สภามุสลิมสูงสุดของอินโดนีเซีย คาดหวังออกคำวินิจฉัยเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ว่า ฮาลาล หรือไม่ ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายอิสลาม
สำนักข่าวมุสลิมไทยโพสต์: อินโดนีเซียเร่งพิจารณา วัคซีนฮาลาล
สภามุสลิมสูงสุดของอินโดนีเซีย คาดหวังออกคำวินิจฉัยเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ว่า ฮาลาล หรือไม่ ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายอิสลาม ก่อนที่โครงการฉีดวัคซีนจากประเทศจีนให้กับประชาชนจำนวนมาก จะเริ่มขึ้นในสัปดาห์หน้า อินโดนีเซียวางแผนเริ่มฉีดวัคซีนในวันที่ 13 มกราคม 2564 หลังจากได้รับวัคซีนจำนวน 3 ล้านโดส จาก Sinovac Biotech ประเทศจีน
ในอินโดนีเซีย เคยมีการถกเถียงกันเกี่ยวกับส่วนประกอบของวัคซีน และว่าสมควรฉีดให้กับประชาชนเพื่อตอบสนองกับการดูแลสุขภาพหรือไม่ ในปี 2561 สภาอุละมะอฺอินโดนีเซีย (MUI) เคยออกมาประกาศว่า วัคซีนป้องกันโรคหัดไม่ฮาลาล
มูตี อะรินตาวาตี เจ้าหน้าที่ MUI ซึ่งดูแลด้านการตรวจสอบอาหารและยาว่าฮาลาลหรือไม่ กล่าวคาดหวังว่า ผลสรุปน่าจะประกาศได้ก่อนที่รัฐบาลจะเริ่มโครงการฉีดวัคซีน โดยขณะนึ้ MUI กำลังรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ก่อนที่จะประกาศผล
ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด้ กล่าวว่า เขาจะเป็นคนแรกในโครงการที่จะฉีดวัคซีนนี้ในสัปดาห์หน้า เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชน
สื่อ นิวยอร์ก ไทมส์ รายงานก่อนหน้านี้ว่า บริษัทยา Sinovac ได้ยืนยันกับ Bio Farma ซึ่งเป็นผู้ผลิตยาของรัฐบาลอินโดนีเซีย ว่า วัคซีนดังกล่าวไม่มีส่วนผสมของผลิตภัณฑ์จากสุกร แม้นายบัมบัง เฮรียันโต้ เลขาธิการองค์กรผลิตยา Bio Farma จะยืนยันว่า ได้รับคำชี้แจงดังกล่าว แต่ก็ยังต้องผ่านให้ MUI พิจารณาตัดสินสถานะฮาลาลก่อนนำออกใช้
นายอะหมัด อิสโฮมุดดีน เจ้าหน้าที่ขององค์กรศาสนานะฮ์ดลาตุ้ล อุละมะอฺ ซึ่งเป็นองค์กรมุสลิมอันดับ 1 ของอินโดนีเซีย กล่าวว่า วัคซีนที่ไม่มีฮาลาลสามารถฉีดได้ในกรณีฉุกเฉิน หากไม่มีทางเลือกทางอื่น
ทั้งนี้ หน่วยงานควบคุมด้านอาหารและยของอินโดนีเซีย (BPOM) จะต้องออกหนังสืออนุมัติการใช้ในกรณีฉุกเฉิน เพื่อเริ่มโครงการฉีดวัคซีน
อนึ่ง หน่วยงานศาสนาในมาเลเซีย ได้ประกาศอนุญาตให้มุสลิมสามารถฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 และเป็นข้อบังคับในการให้วัคซีน สำหรับบุคคลที่รัฐบาลระบุว่า อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จำเป็นต้องฉีดวัคซีน
มาเลเซียไม่กำหนดให้วัคซีนต้องได้รับการรับรองฮาลาล แม้ว่าทางการกำลังวางแผนที่จะกำหนดกรอบการรับรองในปีนี้ เพื่อบรรเทาความกังวลให้กับมุสลิมบางส่วน
ที่มา: www.reuters.com