
จุฬาราชมนตรีในยุคกรุงศรีอยุธยา ประวัติศาสตร์ผู้นำไทยมุสลิม
จุฬาราชมนตรีในยุคกรุงศรีอยุธยา มีใครบ้าง?
นับตั้งแต่ "ท่านพระยาจุฬราชมนตรี เฉค อะหมัด" หรือ ท่านเจ้าพระยาบวรราชนายก ที่นับเป็นจุฬราชมนตรีคนแรกของประเทศไทย ที่เป็นชาวมุสลิมชีอะห์แล้ว ตำแหน่งจุฬาราชมนตรีในแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาก็ได้สืบต่อกันมา แต่มีเพียง 4 ท่านเท่านั้น โดยท่านแรกคือ ท่านเฉค อะหมัด ท่านต่อมาคือ พระยาจุฬาราชมนตรี (แก้ว) พระยาจุฬาราชมนตรี (สน) และพระยาจุฬาราชมนตรี (เชน)
- เฉค อะหมัด ปฐมจุฬาราชมนตรีแห่งสยาม
- จุฬาราชมนตรี ครั้นเผชิญวิกฤติศรัทธากับปัญหาชายแดนใต้
- จุฬาราชมนตรีตำแหน่งคู่ราชบัลลังก์
- เปิดรายนามจุฬาราชมนตรีของไทยถึงคนปัจจุบัน
จุฬาราชมนตรี (แก้ว)
พระยาจุฬราชมนตรี (แก้ว) เป็นน้องชายของเจ้าพระยาศรีไสยหาญณรงค์ (ยี) และเป็นบุตรของพระยาศรีนวรัตน์ (อากา มะหะหมัด) เป็นหลานปู่ของท่านเฉค สะอิด ที่เดินทางกลับไปเปอร์เชียก่อนหน้านี้แล้ว โดยที่ไม่กลับมากรุงศรีอยุธยาอีกเลย และเป็นหลานตาของท่านจุฬราชมนตรีเฉค อะหมัด เจ้าพระยาบวรราชนายก จางวางมหาดไทย ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองนั่นเอง
พระยาจุฬาราชมนตรี (แก้ว) นับเป็นหัวหน้ามุสลิมในสมัยกรุงศรีอยุธยาคนที่สอง ต่อจาก ท่านจุฬาราชมนตรี เฉค อะหมัด
นายแก้วซึ่งเคยถวายตัวเป็นมหาดเล็กในแผ่นดินพระนารายณ์มหาราช จนกระทั่งต่อมาได้รับการเลื่อนยศเป็น หลวงศรียศ (แก้ว) และต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็นพระยาจุฬาราชมนตรีเจ้ากรมท่าขวา
อาลี เสือสมิง ได้เขียนไว้ในหนังสือ ประวัติศาสตร์ขุนนางมุสลิมสยาม (หน้า 181 - 182) ระบุว่า ในหนังสือ Adventure in Siam in the Sventeenth Century ของ Mr.E.W.Huchinson ตีพิมพ์ในนามของ The Royal Asiatic Society ที่ลอนดอน เมื่อปี ค.ศ. 1940 หน้า 232 มีปรากฏคำแปลจดหมายที่ออกญาวิชาเยนทร์ (ก๊องสตังค์ ฟอนคอล) เขียนที่เมืองละโว้ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2229 (ค.ศ. 1689) ถึงบาทหลวงเดอลาแซส ความว่า
"..ในวันสุดท้ายของเดือนมกราคมปีนี้ ข้าพเจ้าในนามออกญาพระคลังได้ส่งขุนนางคนหนึ่ง ซึ่งในเวลานั้นเป็นหลวงจุฬา แต่ต่อมาเป็นพระยาจุฬาไปเมืองปัตตาเวีย เพื่อเจรจาเรื่องที่เกิดขึ้น ที่เมืองสูรัต และเมืองมะละกา"
ครั้นจากการตรวจสอบดูพระยาจุฬาที่ถูกกล่าวถึง ก็น่าจะเป็นพระยาจุฬาราชมนตรี (แก้ว) ซึ่งในยุคนั้นมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างพวกคริสต์กับพวกมุสลิมมาก และในที่สุดพวกมุสลิมก็ถูกใส่ร้ายจากนายฟอนคอล
นายฟอนคอลผู้นี้เป็นชาวกรีก มาจากเกาะชีฟาโลเนีย ชื่อเดิมคือ นายฟอนคอล สแตนติโนส เยราเคส ได้เข้ามาค้าขายในอยุธยา และได้รับการโปรดปรานจากสมเด็จพระนารายณ์ จนต่อมาได้รับการโปรดเกล้าๆ ให้เป็นเจ้าพระยาวิชาเยนทร์
หลวงศรียศ (แก้ว) หรือพระยาจุฬาราชมนตรี ท่านผู้นี้ได้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และดำรงตำแหน่งต่อมายังในสมัยของพระเพทราชา นับเป็นจุฬาราชมนตรีผู้นำมุสลิมในประเทศไทย ลำดับชั้นที่ 2 ในสายสกุลของ ท่านเฉค อะหมัด โดยท่านไม่มีบุตรธิดาสืบสกุลเลย
ภาพจุฬาราชมนตรี (สิน)
จุฬาราชมนตรี (สน)
ครั้นสิ้นจุฬาราชมนตรีในสมัยพระเพทราชา ลุล่วงมายังแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศของกรุงศรีอยุธยา ได้สืบต่อตำแหน่ง พระยาจุฬราชมนตรี เป็นคนต่อไป โดยได้โปรดเกล้าๆ ให้พระยาจุฬาราชมนตรี (สน) ขึ้นเป็นจุฬราชมนตรี ลำดับที่ 3 ในสมัยแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา ต่อจากพระยาจุฬาราชมนตรี (แก้ว)
พระยาจุฬาราชมนตรี (สน) เป็นบุตรของเจ้าพระยาศรีไสยหาญณรงค์ (ยี) กับท่านแสง ธิดาพระยาราชวังสรรค์ และท่านสนผู้นี้ ก็คือ หลานของท่านพระยาจุฬาราชมนตรี (แก้ว) จุฬาราชมนตรีคนก่อนนั่นเอง ตามหลักฐานระบุว่า พระยาจุฬาราชมนตรี (สน) ยังมีพี่ชายอีกคนชื่อ "สี"
สำหรับบิดาของพระยาจุฬาราชมนตรี (สน) คือเจ้าพระยาศรีไสยหาญณรงค์ (ยี) นั้น รับราชการและเป็นนักรบกล้าหาญคนหนึ่ง นับตั้งแต่แผ่นดินพระนเรศวรมหาราชลุล่วงถึงในแผ่นดินสมัยพระเพทราชา แต่ต่อมา "เจ้าพระยาศรีไสยหาญณรงค์" ได้ไปรับราชการที่เมืองตะนาวศรีเพียงลำพัง โดยทิ้งครอบครัวและลูก "สีและสน" ในกรุงศรีอยุธยา
ครั้นต่อมาในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ท่านสีผู้เป็นพี่ของพระยาจุฬาราชมนตรี (สน) ได้รับพระราชทานยศเป็นพระยาอมเรนทร์จางวางกรมอาสาจาม และพระราชทานตำแหน่งให้ ท่านสนรับการเลื่อนยศให้เป็นหลวงศรียศ ในกรมท่าขวา (ชื่น โกมารกุล ณ นคร เฉค อะหมัดและต้นสกุลบุนนาค หน้า 35)
ต่อมาเมื่อพระยาศรีนวรัตน์ (อากา มะหะหมัด) (บุตรของท่านเฉคสะอิด น้องชายเฉค อะหมัด ซึ่งเป็นบิดาของเจ้าพระยาศรีไสยหาญณรงค์ ชรา และได้ถึงแก่อนิจกรรม เมื่ออายุ 85 ปี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้ทรงพระราชทานโปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์ ให้ "หลวงศรียศ" (สน) ได้รับเลื่อนเป็น พระยาจุฬาราชมนตรี เจ้ากรมท่าขวา อันเป็นพระยาจุฬาราชมนตรี คนที่ 3 ในแผ่นดินของกรุงศรีอยุธยาต่อไป
อย่างไรก็ตาม ทั้งท่านพระยาอมเรนทร์ (สี) ผู้เป็นพี่ชาย และท่านพระยาจุฬาราชมนตรี (สน) ทั้งสองไม่มีทายาทสืบสกุลเลย
จุฬาราชมนตรี (เชน)
ท่านจุฬาราชมนตรีคนที่ 4 แห่งกรุงศรีอยุธยา คือ พระยาจุฬาราชมนตรี (เชน) เป็นบุตรเจ้าพระยาเพชรพิชัย (ใจ) ซึ่งเป็นเชื้อสายของท่านเฉค อะหมัด ตรงกับสมัยแผ่นดินของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
หนังสือประวัติศาสตร์ขุนนางมุสลิมสยาม (หน้า 215) ระบุว่า มีบันทึกตอนหนึ่งระบุว่า เจ้าพระยาเพชรพิชัย (ใจ) มีบุตรเป็นพระยาวิชิตณรงค์ ราชทินนามนี้เป็นตำแหน่งเจ้ากรมแขนทองช้าย กรมอาสาหกเหล่า ต่อมาพระยาวิชิตณรงค์ ได้เป็นพระยาจุฬาราชมนตรีอีกคนหนึ่ง และตอนนี้เห็นจะโปรดตั้งให้เป็น "หัวหน้าแขก"
เจ้าพระยาเพชรพิชัย (ใจ) ซึ่งเป็นบุตรของเจ้าพระยาชำนาญภักดี (สมบุญ) ได้เป็นจางวางกรมล้อมพระราชวังหลวง และว่าการกรมอาสาจามและอาสาญี่ปุ่นด้วย
นอกจากนี้ อาลี เสือสมิง ได้เขียนไว้ในหนังสือ ประวัติศาสตร์ขุนนางมุสลิมสยาม (หน้า 217) ระบุว่า ในพงศาวดารอยุธยามีความตอนหนึ่งว่า ณ เดือนแปด แรมสิบค่ำ สมเด็จพระบรมโกศประชวรหนัก จนสะอึกสามชั้น ต่อกลางคืนตีสิบเอ็ดจึงคลาย ครั้นเดือนสิบสองเสด็จพระราชดำเนินขึ้นสมโภชพระพุทธบาทเป็นกระบวนรับเสด็จ พัก ณ ตำหนักท่าเจ้าสนุก แล้วจะทรงพระวอขึ้นไปประทับร้อนบ่อโศก ตอนเย็นเสด็จไปถึงท้ายพิกล ครั้นสมโภชพระพุทธบาทครบเจ็ดวันเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงศรีอยุธยา
ในการเสด็จพระราชดำเนินไปมนัสการพระพุทธบาทครั้งนั้นเห็นจะเตรียมไปรื่นเริงกันอย่างเต็มที่ ข้าทูลละอองธุลีพระบาททุกคนคงยินดีที่พระเจ้าอยู่หัวหายประชวร ต่างคนต่างก็อยากตามเสด็จ แต่พระยาเพชรพิชัย (ใจ) ไม่มีชื่อที่โปรดให้ตามเสด็จในกระบวน
(อาจด้วยเหตุที่ว่าการมนัสการพระพุทธบาทเป็นกิจสมโภชของพุทธศาสนิกชน ส่วนพระยาเพชรพิชัย (ใจ) นั้นเป็นแขกเจ้าเซ็นในสกุลเฉค อะหมัด จึงไม่โปรดให้ตามเสด็จ)
พระยาเพชรพิชัย จึงกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระบรมราชนุญาตตามสด็จด้วย พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสว่า พระยาเพชรพิชัยเป็นแขก ไม่ควรไปมนัสการพระพุทธบาทด้วย แต่ถ้าทิ้งเพศแขกมา เข้ารีตไทย จึงจะให้ตามเสด็จด้วย
พระยาพิชัยกราบบังคมทูลว่า เต็มใจที่จะเป็นไทยตามพระประสงค์จึงพระราชทานพระบรมราชนุญาตให้พระยาเพชรพิชัย (ใจ)
และจากนั้นพระยาเพชรพิชัย (ใจ) ก็รับศีล ปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ ต่อสมเด็จพระสังฆราช ต่อพระที่นั่งพระเจ้าอยู่หัว และนี่อาจ
เป็นเหตุให้ วงศ์เฉค อะหมัด บางส่วนละศาสนาเดิมมาถือพระพุทธศาสนา
แต่พระยาจุฬาราชมนตรี (เชน) ซึ่งเป็นบุตร ยังคงนั่บถือศาสนาอิสลาม นิกายชีอะห์ โดยมิได้เปลี่ยนศาสนาไปตามบิดาแต่อย่างใด
ท่านจุฬาราชมนตรี (เชน) นี้ได้ว่าการทั้งกรมท่ากลางและกองอาสาจาม ได้รับพระราชทานเกียรติยศเสมอเจ้าพระยาพระคลัง แต่มิได้ตั้งให้เป็นเจ้าพระยาเท่านั้น
พระยาจุฬาราชมนตรี (เชน) มีบุตรกับคุณหญิงก้อนทองคนหนึ่งชื่อ "ก้อนแก้ว" และได้สืบตำแหน่ง "จุฬาราชมนตรี" ต่อจากท่านในเวลาถัดมา ซึ่งตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
พระยาจุฬาราชมนตรี (เชน) คนนี้ นับเป็นตำแหน่งสุดท้ายของยุคกรุงศรีอยุธยา และในแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา จึงมีจุฬาราชมนตรีเพียง 4 ท่านเท่านั้น
ที่มา: หนังสือจุฬาราชมนตรี ประวัติศาสตร์ผู้นำไทยมุสลิมจาก สมัยอยุธยา ถึง ยุคทักษิณ
https://news.muslimthaipost.com/news/37760
บทความที่น่าสนใจ
- ประวัติ จุฬาราชมนตรี คนที่18 อาศิส พิทักษ์คุมพล
- ศาสนาอิสลามเข้าสู่ประเทศไทยในสมัยใด?
- ขุนนางมุสลิม แห่งราชสำนักสยาม ร.5
- ประชาคมมุสลิมตามหัวเมืองบนเส้นทางการค้านอกกรุงศรีอยุธยา
- 164 สายสกุล สุลต่านสุลัยมาน พระราชาธิบดีแห่งเมืองสงขลา องค์ที่ 2
- ศาสนาอิสลามเข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทยตั้งแต่สมัยใด
- มุสลิมในประเทศไทย กี่เปอร์เซ็น
- คลายข้อสงสัย! สกุลบุนนาค ต้นตระกูลเป็นมุสลิม แต่ส่วนใหญ่นับถือพุทธ?(มีคลิป)
- ประวัติ มุสลิมในสมัยรัตนโกสินทร์