ประธานาธิบดีปูติน แห่งรัสเซีย ประกาศปฏิบัติการทางทหารในยูเครนแล้ว สงครามก็ให้เกิดความกังวลในหมู่พลเรือนที่อาศัยอยู่ในยูเครน โดยเฉพาะชุมชนชาวมุสลิมไครเมียตาตาร์
สำนักข่าวมุสลิมไทยโพสต์: ชะตากรรมมุสลิมตาต้าร์จะเป็นเช่นไร หลังรัสเซียบุกยูเครน
ประธานาธิบดีปูติน แห่งรัสเซีย ประกาศปฏิบัติการทางทหารในยูเครนแล้ว เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ประกาศดังกล่าวเตือนให้ทหารยูเครนวางอาวุธและกลับบ้านเรือน สงครามก็ให้เกิดความกังวลในหมู่พลเรือนที่อาศัยอยู่ในยูเครน โดยเฉพาะชุมชนชาวมุสลิมไครเมียตาตาร์ ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย
ชาวตาตาร์ไครเมีย เป็นชาวมุสลิมเชื้อสายเติร์ก พวกเขาถูกบังคับให้อพยพจากบ้านในปี 1944 และอีกครั้งในปี 2014 ตอนนี้พวกเขากำลังหวาดกลัวผลกระทบจากสงครามครั้งนี้
อิรฟาน คูดูซอฟ วัย 53 ปี เล่าว่า เขาเพิ่งมีอายุ 20 ปี เมื่อชาวไครเมียตาต้าร์เดินทางกลับมายังถิ่นกำเนิดในยูเครน หลังจากถูกบังคับเนรเทศนาน 45 ปี ในตอนนั้น คนสูงอายุถึงกับก้มจูบแผ่นดินทันทีที่ย่างเท้าลงจากเครื่องบิน ผู้คนร้องไห้ด้วยความปีติที่ได้กลับคืนสู่บ้านเกิด
ในปี 2014 ชาวตาตาร์ไครเมียหลายพันคน ถูกบังคับให้ต้องอพยพอีกครั้ง เมื่อรัสเซียผนวกดินแดนบ้านเกิดของพวกเขาเข้าในอาณัติ
ตาตาร์ไครเมียเป็นชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิม ที่มีถิ่นกำเนิดในคาบสมุทรไครเมีย บนชายฝั่งทางตอนเหนือของทะเลดำ ปีค.ศ.1944 โจเซฟ สตาลิน สั่งให้อพยพชาวตาตาร์ที่อาศัยอยู่ในไครเมีย ทั้งหมด 180,000 คน โดยบังคับให้ขึ้นรถไฟที่ใช้บรรทุกปศุสัตว์ เพื่อเนรเทศไปยังอุซเบกิสถาน
มีประมาณการณ์ว่า มีชาวตาต้าร์เสียชีวิตไปครึ่งหนึ่งระหว่างการเดินทาง หรืออาจจะด้วยโรคภัยไข้เจ็บ และความอดอยากที่ตามมาในช่วง 2 ปีแรกเมื่อไปถึงอุซเบกิสถาน หลายประเทศรวมทั้งยูเครน ถือว่า การเนรเทศนี้ถือเป็นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ด้วย
ในปี 1991 เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายลง คาบสมุทรนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของยูเครน และชาวตาตาร์ไครเมียจึงสามารถเดินทางกลับบ้านเกิดได้
อย่างไรก็ตาม แม้ได้กลับมาบ้านเกิดแล้ว แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะดำเนินชีวิตในดินแดนที่พวกเขาเคยรู้จัก หลายชุมชนต้องเผฃิญกับความท้าทาย เช่น การถูกกีดกันไม่ให้ซื้อ หรือเช่าบ้าน
นอกเหนือจากการถูกบังคับเนรเทศ ชาวตาตาร์ไครเมียต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติและการถูกตราหน้าหลายประการ เนื่องจากตลอดทศวรรษที่ผ่านมา สหภาพโซเวียตได้โฆษณาชวนเชื่อว่า ชาวตาตาร์ร่วมมือกับพวกนาซี ทั้ง ๆ ที่ชาวตาตาร์ไครเมียหลายหมื่นคนได้ทำงานรับใช้ในกองทัพแดง
เดือนมีนาคม 2014 รัสเซียผนวกดินแดนไครเมียอย่างเป็นทางการ หลังจากการลงประชามติที่มีความขัดแย้ง และไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ หลังจากนั้นกองกำลังรัสเซียเริ่มปราบปรามชาวตาตาร์ไครเมีย และนักเคลื่อนไหวที่สนับสนุนยูเครน ทางการรัสเซียยังสั่งห้ามการดำเนินงานของมัจลิส (Mejlis) ซึ่งเป็นองค์กรตัวแทนของชาวตาตาร์ไครเมีย โดยกล่าวหาว่า มีแนวคิดแบบสุดโต่ง
หลังจากการผนวกไครเมีย ชาวตาต้าร์ไครเมียราว 10% เดินทางย้ายจากคาบสมุทรไครเมียมาอาศัยอยู่ยังเมือง Kherson ซึ่งอยู่ทางใต้ของยูเครน หรือเมืองหลวงเคียฟ
คามิลา ยูรเชนโก เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานบริหารด้านศาสนาของชาวมุสลิมในยูเครน กล่าวว่า ขณะนี้ สถานประกอบการหลายแห่งรอบเมืองเคียฟ ติดธงตาตาร์ไครเมีย โดยมุสลิมชนกลุ่มน้อยนี้เป็นส่วนสำคัญในการหลอมรวม ของชุมชนมุสลิมจากชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในยูเครน
คาดว่า มีผู้ที่เรียกตัวเองว่าเป็นมุสลิมจากการปฏิบัติศาสนกิจถึงประมาณ 100,000 คน ในเมืองเคียฟเมืองเดียว มุสลิมจำนวนมากมาจากอุซเบกิสถาน อาเซอร์ไบจัน และคาซัคสถาน รวม ๆ แล้วมุสลิมในไครเมียมีประมาณ 400,000 คน โดยส่วนมากที่สุดเป็นชาวตาต้าไครเมีย
ส่วนใหญ่แล้ว อนาคตของชาวตาตาร์มุสลิมขณะนี้น่าจะขึ้นอยู่กับว่า ผลลัพธ์ของการสู้รบจะออกมาอย่างไร คามิลล่า กล่าวว่า ยูเครนเป็นบ้านเกิดของเรา และเรากังวลว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับยูเครน และจะเกิดอะไรขึ้นกับพวกเราอีก
ที่มา: www.indiatoday.in