ประวัติของมัสยิดบางหลวง มัสยิดทรงไทยหนึ่งเดียวในโลก เป็นแห่งเดียวที่ไม่ได้ก่อสร้างมัสยิดตามพิมพ์นิยมทั่วไป
ประวัติของมัสยิดบางหลวง มัสยิดทรงไทยหนึ่งเดียวในโลก
มัสยิดบางหลวง หรือเรียกอีกอย่างว่า “กุฎีขาว” มีอายุยืนยาวมากกว่า 200 ปีมาแล้ว
มัสยิดบางหลวง เป็นศาสนสถานที่สำคัญของชุมชนชุมชนกุฎีขาว ประวัติของมัสยิดบางหลวง สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 โดยการนำของ โต๊ะหยีซึ่งเป็นพ่อค้าชาวมุสลิม หลังจากนั้น มัสยิดบางหลวงได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์หลายครั้ง สำหรับมัสยิดบางหลวง หลังปัจจุบันสันนิษฐานได้ว่าสร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 3 เนื่องจากรูปแบบสถาปัตยกรรมคล้ายพระอุโบสถและพระวิหารทรงไทยซึ่งเป็นรูปแบบพระราชนิยมในสมัยนั้น โดยอาคารมีการประยุกต์และเปลี่ยนแปลงพื้นที่ใช้สอยรวมถึงการประดับตกแต่งที่เหมาะสมและสอดคล้องกับท้องถิ่น
ประวัติของมัสยิดบางหลวง มัสยิดทรงไทยหนึ่งเดียวในโลก
มัสยิดบางหลวง เป็นอาคารอิฐถือปูนทั้งหลัง ผังพื้นอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 12 เมตร ยาว 24 เมตร และสูง 16 เมตร ด้านตะวันออกของอาคารเป็นพาไลซึ่งมีเสา 6 ต้น รองรับหลังคาของพาไล ต่อจากพื้นของพาไลมีบันไดทางขึ้นอาคาร 2 ด้านซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือและทิศใต้ โดยบันไดนี้เชื่อมต่อกับระเบียงทางเดินรอบห้องละหมาด ซึ่งมีระเบียงล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน โดยระเบียงด้านตะวันออกมีขนาดใหญ่กว่า 3 ด้านที่เหลือซึ่งมีขนาดเท่ากัน หลังคาของระเบียงทั้งหมดเป็นปีกนก โดยมีเสาจำนวน 26 ต้น รองรับโครงสร้าง ต่อจากระเบียงด้านตะวันออกเป็นบันไดและประตูทางเข้าห้องละหมาด โดยบันไดและประตูนี้ตั้งอยู่กึ่งกลางของผนังห้องด้านตะวันออก
สำหรับผนังด้านนี้มีการพอกเสาด้านหน้าทั้ง 4 ต้น หลังคาของห้องละหมาดและบางส่วนของระเบียงด้านทิศตะวันออกเป็นหลังคาทรงจั่วมุ่งด้วยกระเบื้องว่าวสีเขียว หน้าบันทั้งสองด้านของหลังคาประดับด้วยปูนปั้นซึ่งผสมผสานระหว่างศิลปะไทย ตะวันตก และจีน
ประวัติของมัสยิดบางหลวง มัสยิดทรงไทยหนึ่งเดียวในโลก
ภายในห้อง ห้องละหมาดเป็นที่ตั้งของมิมบัรซึ่งเป็นแท่นยืนแสดงธรรม เป็นขั้นบันไดสำหรับคอเต็บใช้แสดงธรรม และมิห์รอบหรือประชุมทิศซึ่งเป็นซุ้มที่ครอบมิมบัร ในสมัยรัชกาลที่ 6 มิมบัรเก่าในมัสยิดบางหลวงชำรุดลง เจ้าสัวพุกซึ่งเป็นพ่อค้าจีนมุสลิมและเป็นต้นตระกูลพุกภิญโญได้ก่อสร้างมิมบัรและมิห์รอบขึ้นใหม่เป็นซุ้มทรงสามยอด สันนิษฐานว่าถ่ายแบบจากซุ้มพระอุโบสถวัดอนงคารามวรวิหาร โดยซุ้มนี้ก่ออิฐถือปูนปิดทอง ประดับด้วยกระจกหลากสี พร้อมกับได้แกะสลักแผ่นไม้เป็นอักษรอาหรับนูนลอยเป็นพระนามขององค์อัลลอฮ์ (ซ.บ.) และมีโองการที่สำคัญในคัมภีร์อัลกุรอานติดตั้งไว้ภายในซุ้มด้วย
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มัสยิดบางหลวง ได้รับการทำนุบำรุงเป็นอย่างดีจากผู้นำทางศาสนาและชุมชน การบูรณะอาคาร ครั้งล่าสุด เมื่อปี พ.ศ. 2551 โดยความร่วมมือร่วมใจของชาวชุมชนกุฎีขาว และนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์จากศูนย์ข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชนธนบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และความช่วยเหลือด้านงบประมาณจากกรุงเทพมหานคร ส่งผลให้อาคารหลังนี้ยังคงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมเหมือนเช่นในอดีตที่ผ่านมา
ประวัติของมัสยิดบางหลวง มัสยิดทรงไทยหนึ่งเดียวในโลก
มัสยิดบางหลวง เป็นแห่งเดียวที่ไม่ได้ก่อสร้างมัสยิดตามพิมพ์นิยมทั่วไป (มีหลังคารูปโดมและมีสัญลักษณ์ดาวกับเดือนเสี้ยวประดับอยู่) และนับได้ว่าเป็น “มัสยิดก่ออิฐถือปูนแห่งเดียวในโลกที่เป็นทรงไทยทั้งหลัง” ซึ่งอิหม่ามประจำมัสยิดบางหลวง บอกว่า “มัสยิด ไม่จำเป็นต้องเป็นรูปโดม อาคารสถานที่ทุกอย่างไม่ได้มีกฏเกณฑ์ว่าต้องสร้างอย่างไร แต่แก่นแท้ที่สำคัญจริงๆ นั่นคือ ชาวมุสลิมยึดมั่นในพระอัลเลาะห์องค์เดียว”
มัสยิดบางหลวง ตั้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก บันไดทางขึ้นทั้ง 2 ข้าง มีลวดลายศิลปไทยพลสิงห์และบังขั้น พื้นหน้ามุขปูด้วยกระเบื้องซีเมนต์ ขณะที่หน้าบันมีลักษณะของศิลป 3 ชาติ คือ
1. กรอบหน้าบัน (ศิลปไทย) เป็นเครื่องลำยองประดับห้ามลายไว้บนยอด
2. ใบหน้าบัน (ศิลปฝรั่ง) เป็นปูนปั้นลายก้านแย่งใบฝรั่งเทศ
3. ดอกไม้เป็นดอกเมาตาล (ศิลปจีน)
ประวัติของมัสยิดบางหลวง มัสยิดทรงไทยหนึ่งเดียวในโลก
ซึ่งลายศิลป 3 ชาตินี้ ได้นำมาประดับที่กรอบประตูและหน้าต่างทุกบานของมัสยิด ส่วนตัวอาคารที่เป็นปูนทาสีขาวล้วน จึงเป็นที่มาของชื่อว่ากุฎีขาว) ส่วนที่เป็นไม้ทาสีเขียว แม้ว่าตัวอาคารจะสร้างเป็นทรงไทย
แต่ผู้สร้างได้สอดแทรกหลักการทางศาสนาอิสลามไว้ด้วย คือ มีเสาค้ำยันชายพาไล จำนวน 30 ต้น (เท่ากับบทบัญญัติในคัมภีร์อัลกุรอาน ซึ่งมี 30 บท) ห้องละหมาดมี 12 หน้าต่าง 1 ประตู รวมเป็น 13 ช่อง (เท่ากับกฎละหมาด 13 ข้อ) และแบ่งพื้นที่แยกไว้สำหรับหญิงและชาย เนื่องจากห้ามละหมาดร่วมกัน
สถานที่ตั้งของมัสยิด อยู่ซอยมัสยิดบางหลวง ถนนอรุณอมรินทร์ตัดใหม่ แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพฯ มีรถโดยสารสาย 19, 56,57 ผ่าน โดยลงที่ป้าย สน. บุปผาราม แล้วเดินเข้าไปประมาณ 200 เมตร
นอกจากนี้ สามารถเดินทางไปได้ทางเรือ โดยขึ้นเรือหางยาวที่ท่าเรือราชินี ใกล้ปากคลองตลาด แล้วนั่งเรือข้ามฝั่งเข้าไปในคลองบางหลวง (คลองที่มีป้อมวิชัยประสิทธิ์ตั้งอยู่เป็นจุดสังเกต) มีท่าน้ำเล็กๆ อยู่ด้านซ้ายมือ ติดป้ายชื่อมัสยิดบางหลวง ชุมชนกุฎีขาว
ประวัติของมัสยิดบางหลวง มัสยิดทรงไทยหนึ่งเดียวในโลก
ประวัติของมัสยิดบางหลวง มัสยิดทรงไทยหนึ่งเดียวในโลก
ภาพจากอินเทอร์เน็ต
- เรื่องเล่ามุสลิมในแผ่นดินไทย สมเด็จพระเจ้าตากสิน เสด็จร่วมพิธีฝังศพ มัสยิดต้นสน
- มัสยิดกลางแจ้งกว่า 500 ปีในตุรกี ต้อนรับผู้มาเยือนหลายพันคนทุกปี (ชมภาพ)
- ตุรกีเร่งบูรณะมัสยิดเก่า 700 ปี จังหวัดอันทัลญ่า (ชมภาพ)
- มัสยิด 300 ปี ทรายขาว ประวัติ มัสยิดนัจมุดดินชุมชนทรายขาว ปัตตานี
- ประวัติ มัสยิดเด่นชัย หรือ มัสยิดกามาลุลอิสลาม จ.แพร่
- คุณใหม่ สิริกิติยา เยี่ยมชมมัสยิดอุสาสนอิสลาม สงขลา
- มัสยิด 300 ปี ที่ตะโละมาเนาะ ครั้งหนึ่ง เคยเป็นแหล่งผลิต คัมภีร์อัลกุรอานที่เขียนด้วยมือ