
ปิดฉากลงอย่างสวยงามกับ 2 วันเต็มของการประชุมวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีฮาลาลในงาน “Thailand Halal Assembly 2022”
ศวฮ.นำพลังละมุนหนุนไทยขึ้นสู่ระดับผู้นำในเวทีฮาลาลโลก
ปิดฉากลงอย่างสวยงามกับ 2 วันเต็มของการประชุมวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีฮาลาลในงาน “Thailand Halal Assembly 2022” วันที่ 15 -16 ธันวาคม 2565 ภายใต้แนวคิด Soft Powering of Halal Science, Technology and Innovation อันประกอบไปด้วยกิจกรรมใหญ่ 3 กิจกรรม คือ การประชุมวิชาการนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮาลาล (IHSATEC) ครั้งที่ 15 การประชุมวิทยาศาสตร์ฮาลาล อุตสาหกรรมและธุรกิจ (HASIB) ครั้งที่ 15 และการประชุมนานาชาติว่าด้วยมาตรฐานและการตรวจรับรองฮาลาล ครั้งที่ 8 รวมถึงการจัดแสดงนิทรรศการวิชาการภายใต้หัวข้อ “Soft Powering of Halal Science, Technology and Innovation”
“ทั้ง 3 กิจกรรมนี้แสดงให้เห็นถึงวัตถุประสงค์ของการดำเนินการในการที่จะนำเอาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการสนับสนุนการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในเรื่องของฮาลาล สำคัญที่สุดคือประเทศไทยนั้นไม่ใช่เป็นประเทศมุสลิม สิ่งที่เราต้องการในฐานะที่เราเป็นประเทศผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ฮาลาล ออกไปทั่วโลก ซึ่งขณะนี้เราอยู่ในลำดับที่ 9 เราต้องการที่จะให้คนทั้งโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งมุสลิมสองพันล้านคนมีความเชื่อมั่นในคุณภาพ ในความเป็นฮาลาลของผลิตภัณฑ์ฮาลาลจากประเทศไทย ในขณะที่องค์กรทั่วโลกเค้ายอมรับนะครับว่าศักยภาพในเรื่องของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีของประเทศไทยค่อนข้างจะก้าวหน้า วันนี้เรานำเอาในเรื่องของดิจิตัล เทคโนโลยีเนี่ยสมานเข้ากับเรื่องของการรับรองฮาลาล ซึ่งต่อไปประเทศไทย จะเป็นแม่แบบในการที่จะทำให้ทั่วโลกนั้นเห็นได้ว่าถ้าต้องการที่จะทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อผลิตภัณฑ์ฮาลาลนั้นทำอย่างไร ประเทศไทยจะกลายเป็นแม่แบบที่ดี ปีนี้เราจัดงานโดยใช้สโลแกนเรื่องของ Soft Power ที่จะทำให้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมฮาลาลนั้น ถือเป็น Soft Power เราใช้คำในภาษาไทยว่า พลังละมุน คือการทำให้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมฮาลาลนั้นเป็นพลังละมุนในการที่จะนำประเทศไทยก้าวขึ้นสูระดับนำของการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล นะครับ อันนี้ก็เป็นวัตถุประสงค์หลักของการดำเนินงานในปีนี้” รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ ฮาลาล จุฬาฯ ประธานจัดงาน THA 2022 กล่าว
การจัดงาน THA 2022 ครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 9 ซึ่งได้ผลตอบรับและประสบความสำเร็จอย่างมาก มีชาวต่างชาติเข้าร่วมกว่า 40 ประเทศ มีผู้ลงทะเบียนทั้งออนไลน์และออฟไลน์กว่า 500 คน ผู้ร่วมประชุมรวมผู้เข้าร่วมออนไลน์ 1,500 คน นับเป็นงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมฮาลาลที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย
ผลสำเร็จนอกเหนือจากสารประโยชน์ที่ผู้เข้าร่วมประชุมจะได้นำกลับไปต่อยอดพัฒนากันแล้ว ยังมีผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมชัดเจนคือ ในวันที่ 16 ธันวาคม 2565 เวลา 9.00 น. มีการลงนาม MOU ระหว่างศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ กับสามสถาบันของประเทศอินโดนีเซีย ได้แก่ Universitas Islam Bandung (UNISBA) , Universitas Muhammadiyah A.R. Fachruddin และ Research Synergy Foundation (RSF) ซึ่งทางสองมหาวิทยาลัยจะส่งนักวิจัยมาร่วมงานกับทางศวฮ.อีกด้วย
ด้วยการผสานความร่วมมือของศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย ที่ทำให้งาน Thailand Halal Assembly เกิดขึ้นและต่อเนื่องยาวนานจวบจนปีที่ 9 สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะผลักดันฮาลาลไทยให้ตระหง่านสง่างามบนเวทีโลก ได้รับความเชื่อมั่นและยอมรับจากผู้บริโภค สามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ฮาลาลซึ่งเป็นตลาดใหญ่และมีกำลังซื้อสูง โดยมีมูลค่าตลาดทั่วโลกประมาณ 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ
“ขณะนี้เรื่องของการส่งออกฮาลาลจากประเทศไทยออกไปทั่วโลกมีมูลค่ามากกว่าสองแสนล้านนับเฉพาะ 57 ประเทศที่เป็นมุสลิม เป็นมูลค่าที่ให้คุณค่าอย่างมากมายกับประเทศไทยนะครับ เงินต่าง ๆ ที่ได้จะตกอยู่กับคนไทยแทบจะทั้งหมด ไม่ได้ตกอยู่กับองค์กรศาสนาอิสลาม หลายท่านอาจจะเข้าใจผิดว่าตกอยู่กับองค์กรศาสนาอิสลาม องค์กรศาสนาอิสลามมีส่วนได้แค่เรื่องของการรับรองซึ่งเป็นมูลค่าไม่เท่าไหร่นะครับ แต่ว่าประเทศไทยจะได้อย่างมหาศาลจากการทำงานขององค์กรศาสนาอิสลามในการที่จะทำให้ฮาลาล ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับและวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีเข้าไปช่วยสนับสนุนการรับรองนะครับ” รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน กล่าวทิ้งท้าย