นักการเมือง ชาวยิว มุสลิมในแคนาดา ร่วมประณามการโจมตีที่มัสยิดอัลอักซอ กำลังเป็นประเด็นที่ชาวแคนาดาจำนวนมากตกตะลึงและโกรธเคือง
สำนักข่าวมุสลิมไทยโพสต์: เหตุโจมตีมัสยิดอัลอักซอ นักการเมือง ชาวยิว มุสลิมในแคนาดาประณามสนั่น!
เหตุเจ้าหน้าที่อิสราเอลโจมตีศรัทธาชนชาวปาเลสไตน์ ที่มัสยิดอัลอักซอ ในกรุงเยรูซาเล็ม เมื่อตอนเช้าตรู่วันที่ 5 เมษายน ที่ผ่านมา กำลังเป็นประเด็นที่ชาวแคนาดาจำนวนมากตกตะลึงและโกรธเคือง และทำให้นักการเมืองและนักรณรงค์ร่วมกันประณาม
เหตุรุนแรงครั้งนี้เกิดขึ้นในเดือนรอมฎอนอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิม และวันดังกล่าวยังตรงกับคืนแรกของเทศกาลปัสกาของชาวยิวด้วย
ตำรวจอิสราเอลแถลงว่า ผู้ก่อการจลาจลหลายร้อยคนตั้งมั่นอยู่ในมัสยิด และขว้างปาดอกไม้ไฟ ก้อนหิน เข้าใส่เจ้าหน้าที่หลังจากที่มีการบุกเข้าไปด้านในมัสยิด หลังจากนั้น มีการใช้ระเบิดควันและระเบิดช็อต
นายกรัฐมนตรี จัสติน ทรูโด แสดงความห่วงกังวลเกี่ยวกับการกระทำของรัฐบาลอิสราเอล และเรียกร้องให้เกิดความสันติ รัฐมนตรีกิจการต่างประเทศ เมลานี โจลี ร่วมประณามการกระทำที่รุนแรงต่อศรัทธาชนชาวมุสลิม
มีการทวีตข้อความจากบุคคลที่มีชื่อเสียง และจากองค์กรต่าง ๆ ในแคนาดา เรียกร้องให้แคนาดาอย่าอยู่นิ่งเฉย และสนับสนุนให้ลุกขึ้นยืนหยัดให้กับความถูกต้อง
แอรอน ลาคอฟฟ์ ชาวยิวจากองค์กร Independent Jewish Voices Canada ซึ่งเป็นองค์กรที่รณรงค์เพื่อความยุติธรรมในสังคม และสิทธิมนุษยชนของคนทั้งโลก เรียกการโจมตีนี้ว่า ทำให้หัวใจสลายและเป็นการคาดเดาล่วงหน้าที่น่าเจ็บปวด
เขาทวีตข้อความว่า
“เราได้เห็นเจ้าหน้าที่อิสราเอลโจมตีศรัทธาชนชาวปาเลสไตน์ ที่มัสยิดอัลอักซอ เช่นนี้มาตลอด 3 ปีติดต่อกัน เรามีเทศกาลปัสกา เทศกาลอีสเตอร์ ที่อยู่ในช่วงเดียวกับเดือนรอมฎอน และนี่ควรจะเป็นช่วงเวลาที่มีความสุข และมีการเฉลิมฉลองร่วมกันทั้ง 3 ศาสนา แต่ชาวอิสราเอลที่พยายามแบ่งแยกทำให้มันเป็นไปไม่ได้ โดยการใช่ระบบความรุนแรงกระทำต่อชาวปาเลสไตน์”
เขายังเรียกร้องให้ชาวแคนาดาติดต่อกับผู้แทนราษฎร และเรียกร้องให้แคนาดา ประณามการกระทำของอิสราเอลอย่างแข็งขันมากขึ้น
“เราต้องการให้ผู้นำเปลี่ยนคำพูดเป็นการกระทำ กำหนดบทลงโทษที่มีนัยสำคัญต่ออิสราเอล เช่น ยุติการค้าอาวุธกับอิสราเอล และห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์จากการตั้งถิ่นฐานที่ผิดกฎหมาย”
สภาแห่งชาติของมุสลิมแห่งแคนาดา ออกคำแถลงเรียกร้องให้แคนาดายอมรับอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศในเรื่องนี้ เพื่อให้มีการสอบสวนและดำเนินคดีการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศในภูมิภาคอย่างเหมาะสม และว่า “หากเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชนแล้ว พวกเขาจำเป็นต้องยืนหยัดโดยไม่มีทางเลือก”
สภาแห่งชาติ ฯ ยังเรียกร้องให้แคนาดาแสดงจุดยืน ด้วยการห้ามนำเข้า ผลิตภัณฑ์ที่มาจากผู้ผลิตที่ตั้งถิ่นฐานอย่างผิดกฎหมาย ในปาเลสไตน์ และให้ออกระเบียบให้มีการติดฉลากที่มาของสินค้าอย่างชัดเจน เช่นเดียวกับที่มีการทำในสหภาพยุโรป
ที่มา: www.ca.news.yahoo.com