ที่ประชุมสหประชาชาติเน้นย้ำถึงการสนับสนุนของโมร็อกโกที่มีต่อปาเลสไตน์
สำนักข่าวมุสลิมไทยโพสต์: ประชุมสหประชาชาติ เน้นย้ำหนุนโมร็อกโกต่อปาเลสไตน์
ราบัต - นายโอมาร์ กอดิรี รองผู้แทนถาวรของโมร็อกโกประจำสหประชาชาติ แถลงว่า กษัตริย์โมฮัมมัด ที่ 6 แห่งโมร็อกโก ทรงติดตามพัฒนาการเกี่ยวกับประเด็นปาเลสไตน์อย่างใกล้ชิด และไม่เคยทรงหยุดที่จะย้ำถึงความจำเป็น ที่จะต้องรักษาสถานะของนครเยรูซาเล็มให้คงเดิม ทั้งในด้านนิตินัย ประวัติศาสตร์ ความรุ่งเรือง ศาสนา และประชากร
นายโอมาร์ กอดิรี รองผู้แทนถาวรของโมร็อกโกประจำสหประชาชาติ
นายโอมาร์ ให้ความเห็นนอกรอบ ขณะที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเปิดการอภิปรายในประเด็น “สถานการณ์ในตะวันออกกลาง รวมทั้งปัญหาปาเลสไตน์” ที่สำนักงานใหญ่ นครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 18 มกราคม ที่ผ่านมา
เขายังได้กล่าวถึงการดำริของกษัตริย์โมฮัมเหม็ด ที่ 6 ที่มุ่งสนับสนุนประเด็นปาเลสไตน์ ในเวทีระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่พระองค์ และสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ทรงลงนามร่วมกันใน “ข้อเสนออัลกุดส์” เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2019
ข้อเสนอนี้เรียกร้องให้ทุกฝ่าย “ยอมรับในเอกลักษณ์ และลักษณะอันศักดิ์สิทธิ์ของเยรูซาเล็ม รวมทั้ง “ความสำคัญทางจิตวิญญาณ” ของเยรูซาเล็มต่อศรัทธาชน โดยข้อเสนอนี้มุ่งหวังปกป้องเมืองแห่งประวัติศาสตร์นี้ ให้เป็น “มรดกร่วมกันของมนุษยชาติ”
“ข้อเสนออัลกุดส์” นี้เน้นย้ำความสำคัญในการอนุญาตให้ศาสนิกชนของทั้ง 3 ศาสนา (ที่นับถือพระเจ้าองค์เดียว) สามารถเดินทางไปยังพื้นที่ศาสนสถานของตน และปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างเสรี
นายโอมาร์ ยังได้กล่าวถึงความสำคัญของคณะกรรมการอัลกุดส์ ซึ่งกษัตริย์โมฮัมเหม็ด ที่ 6 ทรงรับเป็นประธานคณะกรรมการ รวมทั้งหน่วยงาน Bayt Mal Al-Quds ที่ได้ร่วมสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ตลอดมา
หน่วยงาน “บัยต์ มัล อัลกุดส์ – Bayt Mal Al-Quds Agency” ก่อตั้งขึ้นโดยอดีตกษัตริย์ฮัสซันที่ 2 แห่งโมร็อกโก ในปี 1995 (2538) เพื่อให้การช่วยเหลือชาวปาเลสไตน์ในหลาย ๆ ด้าน เช่น ด้านการศึกษา สังคม เศรษฐกิจ สุขภาพ และวัฒนธรรม โดยคาดหวังให้ชาวปาเลสไตน์มีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ระหว่างปี 2000 – 2022 “บัยต์ มัล อัลกุดส์” จัดหาความช่วยเหลือด้านการพัฒนา มูลค่า 64 ล้านดอลล่าร์ ให้แก่ภาคส่วนต่าง ๆ ในเยรูซาเล็ม
โอมาร์ ยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของประเด็นปาเลสไตน์ ต่อประชาคมระหว่างประเทศ ว่า “เสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคนี้ ขึ้นอยู่กับการแก้ปัญหาที่ยุติธรรมและยั่งยืน ภายใต้กรอบของกฎหมายระหว่างประเทศ และมติของคณะมนตรีความมั่นคงที่เกี่ยวข้อง”
ที่มา: www.moroccoworldnews.com