เกษตรฯ ชูธง อาหารปลอดภัย ระดมพล10 พันธมิตรลุย 5 มาตรการแก้ปัญหาเนื้อวัวปลอมระบาด หวั่นกระทบผู้บริโภคอาหารฮาลาล ทั้งในและต่างประเทศ
เนื้อวัวปลอม ระบาดหนัก ก.เกษตร ลุย 5 มาตรการเร่งด่วน!
เกษตรฯ ชูธง อาหารปลอดภัย ระดมพล10 พันธมิตรลุย 5 มาตรการแก้ปัญหาเนื้อวัวปลอมระบาด หวั่นกระทบผู้บริโภคอาหารฮาลาล ทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะส่งออกอาหารกลุ่มประเทศมุสลิม 2,000 ล้านคน
- ชั่วช้ามาก! นำเนื้อหมูมาปลอมปนเนื้อวัว หลอกขายมุสลิม
- เนื้อหมูกับเนื้อวัว ต่างกันยังไง แยกแยะด้วยข้อสังเกต 7 ประการ
- ฮาลาลจุฬาฯ ฟันธง “หมูล้วนๆ เนื้อหลบไป”
1 ส.ค.63 นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรมาตรฐานฮาลาล เปิดเผยว่า
จากการที่สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสมาคมการค้าธุรกิจไทยมุสลิมได้มาพบหารือเมื่อวันที่ 29 ก.ค. ที่ผ่านมา เกี่ยวกับปัญหาการระบาดของเนื้อวัวเทียมที่ใช้เนื้อหมูหมักเลือดวัวในกรุงเทพและต่างจังหวัด
จึงได้เชิญ 10 หน่วยงานประกอบด้วยผู้แทนกรมปศุสัตว์ สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานอาหารและยา นายธานินทร์ เปรมปรีดิ์ อ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค กรมสอบสวนคดีพิเศษ พล.ต.ต ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.คบ)ดร.ปกรณ์ ปรียากร ผู้อำนวยการสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย นายสมศักดิ์ เมดาน รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ดร.วินัย ดะห์ลัน ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมการค้าธุรกิจไทยมุสลิมและคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรมาตรฐานฮาลาลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประชุมหารือเป็นการเร่งด่วนในทันที
- ตะลึง! คาถ้วยก๋วยเตี๋ยว สุ่มตรวจเนื้อวัว เจอ “หมู” หลายย่านชุมชนมุสลิม
- 3 จว. งัดมาตรการสกัด “หมูปนเนื้อ”รุกมุสลิม
- ประชุมด่วน หมูปลอมเป็นวัว โดยศูนย์วิทยาศาตร์ฮาลาล เปิดเผยแหล่งที่มา
- เผยผลตรวจ DNA หมูในตัวอย่างเนื้อ ถึงกับตะลึง!
เนื่องจาก ปัญหาดังกล่าวเริ่มส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและพี่น้องมุสลิมในวงกว้างมากขึ้นเพราะ นอกจากมีการขายตามเขียงและรถเร่ยังมีการขายออนไลน์กระจายไปทั่วซึ่งตัวแทนคณะกรรมการกลางอิสลามฯและสถาบันมาตรฐานฮาลาลรวมทั้งสมาคมการค้าธุรกิจไทยมุสลิมแสดงความกังวลว่าปัญหาเนื้อวัวปลอมที่ทำจากสุกรกระทบพี่น้องมุสลิม โดยตรงและจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในมาตรฐานฮาลาลโดยเฉพาะผู้ประกอบการกว่า 150,000 ราย ที่ได้มาตรฐานฮาลาล และถ้าไม่จัดการโดยเฉียบขาดเร่งด่วนจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกอาหารของประเทศไทยโดยเฉพาะกลุ่มประเทศมุสลิม 2,000 ล้านคน รวมทั้งชาวมุสลิมที่เดินทางมาท่องเที่ยวหรือมาใช้บริการทางการแพทย์ในประเทศไทยเพราะกลัวอาหารที่ปลอมปนเนื้อสุกร
โดยศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรายงานว่ามีการส่งตัวอย่างมาให้วิเคราะห์ 42 ตัวอย่าง ทั้งที่เป็นเนื้อสดและปรุงเป็นอาหารปนเนื้อวัวปลอมขายในโรงเรียน ผลปรากฎว่า เป็นเนื้อวัวปลอมที่ทำจากเนื้อหมูหมักเลือดวัว 70% ส่วนตัวอย่างที่ขายผ่านออนไลน์เป็นเนื้อวัวปลอม100% และมีเชื้อโรคเป็นอันตรายต่อสุขภาพผู้บริโภค
ในส่วนกรมปศุสัตว์ ร่วมกับ บก.คบ. รายงานว่าระหว่างเดือน พฤษภาคม-มิถุนายน-กรกฎาคมได้จับกุมหลายรายในจังหวัดปราจีนบุรี และกรุงเทพมหานคร แต่ไม่มีเครื่องมือเพียงพอในการจัดการกับการค้าออนไลน์ ซึ่งดีเอสไอ. สคบ. และอย.ยินดีที่จะบูรณาการการทำงานกับบก.คบและกรมปศุสัตว์โดยใช้กฎหมายตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานซึ่งมีโทษทั้งจำและปรับมาใช้ในการจัดการปัญหานี้ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา พรบ.การสอบสวนคดีพิเศษ พรบ.ควบคุมโรคระบาดสัตว์ พรบ.คุ้มครองผู้บริโภค พรบ.ควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายและพรบ.อาหารและยาฯลฯ
นายอลงกรณ์กล่าวว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายส่งเสริมเกษตรปลอดภัยอาหารปลอดภัยและนโยบายยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารรวมทั้งอาหารฮาลาลเพื่อคุ้มครองผู้ผลิตจนถึงผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนส่งเสริมการส่งออกอาหารที่ปลอดภัย ในปัจจุบันไทยส่งออกอาหารและสินค้าเกษตรกว่า1ล้านล้านบาทเป็นอันดับ11ของโลกและอันดับ2ของเอเซียรองจากจีนเท่านั้นส่วนตลาดอาหารฮาลาลมีมูลค่า1แสนล้านบาทเป็นตลาดเป้าหมายใหม่ที่เติบโตเร็ว
จึงมีการตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรมาตรฐานฮาลาลเป็นการเฉพาะ ดังนั้นจึงต้องจัดการปัญหาเนื้อวัวปลอมจากเนื้อสุกรอย่างเป็นระบบและเร่งด่วนและยังเป็นการสร้างความเขื่อมั่นว่ารัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและหน่วยงานพันธมิตรมีความพร้อมในการแก้ไขปัญหาทั้งวันนี้และวันหน้า
ทั้งนี้ที่ประชุมสรุปแนวทางแก้ไขปัญหาโดยเริ่มเดินหน้า 5 มาตรการเร่งด่วน
1. มาตรการสื่อสารเตือนภัยผู้บริโภค
2. มาตรการป้องปรามผู้ค้า
3. มาตรการปราบปรามผู้กระทำผิด
4. มาตรการส่งเสริมมาตรฐานฮาลาล
5. มาตรการตรวจสอบย้อนกลับ(Tracebility)จากโรงฆ่าสัตว์ถึงผู้บริโภคสร้างความเชื่อมั่น
นอกจากนี้ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะให้บริการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างฟรีโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายสำหรับการปฏิบัติการของส่วนราชการครั้งนี้
ที่มา: www.komchadluek.net