ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ในวัย 59 ปี ได้รับวัคซีนเป็นคนแรกของประเทศในวันที่ 13 มคแต่รองประธานาธิบดีมารูฟ อามิน ซึ่งอายุ 77 ปี จะยังไม่ได้รับวัคซีน เนื่องจาก
เหตุใดอินโดนีเซียเลือก ฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้คนหนุ่มสาวก่อนผู้สูงอายุ
ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ในวัย 59 ปี ได้รับวัคซีนเป็นคนแรกของประเทศในวันที่ 13 ม.ค.แต่รองประธานาธิบดีมารูฟ อามิน ซึ่งอายุ 77 ปี จะยังไม่ได้รับวัคซีน เนื่องจากอายุเกินเกณฑ์
- อินโดฯประกาศแล้ว วัคซีนโควิดฮาลาล พร้อมฉีดสัปดาห์หน้า
- อินโดนีเซียเร่งพิจารณา วัคซีนฮาลาล
- มาเลย์อนุญาตเปิดมัสยิด-สุเหร่า ละหมาดวันศุกร์ในรัฐสลังงอ
- ฟัตวา! วัคซีนโควิด-19 มุสลิมฉีดได้ แม้มีส่วนผสมของหมูก็ตาม
ทำไมเลือกคนวัยทำงานก่อน
ศาสตราจารย์อามิน โซบันดริโอ หนึ่งในสมาชิกคณะที่ปรึกษายุทธศาสตร์ "ให้วัคซีนคนหนุ่มสาวก่อน" ของรัฐบาลมองว่า เป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่จะให้วัคซีนแก่คนวัยทำงาน "ที่ออกจากบ้านและไปไหนมาไหนแล้วก็กลับมาหาครอบครัวตอนค่ำ" ก่อนช่วงอายุอื่น ๆ
"เรามุ่งเป้าไปที่คนที่มีแนวโน้มจะนำไวรัสไปแพร่ระบาดมากกว่า" เขาบอกกับบีบีซี แผนกภาษาอินโดนีเซีย โดยอธิบายต่อว่า เป็นโอกาสดีที่สุดที่จะสร้าง "ภูมิคุ้มกันหมู่" (herd immunity) ในกลุ่มประชากรของประเทศ
"นั่นคือเป้าหมายระยะยาวของเรา หรือ อย่างน้อยเราสามารถลดตัวเลขการแพร่ระบาดได้อย่างมีนัยยะสำคัญ และทำให้เศรษฐกิจกลับมาเดินหน้าได้อีกครั้ง"
คาดกันว่า 60-70% ของประชากรโลกทั้งหมดต้องมีภูมิคุ้มกันก่อนที่เชื้อจะไม่แพร่ระบาดโดยง่าย แต่ตัวเลขนี้ต้องเพิ่มขึ้นอีกหากเชื้อตัวที่กลายพันธุ์แพร่ระบาดอย่างกว้างขวางด้วย
อินโดนีเซียมีประชากร 270 ล้านคน มีตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และข้อมูลรัฐบาลระบุว่า 80% ของผู้ติดเชื้อเป็นคนวัยทำงาน
บูดี กูนาดี ซาดิคิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประเทศคนใหม่ บอกว่า ยุทธศาสตร์นี้ไม่ใช่เพียงเพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาเดินต่อได้อีกครั้ง แต่เพื่อปกป้องกลุ่มคนที่มีแนวโน้มจะติดเชื้อและนำไปแพร่ระบาด
"เราให้ความสำคัญกับกลุ่มคนที่ต้องทำงานพบปะกับผู้คนจำนวนมาก เช่น มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ตำรวจ ทหาร เราไม่อยากให้ประชาชนคิดว่า นี่เป็นเพืยงเหตุผลทางเศรษฐกิจเท่านั้น มันเป็นเรื่องของการปกป้องชีวิตผู้คน"
แล้วคนสูงวัยล่ะ
รัฐบาลมองว่ายุทธศาสตร์นี้เป็นการปกป้องผู้สูงวัย
"การให้ภูมิคุ้มกันสมาชิกในบ้านที่ทำงานเท่ากับว่าพวกเขาจะไม่นำพาเชื้อไวรัสกลับมาที่บ้านซึ่งคนสูงวัยอาศัยอยู่" ดร.ซิตี นาเดีย ทาร์มีซี โฆษกโครงการฉีดวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
คนสูงวัยส่วนใหญ่ในอินโดนีเซียอยู่ในครอบครัวขยาย นั่นหมายความว่าแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะให้คนสูงวัยกักตัวอยู่คนเดียว
"ดังนั้นจึงมีข้อดีอีกประการของการทำเช่นนี้ การให้วัคซีนคนอายุ 18-59 ปี เท่ากับเราให้การป้องกันคนสูงวัยที่พวกเขาอาศัยอยู่ด้วย"
อย่างไรก็ดี ศาสตราจารย์ โรเบิร์ต รีด หนึ่งในคณะกรรมการด้านวัคซีนและภูมิคุ้มกัน (JCVI) ซึ่งให้คำปรึกษาทางการสหราชอาณาจักร บอกว่า ยังไม่มีหลักฐานที่จะฟันธงเรื่องนี้ และสหราชอาณาจักรเลือกที่จะไม่ให้วัคซีนคนหนุ่มสาวก่อนเพราะว่าคนเหล่านี้มักไม่มีอาการหนักเมื่อติดเชื้อ และยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าวัคซีนช่วยลดการแพร่ระบาดของเชื้อได้แค่ไหน
เขาบอกว่า วิธีที่อินโดนีเซียเลือกต้องอาศัยวัคซีนจำนวนมาก และต้องให้วัคซีนคนอย่างน้อย 50% กว่าที่จะสามารถหยุดการเสียชีวิตหรือการต้องนำคนสูงอายุส่งโรงพยาบาลได้
อีกเหตุผลหนึ่งที่อินโดนีเซียเลือกทางนี้เป็นเพราะวัคซีนที่ใช้ยังไม่เคยนำไปทดสอบในหมู่คนสูงอายุ อินโดนีเซียใช้ "โคโรนาแวค" (CoronaVac) ซึ่งผลิตโดยบริษัท "ซิโนแวค" ของจีนเป็นหลัก ซึ่งอินโดนีเซียบอกว่าใช้ได้ประสิทธิภาพคิดเป็น 65.3%
ตัวเลขล่าสุดจากบราซิลระบุว่า มีประสิทธิภาพเพียง 50.4% ในการทดลองทางคลินิก
อย่างไรก็ดี โฆษกโครงการฉีดวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซีย บอกว่า ถึงแม้ว่าวัคซีนถูกทดสอบกับคนสูงวัย ทางการก็มีแนวโน้มที่จะเลือกให้วัคซีนคนวัยทำงานก่อนอยู่ดี
นักวิทยาศาสตร์มองว่าอย่างไร
ปีเตอร์ โคลิคนอน ศาสตราจารย์ด้านโรคติดต่อมหาวิทยาออสเตรเลียแห่งชาติ บอกว่ายังต้องประเมินต่อไปว่าวิธีนี้จะได้ผลหรือไม่ แต่เขาเห็นว่าสมเหตุสมผลที่จะปรับยุทธศาสตร์ให้เข้ากับบริบทของแต่ละประเทศ
"หากว่าเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา ผมเข้าใจว่านโยบายป้องกันคนวัยทำงานที่มีแนวโน้มนำไวรัสไปแพร่ระบาดก่อนสมเหตุสมผลอย่างไร เพราะคุณไม่สามารถสั่งให้ผู้คนอยู่กับบ้านได้"
ศ.รีด บอกว่าเขาเห็นด้วย เพราะประเทศที่ร่ำรวยในโลกตะวันตกไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะไปบอกประเทศอื่น ๆ ว่าควรจะทำอย่างไร และวิธีการของอินโดนีเซีย "อาจจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องสำหรับประเทศเขา"
อินโดนีเซียรับมือได้ดีแค่ไหน
อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก และโครงการฉีดวัคซีนก็มีอุปสรรคในเชิงการขนส่งด้วยปัจจัยด้านอุณหภูมิ และด้วยความที่ประเทศเป็นลักษณะหมู่เกาะขนาดใหญ่
ซิตรา พลาสตูตี นักข่าวท้องถิ่นในกรุงจาการ์ตา ซึ่งเพิ่งหายจากโควิด-19 บอกว่า การออกจากบ้านเหมือนการก้าวออกไปในสนามรบ เธอบอกว่า การสื่อสารจากทางการก็ทำให้คนสับสน "ระหว่างช่วงวันหยุด มีการขอให้คนอยู่บ้าน แต่โรงแรมต่าง ๆ ก็มีการเสนอลดราคาที่พัก และก็ไม่มีกฎห้ามเดินทางใด ๆ"
ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข ดร.ดิคกี บูดีแมน จากมหาวิทยาลัยกริฟฟิธในออสเตรเลีย บอกว่า รัฐบาลต้องดูแลกลุ่มคนที่เปราะบางดีกว่านี้ และต้องมีมาตรการตรวจเชื้อ ตามรอยคนติดเชื้อ รักษาผู้ติดเชื้อ และให้คนรักษาระยะห่างทางสังคม ดีกว่านี้
วัคซีนถูกหลักฮาลาลหรือไม่
วัคซีนบางตัวมีส่วนผสมของเจลาตินที่ได้จากหมู แต่ 90% ของประชากรอินโดนีเซียเป็นชาวมุสลิม ไม่แตะต้องเนื้อหมู
ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ออกมาบอกว่าเรื่องนี้ไม่สำคัญเพราะว่าเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข อย่างไรก็ดี สภาอิสลามแห่งชาติอินโดนีเซีย (Indonesia Ulema Council - MPU) ออกมาประกาศแล้วว่าวัคซีนของซิโนแวคถูกต้องตามหลักฮาลาลของศาสนาอิสลาม
ที่มา: www.bbc.com/thai