อาลัยโดมหอมแดง ใครที่ติดตามความเคลื่อนไหวของมัสยิดกลางประจำจังหวัดยะลา คงทราบว่า มัสยิดอยู่ระหว่างจะดำเนินการปรับปรุงรูปแบบโดมใหญ่ โดยมีการเปิดกล่องรับบริจาคต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว
อาลัยโดมหอมแดง มัสยิดกลางยะลา
จากเฟสบุ๊ก Ansori Sa-idi ได้โพสต์ข้อความระบุว่า... อาลัยโดมหอมแดง ใครที่ติดตามความเคลื่อนไหวของมัสยิดกลางประจำจังหวัดยะลา คงทราบว่า มัสยิดอยู่ระหว่างจะดำเนินการปรับปรุงรูปแบบโดมใหญ่ โดยมีการเปิดกล่องรับบริจาคต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว เพียงแต่ไม่รู้ว่าจะเป็นแบบไหน เพราะมัสยิดใช้คำว่า ปรับปรุงและซ่อมแซม
ปรับปรุง แปลว่า ของเดิมอาจชำรุดหรือไม่ก็ได้ ปรับปรุงเสร็จแล้ว อาจไม่เหมือนเดิม ดีกว่าเดิม
ซ่อมแซม แปลว่า ของเดิมชำรุด ซ่อมเสร็จแล้วดีเหมือนเดิม
ความเดิมก็คือ หลายปีมาแล้ว เมื่อมีฝนตกหนัก จะมีน้ำฝนรั่วลงจากโดมมานองที่พื้น มากน้อยตามความหนักของฝน โดยเฉพาะฝนปลายปี ทำให้พื้นที่ละหมาดใต้โดม ใช้ละหมาดไม่ได้ แถวละหมาดก็แหว่งไปหลายแถว จนกว่าฝนจะแล้ง ตรวจสอบสาเหตุพบว่า รั่วมาจากกระจก เหล็กขอบกระจกและซีล ที่เป็นรอยต่อของกลีบโดม ชำรุดเสื่อมสภาพ จากการใช้งานมาหลายสิบปี ส่วนโดมที่เป็นคอนกรีต ยังคงมีสภาพดี ส่วนที่ชำรุดสามมารถซ่อมแซมได้ กระจกแตกชำรุดซ่อมเปลี่ยนได้ เหล็กขอบกระจกผุกร่อนหมดสภาพ ซ่อมเปลี่ยนได้ ปัจจุบันมีวัสดุให้เลือกใช้หลากหลายที่แข็งแรง น้ำหนักเบา ดัดเข้ารูปง่ายและทนต่อการกัดกร่อน สรุปว่าซ่อมแซมได้หมด แต่การทำงานในที่สูงอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มบ้าง
อาลัยโดมหอมแดง มัสยิดกลางยะลา
แต่มัสยิดกลางยะลา เลือกวิธีปรับปรุง เพื่อทำโดมใหม่ มาครอบโดมเดิม
โดมมัสยิดอาจมีรูปทรงใด สุดแล้วแต่การเลือกแบบ อาจนำสถาปัตยกรรมจากต่างถิ่น เช่น ตะวันออกกลาง มีทรงโดมต่างๆ ให้เลือกหลากหลาย หรือรักษาสถาปัตยกรรมท้องถิ่นก็มี เช่น ทรงโบราณ หลังคากระเบื้องทรงจั่วสองหรือสามชั้นแทน เป็นต้น
เรามักจะมองโดมมัสยิดเป็นเพียงรูปแบบสัญลักษณ์ โดยลืมไปว่า แนวคิดสำคัญในการสร้างโดม คือ การระบายความร้อนออกจากภายในมัสยิด ที่เป็นปัญหาของเขตเมืองร้อน ที่ฐานของโดมจะทำเป็นช่องระบายอากาศออกไปด้านข้างโดยรอบ
เมื่ออากาศภายในมัสยิดร้อนขึ้น ก็ลอยขึ้นสูงไปที่ช่องลมที่ฐานโดมไหลออกไปภายนอก อากาศรอบมัสยิดที่เย็นกว่า จะไหลเข้ามาแทนที่ ทำให้ภายในมัสยิด อากาศเย็นสบายตลอดเวลา แม้จะปิดประตูหน้าต่างหมดทุกบาน แต่บางมัสยิดไม่เข้าใจแนวคิดนี้ กลัวฝนสาด ไปปิดช่องระบายอากาศที่ฐานโดมหมด ทำให้ต้องเสียค่าไฟฟ้าเปิดพัดลมระบายความร้อน เพิ่มขึ้นโดยใช่เหตุ ทั้งที่มีหลายวิธี ที่จะเปิดช่องระบายอากาศได้ โดยฝนไม่สาด
มัสยิดกลางยะลา สถาปนิกกรมศาสนายุคสี่สิบปีก่อน เลือกใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมท้องถิ่น เป็นทรงหัวหอม หรือ ภาษาท้องถิ่นเรียกหอมแดง มีลักษณะพิเศษ ที่ประกอบด้วยสองกลีบ ด้านหนึ่งกลีบใหญ่ แต่อีกด้านเล็กกว่าประกบกัน เป็นรูปทรงโดม ที่มีแห่งเดียวในเมืองไทย หรืออีกนัยหนึ่งเป็นแห่งเดียวในโลก เพราะหอมแดง มีเฉพาะแถบบ้านเรา บ้านอื่นเมืองอื่นเขามีเพียงหอมใหญ่ ไม่ก็กระเทียมเท่านั้น เป็นเอกลักษณ์ จนเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดยะลาไปแล้ว
แต่ก็มีบางเสียงบอกว่า เหมือนกลีบบัว ประมาณว่าเป็นบัวพุทธบูชาไปโน่น คาดว่าน่าจะเป็นเหตุจูงใจ ให้ผู้บริหารมัสยิด ลืมมองเอกลักษณ์ท้องถิ่น เลือกใช้วิธีทำโดมใหม่ครอบของเดิมแทนการซ่อม ที่ค่าใช้จ่ายถูกกว่ากันมาก
ลองพิจารณาดู ว่าจะให้โดมมัสยิดกลางยะลา เหมือนอะไรดี ระหว่างหอมแดงกับดอกบัว
ส่วนรูปแบบของโดมที่จะปรับปรุงใหม่ ทำมาจากโลหะคอมโพสิท ตัดเป็นริ้วแล้วมาเชื่อมต่อกันเป็นรูปโดม แล้วยกมาครอบโดมเดิม ดูคล้ายโดมทอง หรือโดมแห่งศิลา(Dome of the Rock مسجد قبة الصخرة)
รูปทรงของโดมหอมแดง มีความกลมกลืนกับโดมหออาซาน ที่ถูกออกแบบมาด้วยกัน ทั้งหน้ามุขบนชั้นสอง รวมถึงช่องกันสาดของอาคารทุกชั้น
อีกทั้ง เมื่อเทศบาลนครยะลาสร้างหอนาฬิกาบริเวณสี่แยกหน้ามัสยิดก็ยังทำโดมเล็กๆ บนหอนาฬิกา ให้ดูกลมกลืนกับภูมิทัศน์โดยรอบ
เดิมที ถ้ามองจากภายนอกมัสยิดเข้ามา จะเห็นสีขาวของตัวอาคาร ตัดกับสีธรรมชาติของอิฐแดง ที่ก่อผนังเพื่อให้เป็นช่องระบายอากาศและผนังกำแพง ผู้ออกแบบประสงค์จะให้โชว์สีอิฐธรรมชาติ ของผนังส่วนนี้ แต่ปัจจุบันบางส่วนถูกทาทับด้วยสีขาวบ้างชมพูบ้าง ดูด้อยคุณค่าลง หรือแม้แต่ตัวโดมทุกลูก ก็ถูกออกแบบให้เคลือบผิวด้วยกระเบื้องเซรามิค เพื่อให้สีผิวนอกเป็นสีธรรมชาติ มีความคงทนต่อการกัดกร่อน ไม่ต้องขึ้นไปที่สูงบำรุงรักษามาก แต่ก็ยังถูกทาสีทับ นัยว่าให้ดูสวยงาม โดยไม่รู้ว่า ผิวเซรามิคนั้น ไม่ได้ถูกผลิตมาเพื่อทาสีทับ แม้ทาไป ถูกแดดถูกฝนสองสามเดือน สีก็จะหลุดร่อน
อันที่จริง สัปปุรุษของมัสยิดกลางยะลาปัจจุบัน มีนักวิชาชีพหลากหลาย ทั้งครูอาจารย์ ช่าง สถาปนิก วิศวกร นักออกแบบ นักประวัติศาสตร์ นักการเงินการธนาคาร ฯลฯ บุคคลเหล่านี้คงจะยินดีหากได้รับการร้องขอให้เข้ามีส่วนร่วม ถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์ ช่วยพัฒนามัสยิดให้ถูกวิธี
มัสยิดกลางยะลา
บ้านเราเป็นเขตร้อนชื้น ความชื้นสัมพัทธิ์ของอากาศสูงกว่า 95% ตลอดทั้งปี หากเกรงว่าอิฐแดงส่วนที่โดนแดดโดนฝน จะขึ้นราหรือตะไคร่น้ำเกาะ ก็แก้ไขได้โดยทำความสะอาดแล้วลงแล็กเกอร์ นอกจากจะยังรักษาสีอิฐธรรมชาติสวยสะอาดตาแล้ว ยังยืดอายุใช้งานได้อีกมาก
หากเลือกใช้วิธีซ่อมแซม แทนการสร้างโดมใหม่ นอกจากจะรักษาเอกลักษณ์หนึ่งเดียวในโลก ให้อยู่คู่จังหวัดยะลาต่อไปแล้ว ยังประหยัดค่าใช้จ่ายได้หลายเท่า และอาจนำเงินบริจาคส่วนที่เหลืออีกมากนั้น ไปซ่อมสีภายนอกและภายในอาคาร ที่ขาดการบำรุงรักษามานานปีได้ด้วย โดยไม่ผิดวัตถุประสงค์ของสัปปุรุษผู้บริจาค และได้ผลบุญไม่น้อยกว่ากัน
งานใหญ่ๆ อย่างนี้ หากผู้บริหารมัสยิดจะเปิดโอกาส รับฟังความเห็นจากสัปปุรุษให้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ แทนการแจ้งข่าวสื่อสารทางเดียว อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเปิดกล่องรับความคิดเห็น หรือเปิด
เวที ให้ทำประชาพิจารณ์ หรือแม้แต่ทำประชามติ จะเป็นทางเลือกที่น่าจะได้รับการสนับสนุน สร้างความเข้าใจให้ประชาคมได้ดีกว่า
ใครที่อยากเก็บภาพโดมหอมแดง ไปเป็นที่ระลึก รีบนะครับ ก่อนจะสายเกินไป...
มัสยิดกลางยะลา
ประวัติมัสยิดกลางยะลา
มัสยิดกลางจังหวัดยะลา หรือ มัสยิดเราฏอตุลยันนะห์ มัสยิดใหญ่ประจำจังหวัดยะลา ความเป็นมาของมัสยิดกลางยะลาแห่งนี้ เมื่อราวปี พ.ศ. 2468 ซึ่งขณะนั้นนายอุสมาน ดอเฮะ ได้ซื้อที่ดินแปลงหนึ่งในเขตตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา มีเนื้อที่ประมาณ 250 ตารางวา เมื่อซื้อที่ดินแล้ว ก็ได้ลั่นวาจาว่า หากใครจะสร้างมัสยิด ข้าพเจ้าจะยกที่ดินแปลงนี้ให้ ต่อมาเมื่อชายผู้นี้ได้ถึงแก่กรรม จึงมีการก่อสร้างมัสยิดบนพื้นดินของเขา โดยมีหะยีอับดุลฮามิด อับดุลซอมัด เป็นอิหม่ามในสมัยนั้น และตั้งชื่อมัสยิดแห่งนี้ว่า “มัสยิดเราฏอตุลยันนะห์”
ต่อมาใน พ.ศ. 2499 รัฐบาลไทยได้ให้งบประมาณสนับสนุนในการขยายขนาดของตัวอาคารมัสยิดให้จุคนได้ 300 คน และในปี พ.ศ. 2522 รัฐบาลไทยก็สนับสนุนงบอีกประมาณ 28,200,000 บาท เพื่อขยายพื้นที่และสร้างอาคารมัสยิดจนมีรูปลักษณ์สวยงามดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน
ลักษณะสถาปัตยกรรมของมัสยิดกลางยะลา ตัวอาคารของมัสยิดได้รับการออกแบบโดยสถาปนิกของกระทรวงศึกษาธิการ มีลักษณะเป็นอาคาร 3 ชั้น กว้าง 30 เมตร ยาว 70 เมตร หออาซานสูง 38 เมตร โดยมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกที่สอดแทรก เส้นกรอบทรงสุเหร่าไว้อย่างกลมกลืน ด้านหน้ามัสยิดเป็นบันไดกว้าง มีขั้นบันไดประมาณ 30 ขั้น ทอดยาวสู่ลานชั้นบน และลักษณะของหลังคาก็เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม โดยมีโดมขนาดใหญ่วางอยู่ตรงกลางคล้ายรูปหอมแดง
http://news.muslimthaipost.com/news/33570
- มัสยิดเก่าแก่ของภูมิภาคฮาอีล อายุราว 105 ปี
- มัสยิดอินโดนีเซียมีจำนวนเท่าไหร่กันแน่ ชาวอินโดนีเซียเองยังไม่แน่ใจ
- องค์กรมุสลิมเคราล่า เข้มงวดใช้เครื่องขยายเสียงในมัสยิด
- 'นราธิวาส' เสนอสร้างมัสยิดกลางน้ำแห่งแรกของไทย
- โบสถ์ 500 แห่งในลอนดอนถูกเปลี่ยนเป็นมัสยิด
- ยังไม่เข็ด! ฟื้นจัดประกวด“การ์ตูนล้อศาสดามุฮัมมัด”