้ดูจะเป็นย่านตลาดกรายๆ คนมลายูนั้นชื่อนำหน้า เช่น “ต่วนหะยี”, “โต๊ะ” และมีขุนนางที่รับราชการอยู่กรมช่างทอง คือ ขุนขจิตรังการ
มานิดา แตงอ่อน ผู้อาวุโสเกือบจะสูงสุดของชาวตรอกสุเหร่า มัสยิดจักรพงษ์
ส่วน “หมู่บ้านแขกข้างวัดชนะสงคราม” ตามบันทึกในครั้งรัชกาลที่ 5 น่าจะเป็นชุมชนมัสยิดจักรพงษ์ในปัจจุบันที่มีพื้นที่ิติดกับพื้นที่อยู่อาศัยของข้าราชการในวังหน้าและวังของกรมหลวงจักรเจษฎาและวังพระองค์เจ้าพงศ์อิศเรศร์ในวังหน้าที่ร้างไปตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 5 ระบุว่ามีจำนวน 48 หลังคาเรือน ในชุมชนมี “กะดีแขก” หรือบาแลหรือมัสยิดของชุมชนด้วย และเป็นบ้านเรือนของช่างทองและช่างรับทำทองรูปพรรณเสีย 19 หลังคาเรือน มีหมอบ้านหนึ่ง ทอผ้าขาย 2 บ้าน ผู้คนที่อยู่อาศัยหากเป็นฝ่ายชายจะมีชื่อนำหน้าขึ้นต้นด้วย โต๊ะ และโต๊ะหะยีที่ดูจะใช้เรียกผู้อาวุโสและผู้ที่อาจะเคยไปประกอบพิธีฮัจน์ เช่นโต๊ะซัน บุตรโต๊ะมะ, โต๊ะมาก บุตรนายมั่น, โต๊ะมะหะยะเลาะ ฯลฯ และยังมีการเรียกชื่อว่านายด้วย ส่วนฝ่ายหญิงขึ้นต้นด้วยอำแดงเช่นเดียวกับคนในพระนครอื่นๆ
ในหมู่บ้านแขกข้างวัดชนะสงครามนี้มีขุนนางอยู่บ้างในระดับหมื่น มีหม่อม มีหลานสมเด็จเจ้าพระยาฯ รวมอยู่ด้วย ผู้คนที่เป็นช่างทองรับจ้างทำทองรูปพรรณแก่ชาวบ้านทั่วไป ไม่ได้เป็นช่างทองหลวงแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ในเอกสารจากแหล่งเดียวกันมีชื่อ “ถนนบ้านช่างพลอย” ที่แม้จะไม่มีข้อมูลบ่งบอกแน่ชัดว่าอยู่ที่ใด แต่น่าจะอยู่ในบริเวณใกล้เคียงในย่านเดียวกัน เพราะผู้คนส่วนใหญ่มีมูลนายที่ขึ้นกับทางวังหน้าอยู่แทบทั้งสิ้น จำนวนบ้านกว่า 66 หลังคาเรือน แต่มีบ้านร้างไป 3 หลัง มีฉางข้าวหนึ่งแห่ง บ้านเรือนทำด้วยไม้เรือนชนิดต่างๆ เป็นส่วนใหญ่และตึก มีช่างทองหลวงและช่างเจียรไนพลอยที่เป็นขุนนางในกรมพระราชบวรฯ อยู่เรือนปั้นหยาบ้าง เรือนไม้กระดานบ้างและมีตำแหน่งในระดับคุณหลวง ท่านขุนอยู่หลายคน มีช่างฝีมือที่ทำทองและนากเป็นรูปพรรณหลายบ้าน และบ้านทอผ้าขายสองสามหลัง ชุมชนบ้านช่างพลอยนี้เป็นมลายูมุสลิมอย่างแน่ชัดอยู่หลายบ้านและดูท่าว่าจะเป็นคนกลุ่มใหญ่ของย่านบ้านแถบนี้
จากเอกสารประกอบการเสวนา เรื่อง "ชุมชนมุสลิมร่วสร้างพระนคร"
บทความที่น่าสนใจ