คนข้ามเพศในอินโดนีเซีย หวั่นเกรงความไม่แน่นอนของอนาคตหลังจากผู้นำเสียชีวิต
สำนักข่าวมุสลิมไทยโพสต์: คนข้ามเพศในอินโดนีเซีย หวั่นความไม่แน่นอนของอนาคต
อนาคตของชุมชนผู้หญิงมุสลิมข้ามเพศแห่งเดียวในอินโดนีเซียกำลังตกอยู่ในอันตราย หลังจาก ชินตา ราตรี (Shinta Ratri) ผู้นำของพวกเขาเสียชีวิตไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา และรัฐบาลระบุว่า ไม่อาจสนับสนุนพวกเขาได้อีกต่อไป
- Shinta Ratri ผู้ตั้งปอเนาะกระเทย เสียชีวิตแล้ว!
- ปอเนาะกระเทย คว้ารางวัลด้านสิทธิมนุษยชน
- ชีวิตเศร้าของกระเทย เมื่อโรงเรียนปอเนาะของพวกเขาถูกสั่งปิด!
มีผู้หญิงมุสลิมข้ามเพศ 63 คน รวมกันอยู่ในชุมชน อัล-ฟาตะฮ์ ซึ่งเป็นศูนย์หรือพื้นที่สำหรับพวกเธอในการละหมาด เรียนอัล-กุรอาน เรียนรู้ทักษะ และเป็นเพียงสถานที่เดียวที่พวกเธอสามารถเข้าสังคมได้ โดยไม่ถูกตัดสินหรือรังเกียจเดียดฉันท์
รินี กาเลง เป็นหนึ่งในสมาชิกของชุมชนนี้ หลังจากตื่นนอนในตอนเช้า รินีจะอาบน้ำ แต่งหน้า สวมวิกผมสีดำอันโปรด ฉวยกระเป๋าถือ และมุ่งตรงไปยังถนนเก่าแก่ของเมืองย็อกยาการ์ตา เธอเดินไกลเป็นไมล์ ๆ ในขณะที่เปิดเพลงจากลำโพงบลูทูธ และร้องเพลงเพื่อหาเลี้ยงชีพ แต่พอถึงช่วงบ่ายวันอาทิตย์ รินีจะไปยังชุมชนนี้ เพื่อเรียนอัล-กุรอานและสังสรรค์กับเพื่อน ๆ เธอมาที่นี่ตั้งแต่ปี 2014
ชินตา ราตรี (Shinta Ratri) ผู้นำเสียชีวิตแล้ว
นูร อายู ผู้ดูแลศูนย์แห่งนี้ กล่าวว่า ศูนย์อิสลามหลายแห่งไม่ยอมรับมุสลิมข้ามเพศ แต่เมื่อเข้ามาที่นี่ พวกเขามีอิสระ ไม่ว่าจะมาในแบบการแต่งกายชาย หรือหญิง
นูร อธิบายถึงชินตา ว่า เป็นแสงสว่างนำทาง และเป็นคนที่ทำให้ที่นี่เหมือนครอบครัว เมื่อไม่มีเธอ ศูนย์นี้ก็เหมือนว่างเปล่าและอ้างว้าง การเสียชีวิตของชินตาทำให้อนาคตของศูนย์ตกอยู่ในความไม่มั่นคง อาคารหลังนี้เป็นของครอบครัวของชินตา และพวกเขาได้ขอให้ย้ายศูนย์อัล-ฟาตะฮ์ ออกไปที่อื่น “เราต้องทำให้ศูนย์อยู่ได่แม้ชินตาจะไม่อยู่แล้ว”
YS Albuchory เลขาธิการศูนย์ อธิบายว่า พวกเขาได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนในชุมชน และองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและทั่วโลก “แต่การยอมรับในชุมชนคนข้ามเพศของสถาบันทางศาสนาของอินโดนีเซียมีขอบเขตจำกัด”
“แม้รัฐจะไม่ได้เป็นศัตรูอย่างแข็งขัน และอนุญาตให้ดำรงอยู่ได้ แต่ก็ไม่ได้ให้การสนับสนุนโดยตรงแต่อย่างใด” วาร์โยโน อับดุล กอฟูร ผู้อำนวยการศูนย์อิสลาม แห่งกระทรวงศาสนาของอินโดนีเซีย กล่าวว่า เขาตระหนักถึงชะตากรรมของศูนย์ แต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถสนับสนุนศูนย์นี้ได้ เนื่องจากไม่นับเป็นศูนย์อิสลามที่ถูกต้องตามระเบียบของรัฐ”
เขายังกล่าวว่า รัฐสนับสนุนกิจกรรมเชิงบวกทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการสอนศาสนา การละหมาด แต่ความจริงก็คือ สังคมยังคงปฏิเสธสถานะทางสังคม และศาสนาของคนข้ามเพศ จะเห็นได้จากการที่กระทรวงศาสนา ไม่เคยติดต่อโดยตรงกับศูนย์อัล-ฟาตะฮ์ หรืออำนวยความสะดวกในกิจกรรมใด ๆ เลย
Rully Mallay ผู้นำคนหนึ่งของศูนย์ อัล-ฟาตะฮ์ คิดในทางที่ดีว่า สักวันหนึ่ง ชุมชนคนข้ามเพศจะต้องได้รับการยอมรับมากขึ้นในดินแดนแห่งความหลากหลายนี้ “อิสลามน่าจะมีพื้นที่ให้สำหรับทุกคนที่จะปฏิบัติศาสนกิจอย่างเสรี ตามแนวทางของศาสนา การที่จะได้รับการปกป้องจากรัฐบาลเป็นเรื่องที่ดี และพวกเราก็คิดในทางบวกว่า ในอนาคตอินโดนีเซียจะยอมรับเราเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ ตามอุดมคติของอินโดนีเซียที่ว่า - เอกภาพในความหลากหลาย-“
ที่มา: www.bbc.com