สุมาตราตะวันตกของอินโดนีเซีย ประกาศใช้กฎหมายใหม่ที่ระบุข้อความว่า ยอมรับให้ประเพณีของท้องถิ่นอยู่บนพื้นฐานของกฎหมายอิสลาม
สำนักข่าวมุสลิมไทยโพสต์: กฎหมายใหม่สุมาตราตะวันตก ทำให้อิสลามสายอนุรักษ์ในอินโดนีเซียเพิ่มหรือไม่?
สุมาตราตะวันตกของอินโดนีเซีย ประกาศใช้กฎหมายใหม่ที่ระบุข้อความว่า ยอมรับให้ประเพณีของท้องถิ่นอยู่บนพื้นฐานของกฎหมายอิสลาม ซึ่งหมายความว่า จะมีการขยายการใช้กฎหมายชาริอะฮ์ในอินโดนีเซียนอกเหนือจากในเขตอาเจะ
กฎหมายดังกล่าวผ่านความเห็นชอบเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยมีบทเฉพาะกาลที่ยอมรับลักษณะพิเศษ 3 ประการของภูมิภาค โดย 1 ใน 3 ข้อ ระบุว่า “วัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมของ ชาวมินังกาเบา ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาคนี้ อยู่บนพื้นฐานของหลักชารีอะฮ์ และชารีอะฮ์ มีรากฐานมาจากอัลกุรอาน”
กลุ่มสิทธิมนุษยชนออกมาตั้งข้อสังเกตว่า ประชากรของจังหวัดสุมาตราตะวันตกมีอยู่ราว 5.5 ล้านคน ในจำนวนนี้ 130,000 คนเป็นผู้ที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม โดยเฉพาะชุมชนบนเกาะเมนตาไว (Mentawai Islands) ซึ่งส่วนมากเป็นชาวคริสต์
นายกุสปาร์ดี เกาส์ สมาชิกคณะกรรมาธิการที่ 2 ของรัฐสภา ซึ่งร่วมพิจารณากฎหมายระดับจังหวัดกับรัฐบาล กล่าวว่า กฎหมายนี้จะไม่ปฏิเสธสิทธิของชนกลุ่มน้อย ไม่ว่าจะต่างศาสนาหรือชนเผ่า เพราะนอกจากจะมีชาวมินังกาเบาแล้ว สุมาตราตะวันตกยังมีชนเผ่าบาตัก ชาวชวา และชาวซุนดา เขายังกล่าวว่า กฎหมายใหม่นี้จะยังคงสอดคล้องกับอุดมการณ์ของรัฐ คือ ปัญจสีละ และความเป็นสาธารณรัฐ
นโยบายปัญจสีละ ตามที่บิดาผู้ก่อตั้งประเทศอินโดนีเซ๊ยระบุไว้ คือ การเป็นสังคมพหุสังคมและการมีเสรีภาพทางศาสนา เป็นหนึ่งใน 5 หลักการที่ควรยึดถือ และเคารพในความเป็นอิสระของอินโดนีเซีย
อย่างไรก็ตาม มีผู้ตั้งข้อสงสัยว่า จังหวัดสุมาตราตะวันตก จะกลายเป็นเขตปกครองตนเองเหมือนอาเจะ หรือไม่ ซึ่งที่ประชาสภาผู้แทนราษฎร และรัฐบาล เห็นพ้องกันว่า กฎหมายดังกล่าวจะไม่ทำให้ชื่อของจังหวัดเปลี่ยนไป
ปัจจุบัน อาเจะ ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือสุดของหมู่เกาะที่รวมกันเป็นสาธารณรัฐอินโดนีเซีย เป็นพื้นที่พิเศษแห่งเดียวที่ใช้กฎหมายชาริอะฮ์ ปกครองประชากรจำนวน 5.3 ล้านคน
ทั้งนี้ กลุ่มสิทธิมนุษยชน กำลังจับจ้องจุดเปลี่ยนนี้ แอนเดรียส ฮาร์โซโน นักวิจัยของกลุ่มจับตาด้านสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า การออกกฎหมายใหม่นี้เป็นเรื่องไร้สาระ และอาจจะเป็นเหตุผลในการใช้อิสลามเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง เพราะดั้งเดิมแล้ว การริเริ่มที่เกี่ยวกับความเคร่งครัดในอิสลามหลายอย่างก็เริ่มขึ้นที่นี่ เช่น การเสนอให้คนงานและนักเรียนสวมชุดแบบฮิญาบ รวมทั้งการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง ชนกลุ่มน้อยทางศาสนาต่าง ๆ ผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม ผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมซุนนี ชาว LGBT และอื่น ๆ ก็ล้วนเกิดขึ้นที่จังหวัดนี้มาแล้วทั้งสิ้น จึงคิดว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องระบุเป็นนิตินัย เพราะทางพฤตินัยก็เป็นเช่นนี้อยู่แล้ว และในไม่ช้า อีก 15 จังหวัดของอินโดนีเซียที่มีประชากรมุสลิมเป็นชนส่วนมาก ก็คงผ่านกฎหมายใหม่ที่มีข้อความคล้าย ๆ กันออกมาในที่สุด
ที่มา: www.scmp.com
https://news.muslimthaipost.com/news/36456
- โรงเรียนอิสลามสอนเด็กหูหนวกท่องจำอัลกุรอาน (มีคลิป)
- ส.ส.มุสลิมอินเดียคนสุดท้าย BJP ลาออกแล้ว!!
- ปธน.อินโดนีเซีย เยือนยูเครน-รัสเซีย หวังคลายวิกฤตอาหารโลก
- รองปธน.อินโดนีเซีย พูดถึงความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ 'พัฒนาเศรษฐกิจแบบอิสลาม'
- มุสลิมปลื้ม! มัสยิดมินนิอาโปลิส กระจายเสียงอะซานตลอดทั้งปี
- ท่องเที่ยวฮาลาล ท่องเที่ยววิถีมุสลิม บราซิลพร้อมแล้ว!