เอมิเรตส์ปรับกฎหมายครอบครัวใหม่ ใช้เฉพาะผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น
สำนักข่าวมุสลิมไทยโพสต์: เอมิเรตส์ปรับกฎหมายครอบครัวใหม่ ใช้เฉพาะผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา อะบูดาบี เปิดเผยว่า จะเปลี่ยนแปลงระบบศาลครอบครัวทั่วเอมิเรตส์ ที่อนุญาตให้คู่สามี-ภรรยา ที่ไม่ใช่มุสลิมสามารถหย่าและแต่งงานได้ในกระบวนการทางกฎหมายที่ไม่ใช่ชารีอะฮ์
กฎหมายของรัฐบาลกลางที่ใช้กับชาวต่างชาติที่ไม่ใช่มุสลิม ครอบคลุมประเด็นสำคัญในครอบครัว เช่น การแต่งงาน การหย่า มรดก และการดูแลบุตร รวมทั้งเป็นการกำหนดให้สิทธิ์เท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง
ก่อนหน้านี้ คู่สามี-ภรรยา ที่ขอหย่าในศาลท้องถิ่น จะต้องปฏิบัติตามกระบวนการชาริอะฮ์ ซึ่งแตกต่างอย่างมากจากสิ่งที่พวกเขาอาจจะคุ้นเคยในประเทศบ้านเกิด ทำให้หลายคนเลือกที่จะแต่งงาน หย่าร้าง หรือทำพินัยกรรมในประเทศอื่นแทน
กฎหมายต่าง ๆ ที่จะมีการเปลี่ยนแปลง เช่น การแต่งงาน ซึ่งต่อไปบ่าว-สาวที่ไม่ใช่มุสลิมสามารถแต่งงานได้ตามความพึงพอใจชองทั้งคู่ โดยเจ้าสาวไม่ต้องได้รับความยินยอมจากบิดาหรือมะฮฺรอม รวมทั้งไม่จำเป็นต้องมีพยานที่เป็นชายในการแต่งงาน ขั้นตอนการแต่งงานที่ศาลในอะบูดาบี จะใกล้เคียงกับการจดทะเบียนแต่งงานที่สำนักทะเบียนในสหราชอาณาจักร หรือประเทศในยุโรป
การหย่าร้าง: ภายใต้กฎหมายใหม่ คู่สมรส มีสิทธิในการหย่าร้างโดยไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ว่ามีการทำร้ายกันเกิดขึ้นหรือไม่ ทั้งสามีและภรรยา สามารถร้องต่อศาลให้ยุติการสมรส โดยไม่จำต้องพิสูจน์ว่ามีฝ่ายใดทำความผิด
คู่สมรสสามารถหย่าได้ในการพิจารณาคดีครั้งแรก โดยไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการให้คำปรึกษา แนะนำ หรือไกล่เกลี่ยภาคบังคับ เงินสนับสนุนหรือค่าเลี้ยงดู และคำขออื่น ๆ จะถูกส่งโดยใช้ “แบบฟอร์มคำขอหลังการหย่าร้าง” ในกรณีที่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับคำขอทางการเงิน จะมีการพิจารณาปัจจัยหลายประการ รวมถึงระยะเวลาของการสมรส อายุของภรรยา และสถานทางการเงินของคู่สมรสแต่ละราย
การดูแลบุตร: ผู้ปกครองจะได้รับอนุญาตให้ดูแลบุตรร่วมกัน และเท่าเทียมกันโดยอัตโนมัติหลังการหย่า โดยมีขั้นตอนในการระงับข้อพิพาท ตามกฎหมายดั้งเดิม แม่จะได้รับสิทธิในการดูแลลูกชายจนเขามีอายุ 11 ปี และลูกสาวจนอายุ 13 ปี พ่อสามารถอ้างสิทธิ์ในการดูแลบุตรชาย-หญิงได้ เมื่อเด็กมีอายุถึงเกณฑ์ดังกล่าว
มรดก: กฎหมายใหม่รับรองสิทธิของชาวต่างชาติที่จะทำพินัยกรรม เพื่อมอบทรัพย์สินของเขาให้กับใครก็ได้ตามความประสงค์ ในกรณีที่ไม่มีพินัยกรรม ทรัพย์สินครึ่งหนึ่งจะตกเป็นของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งจะแบ่งให้กับบุตรของผู้ตายเท่าๆ กัน
ตามหลักชารีอะฮ์ ลูกชายจะได้มรดกมากกว่าลูกสาว ถ้าผู้เสียชีวิตไม่มีบุตร ทรัพย์มรดกจะตกแก่บิดา-มารดาของผู้ตาย หรือแบ่งเป็น 2 ส่วนเท่ากัน ให้กับ บิดา-มารดา ที่ยังมีชีวิต และพี่-น้องของเจ้ามรดก
การพิสูจน์ความเป็นพ่อ: กฎหมายใหม่ระบุว่า การพิสูจน์ความเป็นพ่อของผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม จะขึ้นอยู่กับการแต่งงาน หรือการรับรองความเป็นพ่อ สามารถทำการตรวจ ดีเอ็นเอ. หากไม่ทราบผู้ปกครอง
ที่มา: www.thenationalnews.com
https://news.muslimthaipost.com/news/36835
ข่าวที่น่าสนใจ
- ประธานาธิบดีเอมิเรตส์ และมกุฎราชกุมารซาอุดีฯ ผนึกกำลังเจรจาไกล่เกลี่ยแลกตัวนักโทษอเมริกัน-รัสเซีย
- งานแต่งมุสลิม อุละมะอฺอินเดียสั่งห้าม 3 อย่างนี้ ละเมิดปรับหนัก!
- ตอลิบันประหารชีวิตนักโทษในที่สาธารณะครั้งแรก หลังเข้าบริหารอัฟกานิสถาน
- ทีมเยอรมนีปิดปากถ่ายรูป ประท้วงฟีฟ่าห้ามหนุนรักร่วมเพศ
- สถาบันศาสนาอียิปต์ เปิดตัวแอปฯ “ฟัตวาโปร”