รูปวันฮารีรายอ อีดิลฟิตรี ณ มัสยิดแห่งเดียวของเกาหลีเหนือ ท่ามกลางโควิด-19 อบอุ่นไปอีกแบบ
สำนักข่าวมุสลิมไทยโพสต์: รูปวันฮารีรายอ มัสยิดแห่งเดียวของเกาหลีเหนือ
รูปวันฮารีรายอ อีดิลฟิตรี ณ มัสยิดแห่งเดียวของเกาหลีเหนือ ท่ามกลางโควิด-19 อบอุ่นไปอีกแบบ...
แม้มาตรการป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 ที่เข้มงวดของเกาหลีเหนือ จะเป็นปัจจัยที่กีดกันชุมชนมุสลิมชาวต่างชาติจากการมาพบปะสังสรรค์กัน ตั้งแต่ต้นปี 2020 เป็นต้นมา แต่มีข้อยกเว้นที่เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องมาจากการเฉลิมฉลองอีดิลฟิตรี ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดของเดือนรอมฎอน
ที่มัสยิดเราะฮ์มาน (Rahman Mosque) แห่งเปียงยาง เจ้าหน้าที่ชาวมุสลิมและครอบครัว จากสถานทูตประเทศมุสลิมต่าง ๆ ในเกาหลีเหนือ ประมาณ 30 คน รวมตัวกันมาละหมาดที่มัสยิด พร้อมกับจัดเลี้ยงอาหาร และงานเฉลิมฉลองเล็ก ๆ ขึ้นด้านนอกมัสยิด เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ที่ผ่านมา
สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า มัสยิดเราะฮ์มาน ยังคงเป็นสถาบันอันสำคัญสำหรับมุสลิม ซึ่งส่วนมาเป็นชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศเกาหลีเหนือ
มัสยิดเราะฮ์มาน ก่อตั้งขึ้นในปี 1985 ตัวมัสยิดตั้งอยู่ในพื้นที่ของสถานทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ประจำกรุงเปียงยาง ซึ่งในตอนแรกสถานทูตอิหร่านตั้งมัสยิดขึ้นสำหรับทูต และเจ้าหน้าที่ประจำสถานทูต ซึ่งส่วนมากเป็นชาวชีอะฮ์ แต่ในปัจจุบัน เปิดให้มุสลิมทุกสำนักคิดเข้ามาปฏิบัติศาสนกิจได้ ซึ่งมัสยิดเราะฮ์มาน ทำหน้าที่เป็นสถาบันหลักของชุมชนมุสลิมในเมืองเปียงยาง ทั้งในการละหมาดวันญุมอัตวันศุกร์ และการละหมาดอีดทั้งสอง
แหล่งข่าวกล่าวว่า อุปทูตประจำสถานทูตอียิปต์ เป็นผู้นำการดำเนินการกิจกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับศาสนาอิสลามในเกาหลีเหนือ ดังนั้น ผู้มาปฏิบัติศาสนกิจที่มัสยิดเราะฮ์มานจึงมาจากหลากหลายประเทศ ทั้ง อิหร่าน อียิปต์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ปากีสถาน ไนจีเรีย ซีเรีย รวมทั้งปาเลสไตน์ ซึ่งทูตปาเลสไตน์ เป็นทูตอาวุโสที่ทำงานอยู่ในวงการทูตในเกาหลีเหนือนานที่สุด จึงทำหน้าที่เป็น “ประธานคณะทูตประเทศอิสลามประจำเกาหลีเหนือ” ด้วย
อย่างไรก็ตาม ตามลักษณะการปกครองประเทศของเกาหลีเหนือ ทำให้ยากต่อการมีความสัมพันธ์กับศาสนาที่เป็นระบบ ในอดีต ชาวเกาหลีเหนือไม่เคยเห็น หรือไม่เคยได้ยินเรื่องที่เกี่ยวกับมัสยิดแม้แต่ครั้งเดียว นาย Tae-il Shim ชาวเกาหลีเหนือลี้ภัย ให้สัมภาษณ์สื่อ NK News ในปี 2020 ว่า ที่เดียวที่จะได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับโลกมุสลิมก็คือ การเรียนในโรงเรียน ที่จะมีการสอนวิชาประวัติศาสตร์ และภูมิศาสตร์โลก นอกเหนือจากนี้แล้วก็จะไม่มีการพูดถึงเกี่ยวกับอิสลาม
ในเมืองเปียงยางยังมีโบสถ์คริสต์อีก 5 แห่ง ได้แก่ โบสถ์ Bongsu, Chilgol และ Jeil ของนิกายโปรแตสแตนท์ โบสถ์แคธอลิค (the Catholic Jangchung Cathedral) และโบสถ์ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาคริสต์นิกายออร์โธด็อกซ์ แห่งรัสเซีย
ที่มา: www.nknews.org