แจ้งกำหนดเลือกจุฬาราชมนตรี คนที่ 19 โดยกำหนดวันประชุม วันพุธที่ 22 พฤศจิกายน 2566
แจ้งกำหนดเลือกจุฬาราชมนตรี คนที่ 19
ประกาศกระทรวงมหาดไทย
เรื่อง การประชุมสรรหาและให้ความเห็นชอบผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี
ด้วยนายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2566 เป็นเหตุให้ตำแหน่งจุฬาราชมนตรีว่างลง ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 และข้อ 1 ของกฎกระทรวง (พ.ศ. 2542) ออกตามความในพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจึงประกาศกำหนดวัน เวลา และสถานที่ประชุมสรรหา และให้ความเห็นชอบผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ดังต่อไปนี้
1. วันประชุม วันพุธที่ 22 พฤศจิกายน 2566
2. เวลาประชุม ตั้งแต่เวลา 08.00 นาฬิกา เป็นต้นไป
3. สถานที่ประชุม อาคารหอประชุม ศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ
กรมการปกครอง ถนนคลองเก้า แขวงคลองสิบ เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร โดยให้กรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศเข้าร่วมประชุมสรรหาและให้ความเห็นชอบผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีตามวัน เวลา และสถานที่ ดังกล่าวข้างต้นโดยพร้อมเพรียงกัน
ประกาศ ณ วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2566
(นายอนุทิน ชาญวีรกูล)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
- จุฬาราชมนตรีในยุคกรุงศรีอยุธยา มีใครบ้าง?
- นายอาศิส พิทักษ์คุมพล ประวัติ จุฬาราชมนตรี คนที่ 18
- มัสยิดกลางสงขลา ทัชมาฮาลเมืองไทย ดำริโดยจุฬาราชมนตรี อาศิส
ตามกฎหมายการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 จะต้องมีการประชุม สรรหา และลงคะแนนเลือกจุฬาราชมนตรีคนใหม่ จากกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศ
โดยตำแหน่งจุฬาราชมนตรี คือ ประมุขของผู้นับถือศาสนาอิสลามในประเทศไทย เปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ ก็เหมือน “สมเด็จพระสังฆราช” เพียงแต่ที่มาของการดำรงตำแหน่งแตกต่างกันไปตามที่กำหนดในกฎหมาย
ฉะนั้นช่วงนี้จึงถือเป็นช่วงที่ไม่มีประมุขของศาสนาอิสลามในประเทศไทย กฎหมายกำหนดให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดำเนินการ
ล่าสุด นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศกำหนดการประชุมสรรหา และให้ความเห็นชอบผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีแล้ว โดยกำหนดวันประชุม วันพุธที่ 22 พฤศจิกายน 2566 เวลาประชุม ตั้งแต่เวลา 08.00 น. เป็นต้นไป
สถานที่ประชุม คือ อาคารหอประชุม ศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ กรมการปกครอง ถนนคลองเก้า แขวงคลองสิบ เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร โดยให้กรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศเข้าร่วมประชุมสรรหาและให้ความเห็นชอบผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี
เปิด 4 ขั้นตอนเลือกจุฬาราชมนตรี
ตามกฎหมาย การสรรหาจุฬาราชมนตรีมี 4 ขั้นตอน
ขั้นตอนที่ 1 - เมื่อตำแหน่งจุฬาราชมนตรีว่างลง ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนดวัน เวลา และสถานที่ประชุมสรรหาและให้ความเห็นชอบผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี
ขั้นตอนที่ 2 - จัดประชุมกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศ โดยองค์ประชุมต้องมีกรรมการอิสลามมาร่วมไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมการที่มีอยู่
จากการตรวจสอบผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกจุฬาราชมนตรี คือ กรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 40 จังหวัด (คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ไม่ได้มีครบทุกจังหวัด) มีจำนวนทั้งสิ้น 816 คน
ขั้นตอนที่ 3 - การเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี กรรมการอิสลามประจำจังหวัดแต่ละท่าน เสนอได้ 1 ชื่อ มีผู้รับรอง 20 คน ถ้าเสนอชื่อเดียว ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี
ถ้ามีผู้ได้รับการเสนอชื่อมากกว่า 1 ชื่อ แต่ไม่เกิน 3 ชื่อ ให้ประธานจับสลากกำหนดหมายเลข
ถ้ามีผู้ได้รับการเสนอชื่อมากกว่า 3 ชื่อ ให้ประธานจับสลากเลือกรายชื่อกรรมการอิสลามประจำจังหวัด จังหวัดละหนึ่งชื่อ เป็นคณะกรรมการสรรหาผู้ได้รับการเสนอชื่อให้เหลือเพียง 3 ชื่อ หากคะแนนออกมาเท่ากัน ให้ประธานจับสลาก
ขั้นตอนที่ 4 - ลงคะแนน โดยวิธีลงคะแนนลับ
บัตรลงคะแนน ใช้บัตรลงคะแนนของกระทรวงมหาดไทย
ระยะเวลาในการลงคะแนน ให้ที่ประชุมกำหนด
ผู้ได้รับคะแนนสูงสุด เป็นผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ถ้าคะแนนสูงสุดเท่ากัน ให้เลือกใหม่เฉพาะผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดเท่ากัน ถ้ายังเท่ากันอีก ให้ประธานจับสลาก
คุณสมบัติ-ลักษณะต้องห้ามของจุฬาราชมนตรี
ในส่วนของคุณสมบัติผู้ที่จะเสนอตัวเป็นจุฬาราชมนตรี
- ต้องเป็นมุสลิมผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
- มีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปีบริบูรณ์
- มีความรู้ความเข้าใจในศาสนาอิสลาม
- ประพฤติปฏิบัติตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลามโดยเคร่งครัด
- มีความสัมพันธ์อันดีกับทุกศาสนา
- มีความเลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ลักษณะต้องห้ามของจุฬาราชมนตรี
- ต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลาย
- ไม่เป็นผู้เคยถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
- ไม่เป็นผู้ทุพพลภาพจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ไร้ความสามารถ หรือมีจิตฟั่นเพื่อน ไม่สมประกอบ หรือเป็นโรคตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
- ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
สำหรับอำนาจหน้าที่ของจุฬาราชมนตรี คือ
- ให้คำปรึกษาและเสนอความเห็นต่อทางราชการเกี่ยวกับกิจการศาสนาอิสลาม
- แต่งตั้งคณะผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม
- ออกประกาศแจ้งผลการดูดวงจันทร์ เพื่อกำหนดวันสำคัญทางศาสนา
- ออกประกาศเกี่ยวกับข้อวินิจฉัยตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม
ท่านไหน! ที่คุณชอบ!!! เปิดโผ ว่าที่จุฬาราชมนตรี คนที่ 19
มุสลิมไทยโพสต์ สำรวจข้อมูลและกระแสพร้อมประมวลในภาพรวมคาดว่า จุฬาราชมนตรีของประเทศไทย ท่านที่ 19 จะมีการนำเสนอชื่อ ดังต่อไปนี้
1. นายอรุณ บุญชม ประธานกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร
นายอรุณ บุญชม ว่าที่จุฬาราชมนตรี คนที่ 19
ประวัตินายอรุณ บุญชม จบปริญญาตรี สาขาอัลฮะดีษและอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยอิสลาม ประเทศซาอุดีอาระเบีย และปริญญาตรี สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เคยสอนอิสลามศึกษา และภาษาอาหรับ ระดับซานะวีย์ ที่โรงเรียนมิฟตาฮุ้ลอุลูมิดดีนียะห์ (บ้านดอน) เป็นอิหม่ามประจำมัสยิดดารุ้ลมุห์ซีนีน (สุเหร่าบ้านดอน) กรุงเทพมหานคร เป็นประธาน กกอ. กรุงเทพฯ รองประธาน กกอ. แห่งประเทศไทย ประธานคณะผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี ประธานคณะกรรมการเมืองไทยชารีอะห์ และอุปนายกสมาคมคุรุสัมพันธ์อิสลามแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
2. นายประสาน ศรีเจริญ ผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี
นายประสาน ศรีเจริญ ว่าที่จุฬาราชมนตรี คนที่ 19
ประวัตินายประสาน ศรีเจริญ หรือชารีฟ จบปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์อิสลาม มหาวิทยาลัยอิสลาม ประเทศซาอุดีอาระเบีย เคยเป็น ประธาน กกอ. กรุงเทพฯ วิทยากรประจำสำนักอภิธรรมอันยุมันอิสลาม เจริญกรุง บางรัก นายกสมาคมคุรุสัมพันธ์อิสลามแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นผู้ประเมินผลการปฏิบัติงาน กกอ. ประจำจังหวัด รองประธานคณะผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี และประธานฝ่ายวิชาการ คณะทำงานอะมีรุ้ลฮัจย์ ประจำปี 2566
3. ดร.วิสุทธิ์ บินล่าเต๊ะ กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย
ดร.วิสุทธิ์ บินล่าเต๊ะ ว่าที่จุฬาราชมนตรี คนที่ 19
ประวัติดร. วิสุทธิ์ บินล่าเต๊ะ จบปริญญาตรี สาขาภาษาอาหรับ มหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร ประเทศอียิปต์ ปริญญาโท สาขาภาษาอาหรับ มหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติ ประเทศมาเลเซีย และปริญญาเอก สาขาวัฒนธรรมศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ เคยเป็นอิหม่ามมัสยิดบ้านเหนือ สงขลา หัวหน้าฝ่ายวิชาการและกิจการต่างประเทศ กกอ. สงขลา อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยทักษิณ และมหาวิทยาลัยฟาฎอนี ผู้รับใบอนุญาตโรงเรียน กัลป์ยาณชนรังสรรค์มูลนิธิ ประธานฝ่ายวิชาการ การศึกษาและการบริหารกองทุนวากัฟ คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานสำนักจุฬาราชมนตรีภาคใต้
ทั้งนี้ในภาพรวมของสังคมมุสลิมปรากฏภาพชัดว่า จะต้องมีการนำเสนอรายชื่อบุคคลดังกล่าวนี้และจะมีการรับรองชื่อ ซึ่งก็จะมีการคัดเลือกในวันที่ 22 พ.ย.2566 ตามประกาศของกระทรางมหาดไทย
โดยแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือคาดว่า หลังจากมีการเสนอชื่อบุคคลต่างๆ แล้วนั้น เพื่อความสง่างาม ก็จะมีการถอนถือและอาจจะเหลือเพียงคนเดียว จะทำให้การได้มาของผู้นำมุสลิมเป็นไปอย่างสง่างามที่สุด
โดยผู้ที่จะทำหน้าคัดสรรจุฬาราชมนตรี คือท่านกรรมการอิสลามประจำจังหวัดจากทั่วประเทศไทยนั้นเอง สามารถติดตามบรรยากาศการสรรหาจุฬาราชมนตรีได้ผ่านทาง เพจมุสลิมไทยโพสต์ ในวันดังกล่าว
https://news.muslimthaipost.com/news/37773
บทความที่น่าสนใจ