รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะกำกับดูแลสำนักการประชุมและสำนักกฎหมาย ได้ให้สัมภาษณ์และชี้แจงกรณีการจัดทำร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม จำนวน 3 ฉบับ
แจงยิบทุกประเด็น แก้ไขร่าง พ.ร.บ.อิสลาม
วันที่ 28 ก.พ. 64 ว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์ สุขะนันท์ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะกำกับดูแลสำนักการประชุมและสำนักกฎหมาย ได้ให้สัมภาษณ์และชี้แจงกรณีการจัดทำร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม จำนวน 3 ฉบับ ซึ่งประชาชนแจ้งความประสงค์ขอให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรช่วยเหลือในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติว่า เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 64 น.ส.พาศิกา สุวจันทร์ และคณะผู้ริเริ่มได้มีหนังสือแจ้งความประสงค์ขอให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ช่วยจัดทำร่างพระราชบัญญัติ จำนวน 2 ฉบับ คือ
1.ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจย์ พ.ศ. 2524 ยกเลิกพระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจย์ พ.ศ. 2532 และยกเลิกพระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจย์ พ.ศ. 2559 โดยมีเหตุผลเพื่อลดภาระของรัฐในการดำเนินการดังกล่าว พร้อมเนื้อหาจำนวน 3 มาตรา
2.ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติการบริหารเงินหมุนเวียน พ.ศ. 2558 โดยมีเหตุผลเพื่อยกเลิกการให้เงินสนับสนุนการดำเนินการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจย์ พร้อมเนื้อหาจำนวน 3 มาตรา
ต่อมาในวันที่ 11 มกราคม 2564 ผู้เสนอคนเดียวกันได้มีหนังสือแจ้งความประสงค์ขอให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรช่วยในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรอิสลาม พ.ศ. 2540 ในบางมาตรา โดยมีเหตุผลเพื่อความเหมาะสมสภาวการณ์ปัจจุบัน พร้อมเนื้อหาประมาณ 20 มาตรา
โดยในวันที่ 14 ม.ค. 64 สำนักการประชุมได้ส่งร่างพระราชบัญญัติทั้ง 3 ฉบับ ให้สำนักกฎหมายจัดทำร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2556 เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จสำนักกฎหมายได้ส่งร่างพระราชบัญญัติทั้ง 3 ฉบับ ให้สำนักการประชุมในวันที่ 8 และ 11 ก.พ. 64 เพื่อเสนอให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาลงนาม ก่อนจะส่งให้ น.ส.พาศิกา สุวจันทร์ ในวันที่ 17 ก.พ. 64 ตามลำดับ
ในฐานะที่ตนกำกับดูแลสำนักการประชุม และสำนักกฎหมาย ขอชี้แจงว่าการดำเนินการของเป็นการดำเนินการตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2556 เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนในการเสนอกฎหมาย โดยเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติเป็นไปตาม
ความประสงค์ของประชาชน สำนักการประชุมและสำนักกฎหมายมิได้ก้าวล่วงไปวิเคราะห์หรือแสดงความเห็นว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติที่ประชาชนประสงค์ให้จัดทำ จึงเป็นการพิจารณารูปแบบการร่างกฎหมายเป็นหลัก และเคารพต่อความคิดเห็นของของประชาชนผู้เสนอกฎหมายที่ต้องการให้ดำเนินการจัดทำร่างพระราชบัญญัติทั้ง 3 ฉบับ ด้วยความสุจริตใจ
โดยในปัจุบันยังไม่ได้ดำเนินการเสนอร่างพระราชบัญญัติทั้ง 3 ฉบับ ต่อประธานรัฐสภา ซึ่งหากมีการเสนอแล้วจะเข้าสู่กระบวนการวิเคราะห์และเสนอความเห็นชอบของกลุ่มงานเข้าชื่อเสนอกฎหมาย สำนักการประชุม เพื่อเสนอความเห็นต่อประธานรัฐสภาว่าเข้าลักษณะแห่งพระราชบัญญัติตามหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หรือหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา 133 (3) ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 หรือไม่ ซึ่งเป็นการดำเนินการในอีกส่วนหนึ่ง แยกออกต่างหากจากการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ โดยตนและผู้ปฏิบัติงานส่วนใหญ่ในกลุ่มงานเข้าชื่อเสนอกฎหมายมีความเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติทั้ง 3 ฉบับ ไม่เข้าลักษณะตามหมวด 3 และหมวด 5 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560
อย่างไรก็ตามในช่วง 2 – 3 วันที่ผ่านมา ได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมในการดำเนินการจัดทำร่างพระราชบัญญัติทั้ง 3 ฉบับ ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ตนขอเรียนว่าหากสังคมหรือผู้ที่เกี่ยวข้องมีความเห็นว่าเป็นความผิดของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ตนในฐานะรองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่กำกับดูแลสำนักการประชุมและสำนักกฎหมายต้องขอโทษต่อทุกท่านเป็นอย่างยิ่ง
และขอเรียนว่ามิใช่ความผิดของเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรที่ได้ลงนามในร่างพระราชบัญญัติทั้ง 3 ฉบับ ตามที่สำนักการประชุมเสนอให้พิจารณาลงนามแต่อย่างใด หากสังคมหรือผู้ที่เกี่ยวข้องมีความเห็นว่าเป็นความผิดของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ตนยินดีที่จะให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรย้ายไปกำกับดูแลสำนักอื่น หรือ หากประธานรัฐสภาหรือเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรมีความเห็นว่าควรตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ตนก็ยินดีน้อมรับ
ที่มา: www.thansettakij.com