อินโดนีเซียระงับการส่งออก 2 ใน 3 ของน้ำมันปาล์ม ก่อนเดือนรอมฎอนมาถึง
สำนักข่าวมุสลิมไทยโพสต์: เหตุอินโดนีเซียระงับส่งออกน้ำมันปาล์ม ก่อนเดือนรอมฎอน
รายงานของฝ่ายการเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) เปิดเผยว่า รัฐบาลอินโดนีเซียระงับการส่งออก 2 ใน 3 ของจำนวนน้ำมันปาล์ม เพื่อให้มั่นใจว่า จะมีน้ำมันปรุงอาหารพอใช้ในประเทศสำหรับเดือนรอมฎอน และเทศกาลอีดที่จะมาถึง
รายงานของเครือข่ายข่าวสารการเกษตรโลก (GAIN) ของ Foreign Agricultural Service (FAS) เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ระบุว่า การตัดสินใจดังกล่าวมีขึ้นเพื่อตอบสนองต่อราคาน้ำมันปรุงอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น
ในเดือนกุมภาพันธ์ รัฐบาลได้ตั้งเป้าเพิ่มปริมาณน้ำมันปรุงอาหารในประเทศ 50 % เป็น 450,000 ตัน ในช่วงก่อนและหลังเดือนรอมฎอนและเทศกาลอีด ซึ่งนำไปสู่การลดการส่งออกน้ำมันปาล์ม ระหว่าง 400,000 – 800,000 ตัน ตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ – 1 พฤษภาคม ที่จะถึงนี้ โดยมีการประกาศว่า ร้อยละ 66 ของใบอนุญาตส่งออกน้ำมันปาล์ม ที่ออกให้กับบริษัทที่ปฏิบัติตามนโยบายภาระผูกพันด้านตลาดภายในประเทศ ของรัฐบาล จะถูกระงับโดยมีผลทันที จนถึงวันที่ 1 พฤษภาคม ศกนี้
ผู้ส่งออกได้รับอนุญาตให้จัดส่งน้ำมันปาล์มส่วนที่เหลือ 34% และการระงับอาจถูกยกเลิกในต้นเดือนพฤษภาคม เพื่อรอการตรวจสอบจากรัฐบาลในการออกคำสั่งใหม่ต่อไป
รายงานระบุว่า นโยบายลดการส่งออกน้ำมันปาล์ม เพื่อพยุงราคาน้ำมันปรุงอาหารในประเทศ มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อความต้องการน้ำมันปาล์มทั่วโลก ในไตรมาสแรกของปี 2566
ราคาเฉลี่ยของน้ำมันปรุงอาหารที่ได้รับการอุดหนุนในอินโดนีเซีย เพิ่มขึ้น 7% จาก 0.93 ดอลล่าร์ต่อลิตร ในเดือนธันวาคม 2565 เป็น 0.99 ดอลล่าร์ต่อลิตร ณ เวลาที่มีการรายงาน
นอกจากราคาที่สูงขึ้นแล้ว ผู้บริโภคในหลายภูมิภาคของอินโดนีเซียรายงานว่า หาซื้อน้ำมันปรุงอาหารได้ยาก แม้ว่ากระทรวงพาณิชย์จะกำหนดวงเงินซื้อไว้ที่ 5 กิโลกรัม/คน ก็ตาม
ที่มา: www.ukragroconsult.com