ศาสนาอิสลามเข้าสู่ประเทศไทยในสมัยใด? สำหรับศาสนาอิสลาม หรือคนที่นับถือศาสนาอิสลามนั้น น่าจะมีอยู่ในดินแดนที่เรียกว่า ประเทศไทยนี้
ศาสนาอิสลามเข้าสู่ประเทศไทยในสมัยใด?
ความเป็นมาของอิสลามในประเทศไทย
สำหรับศาสนาอิสลาม หรือคนที่นับถือศาสนาอิสลามนั้น น่าจะมีอยู่ในดินแดนที่เรียกว่า ประเทศไทยนี้ ตั้งแต่เริ่มประวัติศาสตร์ของคนชาติไทย เพราะว่า ศาสนาอิสลามได้เผยแพร่เข้ามาถึงอินโดนีเซียและในแหลมมลายูนั้น ก่อนที่คนอีกเผ่าหนึ่งจะได้เคลื่อนมาจากยูนานใต้
แต่อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของมนุษยชาติต่าง ๆ อาจเวียนมาประสบพบกันในดินแดนแห่งใดแห่งหนึ่ง
คนไทยที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม และคนไทยที่ได้นับถือศาสนาอิสลามเหล่านั้น ความสัมพันธ์ก็คงจะเริ่มขึ้นตั้งแต่แรกเริ่มทีเดียว แต่ในสมัยเริ่มประวัติศาสตร์ว่า ในรัชกาลพระเจ้ารามคำแหงมหาราช ได้แผ่อาณาเขตไปถึงแหลมมลายู เช่นเมืองนครศรีะรรมราชในขณะนั้น ก็นับถือศาสนาอิสลาม ตลอดลงไปจนถึงเมืองมะละกา ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็ยังเป็นเมืองมะละกาอยู่
ตามหลักฐานประวัติศาสตร์ก็นับว่า เป็นการเริ่มความสัมพันธ์ระหว่างการปกครองของไทย และชนที่นับถือศาสนาอิสลามที่ปรากฎเป็นครั้งแรก และในความสัมพันธ์เช่นนั้นก็ย่อมจะมีความสัมพันธ์หลายอย่าง หลายประการ เป็นต้นว่า ในภาคใต้ของประเทศไทยในระยะนั้น ผู้ปกครองหัวเมืองต่าง ๆ ก็ได้แก่ผู้นับถือศาสนาอิสลามนั่นเอง ไม่ใช่คนไทยที่นับถือศาสนาพุทธเป็นผู้ลงไปปกครองหรืออะไรเช่นนั้น ความสัมพันธ์ที่มีอยู่อย่าง ที่ว่าเป็นเมืองประเทศราช ถึงกำหนดปีก็ส่งเงินทองเข้ามายังเมืองหลวง
ส่วนกิจการอื่น ๆ นั้น ก็เรียกได้ว่ามีอิสระภาพที่จะปกครองตนเองอย่างเต็มที่ มีการส่งเครื่องหมายของความผูกพัน ความจงรักภักดีเข้ามาเป็นครั้งคราวก็นับว่าพอ และนอกจากพวกอิสลามที่มีปรากฎอยู่ในประเทศแล้ว นับตั้งแต่กรุงสุโขทัยมาปรากฎว่ามีการติดต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศอื่นๆ ที่นับถือศาสนาอิสลามหลายประเทศ ทั้งนี้ตามหลักฐานที่ได้ขุดค้นพบแล้วในทางวรรณคดี
ในปัจจุบันเราได้ค้นพบเครื่องถ้วยชามสังคโลก อันเป็นผลิตภัณฑ์ของกรุงสุโขทัยซึ่งเป็นสินค้าที่ส่งออกเป็นจำนวนมาก เรียกได้ว่า เป็นสินค้าสำคัญอีกอย่างหนึ่งของประเทศไทย ในระยะนั้นถ้วยชามสังคโลกเหล่านี้ ได้พบในประเทศอิสลามต่าง ๆ หลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอินโดนีเซียได้พบเป็นจำนวนมาก ยังอยู่ในลักษณะที่ดีสมบูรณ์ยิ่งกว่าที่เราพบในเมืองไทยเสียอีก เพราะในเมืองไทย ตกค้างอยู่ ก็เป็นเฉพาะถ้วยชามที่เสียหายแตกร้าวฝังไว้ตามเตาเผาถ้วยชาม นอกจากประเทศอินโดนีเซียแล้ว ยังพบถ้วยชามสังคะโลก ไกลออกไปถึงขนาดประเทศอิหร่าน ซึ่งเป็นประเทศอิสลาม แล้วก็ออกไปจนถึงอาฟริกาอีกหลายแห่ง ซึ่งได้พบถ้วยชามสังคะโลกเหล่านั้น
หลักฐานเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่า มีการค้าขายติดต่อระหว่างประเทศไทยกับชนชาติอิสลามต่าง ๆ มาเป็นเวลาช้านานทีเดียว อาจจะก่อนสมัยสุโขทัยขึ้นไปอีกก็ได้ แต่อย่างไรก็ตาม นับเป็นเรื่องที่เมืองไทยเรายังไม่มีประวัติศาสตร์แน่ชัด เพราะฉะนั้นถ้าจะพูดก็ตั้งแต่ระยะที่มีประวัติศาสตร์แน่ชัดลงมาแล้ว เรียกได้ว่าความสัมพันธ์ต่าง ๆ ระหว่างประเทศไทยกับประเทศอื่น ๆ ที่นับถือศาสนาอิสลามนั้น มีอยู่ตลอดมา และเมื่อเป็นเช่นนี้ก็เป็นธรรมดาอยู่เอง ที่จะต้องมีการเดินเรือติดต่อกัน คนไทยนั้นดูตามประวัติศาสตร์ก็ไม่ปรากฎ ว่าเป็นชาติที่เดินเรือเก่งกล้าอะไรนัก เพราะฉะนั้นเรือสินค้าในสมัยนั้น น่าจะเป็นเรือที่มาจากต่างประเทศ คือประเทศต่าง ๆ ที่ส่งเรือสินค้าเข้ามาบรรทุกสินค้าจากประเทศไทยออกไปยังประเทศของตนอีกทีหนึ่ง และในขณะนั้นยังไม่ปรากฎว่ามีชาวยุโรปเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้นผู้ที่เข้ามาค้าขายเดินเรือติดต่อระหว่างประเทศไทยกับประเทศอื่น ๆ นั้น จึงน่าจะมีมุสลิมที่มาจากต่างประเทศเข้ามาตั้ง หลังแหล่งเพื่อดำเนินการค้าขายอยู่แล้ว
ครั้งถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา ความสัมพันธ์ในลักษณะนี้ก็คงมีอยู่ อย่างเมื่อเร็ว ๆ นี้เอง กรมศิลปากรได้ขุดพบเจดีย์ หรือพระมหาธาตุที่วัดราชบูรณะ ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างซึ่งสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าสามพระยา (พระบรมราธิราช) ก็ราว ๆ พุทธศักราช 1961 - 1962 นับว่าเป็นสมัยเริ่มแรกของกรุงศรีอยุธยา เครื่องสมบัติอันมีค่าที่พบนั้น ปรากฎว่ามีเหรียญทองคำ ที่ทำขึ้นในประเทศแคชมีร์ ในรัชสมัยของพระมหากษัตริย์อิสลามผู้ทรงพระนามว่า "พระเจ้าไซนูล อาบีดีน" เหรียญทองคำสองอันนี้เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นเป็นการติดต่อ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามอย่างแน่ชัด
ในสมัยกรุงศรีอยุธยานี่เองที่มีหลักฐานแน่นอนว่า ได้มีมุสลิมเข้ามาอยู่ในกรุงศรีอยุธยา และได้ตั้งเมืองเป็นสำนักหลักแหล่งขึ้น โดยมีหลักฐานอย่างแน่นอน ปรากฎตามจดหมายเหตุโบราณว่า มีคนที่คนโบราณเรียกว่า "แขกเทศ" ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตั้งแต่สพานประตูจีนด้านตะวันตก ของกรุงศรีอยุธยาไปจนถึงหลังวัดนางมุก แล้วก็เลี้ยงลงไปที่ท่า "กายี" อันเป็นท่าน้ำแห่งหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา ที่พูดมานี้คือตั้งแต่สพานประตูจีนฟากตะวันตกไปจนถึงวัดนางมุก แล้วเลี้ยวไปลงท่าน้ำกายีนั้น เป็นบริเวณที่มุสลิมตั้งบ้านเรื่องอยู่ใน กำแพงเมือง และนอกกำแพงเมืองออกไปตั้งแต่ปลายประตูจีนฟากตะวันตก ไปถึงตำบลที่เรียกว่า "ฌะไกรน้อย" ฟากตะวันตก ย่อมทำไร่นาด้วยตัวเอง
นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศทีเดียวสำหรับผู้ที่อยุ่ในกำแพงเมืองประกอบอาชีพด้วยการค้าขายสินค้าต่าง ๆ ในบริเวณตั้งแต่ประตูจีนฟากตะวันตกมาจนถึง ฌะไกรน้อยนี้เอง มีถาวรวัตถุร้างไปแล้วยังปรากฎอยู่ ชาวบ้านเรียกมา จนทุกวันนี้ว่า "กะฎีทอง" เข้าใจกันว่า กะฎีทองนี้เป็นซากของสุเหร่า หรือมัสญิด ที่คนที่นับถือศาสนาอิสลามในสมัยนั้นสร้างขึ้นไว้ ทีนี้คำว่า "แขกเทศ" มีปรากฎในจดหมายเหตุนี้ นักโบราณคดีสันนิฐานกันว่า จะเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลามที่มีรกรากบ้านเรือนเดิมอยู่ในประเทศอาหรับบ้าง และในประเทศอิหร่านหรือเปอร์เซียบ้าง แล้วก็มาตั้งรกรากเพื่อดำเนินการค้าขายแล้วในที่สุดก็กลายเป็นคนไทย ไปแล้วมากต่อมาก สำหรับตำบลที่ผมกล่าวมานี้ ก็เป็นคนที่มาจากเปอร์เซีย หรือจากอาหรับ
คนที่นับถือศาสนาอิสลาม ที่มาจากมลายูนั้นในสมัยศรีอยุธยาก็มีตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นตำบลใหญ่ หลายร้อยหลายพันหลังคาเรือนเหมือนกัน ตำบลนั้นจะอยู่คลองตะเคียงทางทิศใต้ ส่วนอิสลามิกชนพวกหนึ่งซึ่งมาจากอินโดนีเซีย ในปัจจุบันจากเกาะที่เรียกว่า "เกาะมากาซ่า" หรืออย่างในภาษาไทย เรียกกันว่า "มักกะสัน" นั้น ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาด้านฝั่งตะวันตก ใกล้คลองตะเคียนด้านใต้ลงไป นี้ก็เป็นหลักฐานเท่าที่ทราบ แสดงว่าสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น มีมุสลิมตั้งบ้านเรือนอยู่ภายในพระนคร และโดยรอบพระนครนั้นเป็นจำนวนมาก และก็เป็นธรรมดาอยู่เอง ที่คนเหล่านั้น ก็ต้องมีส่วนมากมายหลายอย่างในการสร้างประวัติศาสตร์ของประเทศไทยให้เกิดขึ้น"
ข้อความดังกล่าวข้างต้นนั้นเป็นข้อความจากปาฐกถาของท่านอาจารย์มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ "เรื่องความเป็นมาของมุสลิมในประเทศไทย" แสดงที่ห้องประชุมคุรุสภา สวนกุหลาบวิทยาลัย ตามคำเชิญของพิทยาสามัคคีสมาคม เมื่อวันที่ 12 กรกฏาคม 2501
จากหนังสือโบราณคดีรอบอ่าวบ้านดอนของ "ท่านพุทธทาสภิกขุ" ได้กล่าวถึงการมาของอินเดีย และอื่นๆ ไว้ว่า "เมื่อดูจากเศษกระเบื้องต่าง ๆ ที่เกลื่อนกลาดอยู่ริมทะเลของเมืองตะกั่วป่าก็แสดงให้เห็นได้ว่า ชาวจีนได้นำเครื่องกระเบื้องของเขามาขายยังถิ่นนั้นตั้งแต่ 1600 ปีมาแล้ว และชาวเปอร์เซียก็ได้นำเครื่องกระเบื้องของตนเข้ามาค้าขายด้วยตั้งแต่ 1200 ปีมาแล้วเหมือนกัน ชาวกรีกได้เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ตั้งแต่คริสต์สตวรรษที่ 2 ถึง ที่ 4 คือไม่น้อยกว่า 1500 ปี มาแล้ว ส่วนชาวอาหรับนั้น เรามีหลักฐานแน่นอนจากจดหมายเหตุของพวกอาหรับเอง ซึ่งแสดงให้เราทราบว่า เขาได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับดินแดนส่วนนี้ตั้งแต่สมัย 1100 ปี มาแล้วเหมือนกัน"
นอกจากนี้จากหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ก็มีคำเปอร์เซียอยู่ด้วยคำหนึ่ง คือคำว่า "ปสาน" ซึ่งแปลว่า "ตลาด" ย่อมแสดงว่ามีชาวเปอร์เซีย ซึ่งแน่นอนเหลือเกินว่าป็นมุสลิมได้เข้ามาทำการค้าขายติดต่อ และตั้งบ้านเรือนอยู่ในเมืองไทยตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยอย่างแน่นอน
ศาสนาอิสลามโดยการประกาศของท่านศาสดามุฮัมมัด แห่งชาวซาอุดิอาเรเบียนั้นได้อุบัติขึ้นประมาณ 1400 ปีเศษ (ปัจจุบันฮิจเราห์ 1416 และศาสนาอิสลามได้แผ่ขยายมาทางเอเซียอาคเนย์ ในสมัยพระบรมศาสดามุฮัมมัด ได้สวรรคตไปแล้วประมาณ 200 ปี ก็เป็นการตรงกันกับหลักฐานข้างต้นว่า ศาสนาอิสลามได้เข้ามาสู่กรุงสยามอินโดเนเซีย และตลอดแหลมมลายูราว 1200 ปีเศษ ก่อนที่คนไทยจะอพยพตนเองลงมาจากดินแดนจีนตอนใต้เสียอีก ดังนั้นดินแดนในแถบนี้ โดยเฉพาะจังหวัดต่าง ๆ ภาคใต้นับแต่นครศรีธรรมราชลงไป จนถึงปลายแหลมมลายู
ผู้คนในสมัยดังกล่าวนับถือศาสนาอิสลามเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งศาสนาอิสลามนี้เองได้เบ้ามาแทนที่ศาสนาพุทธ ซึ่งเคยรุ่งเรีองมาในแถบนี้ก่อนในสมัยอาณาจักรศรีวิชัย เมื่ออาณาจักรศรีวิชัยได้สลายไป ก็เป็นเหตุให้ศาสนาพุทธในย่านนี้ รวมทั้งอินโดเนเซีย ซึ่งมีหลักฐานโบราณวัตถุทางศาสนาพุทธคือ "พระบุโรบุดู" อย่างเห็นได้ชัด พลอยเสื่อมไปด้วยพร้อมกับอาณาจักรศรีวิชัย บรรดาผู้ครองนครต่าง ๆ นับแต่ อินโดเนเซีย มลายู และเมืองไทยทางภาคใต้ ล้วนเป็นผู้ยอมรับเข้านับถือศาสนาอิสลามกันแทบทั้งสิ้น
ผู้เขียนใคร่ขอกล่าวแต่เฉพาะศาสนาอิสลามในเมืองไทยเท่านั้น เพื่อให้บรรดาท่านผู้อ่านได้ทราบถึงความเป็นมาของอิสลามในเมืองไทยอย่างเห็นได้ชัด จากหลักฐานดังกล่าวข้างต้น ย่อมเป็นเครื่องชี้จัดว่า เมืองไทยนับตั้งแต่นครศรีธรรมราชลงไปจนสุดภาคใต้เลยไปจนถึงมาเลย์เซีย ทั้งประเทศสิงคโปร์ สุมาตรา มะละกา และหมู่เกาะอินโดเนเซียทั้งหมดนั้น ในสมัยเริ่มแรกที่คนไทยเคลื่อนย้ายมาจากจีนตอนใต้ มาอยู่สุวรรณภูมินั้นผู้คนบ้านเมืองเหล่านี้เป็นผู้นับถือศาสนาอิสลามแทบทั้งสิ้น และผู้เขียนเข้าใจว่า คนไทยของเราในสมัยที่ยังคงอยู่ในเมืองจีนนั้น ก็ยังมิได้รับนับถือพระพุทธศาสนา คงจะเป็นการเคารพนับถือบรรพบุรุษเยี่ยงคนจีนทั่วไป และมีการถือภูติผีกันตามแบบโบราณ
ดังจะเห็นได้จากการตั้งศาลพระภูมิตามบ้านเรือนนั้นก็เป็นการบูชาเจ้าที่เจ้าทาง ซึ่งคนไทยเราก็ขนเอาประเพณีนี้มาจากเมืองจีนนั่นเอง ผู้เขียนเชื่อว่าเมื่อคนไทยมาตั้งหลักอยู่ในสุวรรณภูมิ อิทธิพลของวัฒนธรรมของขอมโบราณยังคงมีอยู่ในสุวรรณภูมิภาคกลาง และภาคเหนือ และพระพุทธศาสนาก็ได้เคยได้รับการทำนุบำรุงจากผู้ปกครองในบ้านเมืองในย่านนี้มาก่อน และเคยรุ่งเรืองมาแต่อดีตในย่านนี้ เมื่อคนไทยเข้ามาพำนักอาศัยอยู่ในย่านนี้จึงได้รับเอาพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาที่ต้องกับอุปนิสัยของคนไทยไว้เป็นศาสนาของตนด้วย
ในขณะเดียวกันที่อาณาจักรของไทยในสมัยกรุงสุโขทัย ก็ได้แผ่ขยายไปจนถึงใต้สุดปลายแหลมมลายูถึงมะละกา ซึ่งผู้คนในย่านนี้นับถือศาสนาอิสลามอยู่โดยทั่วไปทางผู้เป็นใหญ่ในกรุงสุโขทัยก็มิได้ถือเป็นข้อแตกต่างอะไรกันนัก ต่างก็อยู่ร่วมกันมาด้วยความสันติสุขตลอดมา หลายร้อยปีจนถึงปัจจุบันร่วม 8 ศตวรรษเข้าไปแล้ว จากหลักฐานในประวัติศาสตร์ของไทย ไม่เคยมีข้อบาดหมางระหว่างศาสนาพุทธกับอิสลามเลยแม้สักครั้งเดียว มีความร่วมมือร่วมใจซึ่งกันและกันระหว่างไทยพุทธกับไทยมุสลิม ในการบริหารบ้านเมืองต่อต้อานอริราชศัตรูมาด้วยกันทุกยุคทุกสมัย นับเป็นความมหัศจรรย์อย่างหนึ่งภายใต้พระบารมีของพระมหากษัตริย์ไทย ซึ่งทุกพระองค์และทุถราชวงศ์ก็ได้ทรงให้ความอุปภัมภ์ค้ำชูแก่ศาสนาอิสลามมาโดยตลอด
อิทธิพลของอิสลามต่อสังคมไทย
อิทธิพลของอิสลามที่ม่ต่อสังคมไทยนั้นมีเป็นอันมาก โดยเฉพาะในเรื่องการปกครองในเรื่องศิลป การดนตรี แม้แต่การที่เราจะเห็นได้ชัดคือ เครื่องต้นของพระมหากษัตริย์ของไทยนั้น มีอยู่อย่างหนึ่งที่เรียกว่า "ฉลองพระองค์อย่างเทศ" ความจริงฉลองพระองค์อย่างเทศนี้เป็นเสื้อยาวถึงเข่า ซึ่งดั้งเดิมเกิดขึ้นในประเทศอิหร่าน หรือเปอร์เซีย เป็นแห่งแรก แล้วก็ได้มาถึงประเทศไทย ได้รับความนิยมจนกระทั่งยกเป็นเครื่องแบบอย่างหนึ่งของสมเด็จพระมหากษัตริย์ ที่น่าอัศจรรย์คือว่าเครื่องแต่งกายแบบสากลของเรานี่เอง ก็มาจากเสื้อตัวเดียวกันนี้นั่นเอง เสื้อแบบเปอร์เซียนั้นไม่ใช่แต่เผยแพร่ออกมามีผู้นิยมทางภาคตะวันออกของเปอร์เซียเท่านั้น แต่ได้มีผู้นำเอาไปใช้ในทวีปยุโรปและตะวันตก ขึ้นต้นก็เป็นฟลอคโค๊ตของฝรั่งเศษ คือ ฝรั่งใส่ด้วยลักษณะคอปิด ไม่ได้พับคอลงก่อน คอปิดและยาวถึงเข่า
แต่ทีนี้ในยุโรปเป็นประเทศหนาว เพื่อป้องกันความหนาวคนจะต้องเอาขนสัตย์บ้าง ผ้าแพร ผ้าไหมพันคอไว้หนา ๆ เพื่อไม่ให้หนาวคอ การที่จะใส่เสื้อคอปิดก็ไม่สะดวก จึงได้พับคอเสื้อคงมาเป็นอย่างนี้ เพื่อปล่อยที่ไว้พันคอได้มาก ๆ เพราะในสมัยนั้นเรื่องการอุ่นบ้าน เรื่องการต้มน้ำฝังท่อน้ำร้อยไปให้บ้านอบอุ่น การก่อสร้างเพื่อป้องกันความหนาวยังไม่ดี ถึงหน้าหนาวฝรั่งต้องใส่เสื้อหนา ๆ รุ่มร่ามกันอยู่ทั้งวัน ที่มาเปรียบอย่างนี้เพราะเหตุว่าความเจริญของบ้านเมืองเกิดขึ้น บ้านช่องก็อบอุ่นขึ้นกว่าแต่ก่อน ผ้าพันคอก็เหลือเพียงเท่านี้คือ เนคไท ดังที่ใช้กันอยู่ทั่วไปในปัจจุบัน ส่วนคอเสื้อก็เลยแบะลงไป เพราะแต่ก่อนผ้าพันคอมันใหญ่ แต่อย่างไรก็ตามฟลอคโค๊ตของฝรั่งก็ยาวแค่เข่า เดี๊ยวนี้ก็ยังใส่กันอยู่ แต่สำคัญแปลงรูปไป ในที่สุดก็เป็นเสื้อสากลอย่างนี้ แต่ว่าในเครื่องต้นของพระมหากษัตริย์ไทยก็ยังมีที่เรียกว่าฉลองพระองค์อย่างเทศ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นอิทธิพลที่มาจากเครื่องแต่งการของชาวมุสลิม จากประเทศเปอร์เซียร์โดยแท้
ในการดนตรีก็มีเพลงต่างๆ ซึ่งอาจจะมาจากพวกซูฟีที่เรียกว่า "เกรตัน" นั้นมีเพลงต่าง ๆ ที่ตกค้างอยุ่ได้กลายเป็นเพลงไทยไป และตลอดจนท่าทางลีลาของการฟ้อนรำก็ได้ตกมาอยู่ในระบบนาฏศิลป์ของไทย อย่างจะเห็นได้อยู่ทุกวันนี้ ถ้าใครเป็นละคอนรำ จะเห็นได้ว่าการรำตะเขิ่งนั้นมาจากการฟ้อนรำของพวกซูฟี ตลอดจนการรำอย่างศิลปากรทุกวันนี้ เขาเรียกว่า "ดาวดึงส์" คือรำประเท้า แล้วสองมือตบอกนั้นก็เป็นอิทธิพลการฟ้อนรำ ที่มาจากอิสลามสำนักคิดชีอะห์ ที่เรียกว่าการเต้นมะหะหร่ำนั่นเอง
ถ้าใครที่ได้เคยไปประเทศเปอร์เซีย หรือิหร่าน ในปัจจุบันแม้แต่ทุกวันนี้ จะสังเกตเห็นอะไรสะดุดตาอย่างหนึ่งว่า ตามมัสญิดในปรเทศอิหร่านนั้นเขาใช้ถ้วยชามที่เป็นลวดลายต่าง ๆ สีต่าง ๆ ประดับหน้ามัสญิดบ้าง ประดับข้างในบ้าง สุดแล้วแต่ แต่นั่นเป็นความนิยมของชาวเปอร์เซียมาตั้งแต่ช้านาน หลายพันปีทีเดียว เขาใช้อย่างนั้น การใช้ถ้วยชามประดับวัดวาในเมืองไทยก็เกิดขึ้นในราวสมัยค่อนข้างตอนท้าย ๆ ของกรุงศรีอยุธยา แล้วก็มานิยมแพร่หลายกันในสมัยกรุงเทฯ วัดโพธิ์ก็ดี วัดอรุณก็ดี
อย่างมาก จึงมั่นใจได้ว่าการใช้ถ้วยชามประดับวัดนี้ก็เป็นอิทธิพลของอิสลามอย่างหนึ่งที่มาจากเปอร์เซียร์นั่นเอง เพราะในอิสลามนั้นไม่นิยมการวาดรูปถ้าเราไปดูจะเห็นว่าอาศัยถ้วยชามสีต่าง ๆ เป็นลวดลายประดับพระวิหาร พระเจดีย์ต่าง ๆ ลวดลายสิ่งมีชีวิตไว้บนผนังหรืออาคารต่าง ๆ แลเป็นสิ่งต้องห้ามตามพระบัญญัติของอิสลามอีกด้วย ดังนั้นชาวมุสลิมจึงใช้วัสดุประเภทถ้วยชามมาประดับแทน ซึ่งนอกจากจะเป็นของสวยงามแล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์ไว้เป็นอนุสรณ์แก่ชนรุ่นหลังได้อีกด้วย ดูลักษณะของบรรดามัสญิดต่าง ๆ ในเปอร์เซีย ที่มีการประดับดังกล่าวแล้วนั้น เก่าแก่กว่าบรรดาวัดวาอารามที่ประดับด้วยถ้วยชามในเมืองไทย แสดงให้เห็นว่าความนิยมเช่นนั้นมีมาก่อนแล้ว และได้มาเผยแพร่ในเมืองไทยในภายหลัง เป็นเหตุให้คนไทยที่นับถือศาสนาพุทธจำไปตกแต่งวัดวาอารามบ้าง
ส่วนการขับร้องที่เรียกว่า "ดิเกร์" นั้น ก็กลายมาเป็น ลิเก หรือยี่เก ไปอย่างที่ท่านทั้งหลายก็ได้ทราบกันอยู่แล้ว การเปลี่ยนแปลงไปนั้น ก็เชื่อว่ากลายไปในสมัยรัตนโกสินทร์นี่เอง ซึ่งเป็นระยะใกล้ ๆ ไม่จำเป็นต้องพูดถึง
ในหลักการปกครองประเทศนั้น อิสลามมีอิทธิพลต่อเมืองไทยมากเหมือนกัน ถ้าหากเราไปดูกฏมณเฑียรในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในตอนที่กำหนดพระราชกรณียกิจประจำวันของพระเจ้าแผ่นดินไว้นั้น จะเห็นได้ว่ามีการกำหนดตั้งแต่รุ่งอรุณไปถึงตอนเช้าที่บรรทม ซึ่งเป็นเวลาสองนาฬิกาหรือตีสอง ก่อนที่จะเข้าที่บรรทมหนึ่งชั่วโมง มีข้อความในกฏมณเฑียรบาลที่น่าสนใจไว้ว่าดังนี้ "เวลาเจ็ดทุ่งเบิกนักเทศน์ขันทีเข้าเฝ้า" สำหรับขันทีนี้ ไม่ปรากฏว่าเคยมีในราชสำนักไทย เข้าใจว่ามาจากราชสำนักอาหรับเป็นส่วนใหญ่ และนักเทศน์ในที่นี้ก็ไม่มีเหตุผล ไม่มีทางที่เข้าใจได้ว่าเป็นนักเทศน์คนไทย ที่นับถือศาสนาพุทธ หรือเป็นพระสงฆ์ แต่เข้าใจว่าจะเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม แล้วเข้าไปชี้แจงธรรมะบางอย่างของศาสนา ถวายพระเจ้าแผ่นดินสมัยกรุงศรีอยุธยา และการเข้าใจธรรมะนั้นเข้าใจว่าจะทำด้วยวิธีเล่านิทานต่าง ๆ แล้วไปสรุปความที่เป็นคติธรรม เมื่อเจ็ดทุ่มเบิกนักเทศน์ขันทีเข้าเฝ้า แล้วแปดทุ่มถึงตีสองจึงได้เบิกมโหรี เป็นอันเสร็จพระราชกรณียกิจในวันนั้น มโหรีก็หมายความว่าถึงเวลานอนได้ เพราะดนตรีไทยนั้น มีวัตถุประสงค์ไว้เพื่อกล่อมให้หลับไม่ได้มีวัตถุประสงค์อย่างอื่น เล่นไปฟังไปประเดี๊ยวก็หลับสบายดี
การที่เบิกนักเทศน์ขันทีเข้าเฝ้านี่แหละ เข้าใจว่าท่านที่นับถือศาสนาอิสลามในสมัยโบราณจะได้มีโอกาสหรือแปลคติธรรมต่าง ๆ ของอิสลามเข้าไปในความรู้สึกนึกคิดของผู้ปกครองแผ่นดินไทยในสมัยนั้นเป็นอย่างมาก การที่มีโอกาสพบปะกันยามสงัด และเป็นเวลาตั้งหนึ่งชั่วโมงทุกวัน ย่อมจะต้องมีเรื่องพูดจาไต่ถามซักไซ้กันได้มากเหลือเกิน เพราะฉะนั้นเข้าใจว่าจะได้มีอะไรต่ออะไรมากมาย แต่หลักฐานที่ปรากฏเหลือลงมาจนถึงทุกวันนี้ ก็อยู่ในหนังสือเล่มเล็ก ๆ ที่เรียกกันว่า "อิหร่านราชธรรม" เข้าใจว่าเป็นนิทาน ซึ่งผู้นับถือศาสนาอิสลามในสมัยนั้นได้เข้าไปเล่าถวายต่อพระเจ้าแผ่นดินในสมัยกรุงศรีอยุธยา และเนื่องด้วยนิทานเหล่านี้เป็นคติธรรมสำหรับกษัตริย์ผู้ปกครองแผ่นดินอย่างสูง จึงได้เป็นที่นิยมของคนไทยตลอดมา แม้แต่กรุงศรีอยุธยาได้แตกไปแล้ว หลักฐานต่าง ๆ ได้ถูกเผาศูนย์สิ้นไป เมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้น มีการทำนุบ้านเมืองให้คืนคงเป็นปกติ ก็ได้มีการเขียนหนังสืออิหร่านราชธรรมขึ้นอีก จากความทรงจำของบรรดาผู้สูงอายุ เพื่อเก็บไว้ในหอพระสมุดหลวง หรือหอสมุดข้างที่ เป็นเรื่องที่พระเจ้าแผ่นดินจะเอามาอ่านได้ทุกเวลา
เข้าใจว่าคงมีหลายท่านเคยอ่านหนังสืออิหร่านราชธรรมกันมาบ้างจะเห็นว่าชื่อบุคคลต่าง ๆ ในหนังสือนี้ มีเพี้ยนไปจากชื่อเดิมของอิสลามเป็นอย่างมาก เช่นว่า "พระเจ้ายามชิด" ในหนังสืออิหร่านราชธรรมก็เรียกเสียเป็นอย่างไทยๆ "พระเข้ายมสิทธิ์" หรือ "พระเจ้าสุไลมาน" ก็เรียกว่า "พระเจ้าสุราไลมาน" ให้ฟุ่มเฟือยไป เมืองแบกแดด ก็เรียกว่าเมือง ปัทดาษ มะไดยิน ก็รียกว่า มะดาวิน "พระเจ้านูซิเรวารอุ๊ดดีน" ก็เรียกว่า "พระเจ้าเนาวเสนวารวาดิน" ให้ฟังดูเพราะ ๆ ดี เหล่านี้เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามนิทานเหล่านี้แม้จะปิดแต่เรื่องแรกก็จะเห็นว่าทุกเรื่องนั้นเกี่ยวกับคติธรรมสำหรับพระราชาผู้ปกครองแผ่นดินทั้งสิ้น
สำหรับมุสลิมที่มีเชื้อชาติอื่น อาทิเช่น เชื้อสายเขมร ซึ่งก็เคยมีมาแต่เดิมตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ดังปรากฏในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.2199-2225) ก็ปรากฏมีกองอาสาจามเป็นกองทหารอาสาสมัครร่วมรบอยู่ในกองทัพไทย คำว่า "จาม" หรือ "แขกจาม" หรือชาวเขมรที่นับถือศาสนาอิสลามนั่นเอง สำหรับชาวเขมรที่อยู่ในกรุงเทพฯ นั้น ได้อพยพมาในตอนต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ขณะที่ดำรงพระยศเป็นพระยามหากษัตริย์ศึก ได้ยกทัพไปปราบเมืองเขมรได้ชัยชนะ ก็ได้กวาดต้อนผู้คนชาวเขมรมาไว้ในกรุงเทพฯด้วยเช่นกัน
อยู่ที่เขตพญาไท ถนนเจริญผลตัดใหม่นั่นเอง สำหรับแขกจามในสมัยนั้นเป็นบุคคลที่มีจำนวนมากในประเทศเขมร ในตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์นั้นได้มีในจำนวนชาวเขมรเหล่านั้น ก็มีชาวแขกจามรวมอยู่ด้วย และได้โปรดให้ตั้งบ้านเรือนอยู่แถวนอกกำแพงเมือง คือแถวบ้านครัว ซึ่งขณะนี้แขกจามผู้หนึ่งชื่อ "ตวนเซด" ตั้งตัวเป็นใหญ่ขึ้นอยู่ที่เกาะละว้าเอม แล้วแต่งตั้งขุนนางผู้ใหญ่จากพรรคพวกแขกจามด้วยกันเองเป็นอันมาก แต่ต่อมาพระยาเตโช (แทน) น้องชายฟ้าทะละหะมู ตั้งตัวเป็นฟ้าทะละหะ แล้วลอบมาเกลี้ยกล่อมขุนนางเขมรเก่า ๆ ยกไปลอบฆ่าตวนเซ็ดตาย ขณะนั้นนักองเองเป็นเจ้าเขมรเพียงคนเดียวที่เหลืออยู่ แต่ยังทรงพระเยาว์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงได้ทรงโปรดให้นักองเองเข้ามาอยู่เสียในกรุงเทพฯ เพื่อความปลอดภัย แล้วทรงโปรดเกล้าให้พระยายมราช (แบน) เลื่อนขึ้นเป็น "เจ้าพระยาอภัยภูเบศร" ออกไปเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองเขมรไปพลางก่อน แล้วจึงจะโปรดให้กลับไปครองราชย์เมืองเขมรต่อไป ดังนั้น ในระยะนั้นชาวแขกจามซึ่งมีตำบลกำปงจามอยู่ในประเทศเขมร จึงถูกกวาดต้อนมาอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นอันมาก
ส่วนมุสลิมเชื้อสาย เปอร์เซียหรืออิหร่านนั้น เชื่อได้ว่าเข้ามาพำนักอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยอย่างแน่นอน เพราะอิทธิพลของภาษาอิหร่านก็ยังคงปรากฏอยู่ในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง ดังได้กล่าวแล้วแต่ตอนต้น แต่คงเป็นพวกพ่อค้าที่เข้ามาทำการค้าขาย และเผยแพร่ศาสนาเท่านั้น เท่าที่ปรากฏหลักฐานว่า เข้ารับราชการในราชสำนักไทยนั้น คงจะเป็นตั้งแต่สมัยพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ2145-2170) เรื่อยมาตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์
ส่วนใหญ่บุคคลที่เข้ารับราชการนี้จะเป็นมุสลิมเชื้อสายอิหร่านทั้งสำนักคิดสุนนีและชีอะห์เกือบทั้งสิ้น ซึ่งมีชื่อเรียกตามภาษาชาวบ้านในสมัยกรุงศรีอยุธยาว่า "แขกเทศ" หรือ "แขกแพ" นั่นเอง ส่วนชาวมุสลิมเชื้อสายปัตตานีซึ่งชาวบ้านเรียกว่า "แขกตานี" นั้น มักประกอบอาชีพทางเกษตรกรรม และค้าขายไม่นิยมการเข้ารับราชการในสมัยกรุงศรีอยุธยา ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะมุสลิมที่ชื่อว่า "แขกตานี" เหล่านี้มีความเจียมตนถูกกวาดต้อนเข้ามาในฐานะเชลยศึก เลยไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับทางราชการของเมืองไทยก็เป็นได้ แต่ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบัน ก็ปรากฏว่ามีคนมุสลิมเชื้อสายปัตตานีเข้ารับราชการทั้งทางด้านทหาร และพลเรือนกันมากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีชาวมุสลิมเชื้อสายอินเดีย ซึ่งบรรพบุรุษเคยเข้ามาประกอบการค้าทางทะเลตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และได้ตั้งรกรากอยู่แถวปากลัด จังหวัดสมุทรปราการในปัจจุบัน เดิมแถวปากลัดนี้เป็นเมื่องนครเขื่อนขัณฑ์ และชาวอินเดียเหล่านี้อาจจะมีการสมรสกับคนในท้องถิ่นแถบนั้น ซึ่งเป็นชาวรามัญอยู่บ้าง และได้สืบสกุลต่อเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนใหญ่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่าคนในท้องถิ่นเดิมนั้นเป็นอันมาก ชาวอินเดียบางสายก็ได้มาพำนักอยู่แถวประตูเมืองกรุงเทพฯ ในสมัยรัชการที่ 4 เป็นต้นมา ปรากฏว่ามีร้านค้าธุรกิจของชาวอินเดียตั้งอยู่หลายครอบครัว แถบสะพานช้างโรงสี เขตพระนครในปัจจุบัน นอกจากนั้นก็มีห้างร้านของชาวอินเดียมุสลิมตั้งอยู่แถวราชวงศ์ วัดสัมพันธวงศ์ ปรากฏมีมัสญิดอยู่แถวนั้นได้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงพระเจ้ากรุงธนบุรี คือ "มัสญิดวัดเกาะ" ส่วนใหญ่ของชาวอินเดียนับถือศาสนาอิสลามสำนักคิดชีอะห์ มีมัสญิดของชาวมุสลิมอินเดียชีอะห์อยุ่ฝั่งธนบุรีริมแม่น้ำเจ้าพระยาคือ "มัสญิดไซฟี (ตึกขาว) " ซึ่งสร้างมาตั้งแต่ตอนต้นของกรุงรัตนโกสินทร์
สำหรับสายสกุลมุสลิมเชื้อสายอินเดียในส่วนกลางนี้ มีมากมายหลายสกุลด้วยกัน อาทิเช่น นานา, นานากุล, วงศ์พานิช, อมันตกุล, อมรทัต, วงศ์อารยะ, วงศ์ยุติธรรม, สมุทรโคจร, วานิชอังกูร, มาริกัน, เซท, โฆษิตกุล, สยามวาลา, ฮูเซ็น, อิทธิกุล, อับดุลราฮิม, สถาอานันท์, ไชยเดช, อดุลยรัตน์, หมุดกาญจน์, วัชรพิสุทธิ์, กัลยาณวิชัย, ซาฮิบ, โมมินทร์, วิรุฬหผล, วทานยกุล, สิมารักษ์, กุลสิริสวัสดิ์ ฯลฯ
ส่วนมุสลิม สายปากีสถาน นั้นมีอยู่โยกระจัดกระจายอยู่โดยทั่วไป ตั้งแต่เหนือจรดใต้ ทางภาคตะวันออก ภาคกลาง ภาคอีสาน ส่วนมากมีอาชีพทางปศุสัตว์ เป็นหลัก แต่ต่อมาในระยะหลังนี้ ก็ประกอบอาชีพทางธุรกิจกันมากขึ้น มุสลิมชาวปากีสถานนี้ส่วนใหญ่ มีฐานะทางเศรษฐกิจดีมาก เพราะมีความขยันขันแข็งกล้าได้ กล้าเสีย กล้าเสี่ยงต่อภัยอันตรายทั้งมวล เขาไปทำการค้าขายในป่าในดง และกลายเป็นกลุ่มบุคคลที่มีอิทธิพลมากในด้านการค้าขายในชนบทโดยทั่วไป
มุสลิมเชื้อสายจีนก็มีอยู่จำนวนไม่น้อยในจังหวัดภาคเหนือ โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเราเรียกกันว่า "จีนฮ่อ" ชาวจีนมุสลิมเหล่านี้อพยพเคลื่อนย้ายมาจากทางประเทศจีนตอนใต้ หรือยูนาน หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองจบสิ้นลง และเจียงไคเซ็ค ต้องอพยพรัฐบาลของตนไปอยู่เกาะไต้หวัน ประเทศจีนถูกยึกครองโดยเมาเซตุง และกลายเป็นคอมมิวนิสต์ไป มีกองพล 93 ซึ่งตั้งอยู่ทางประเทศจีนตอนใต้ และเป็นทหารของจีนก๊กมินตั้ง จึงไม่อาจที่จะอยู่ในประเทศจีนต่อไปได้ จึงได้เคลื่อนย้ายมาปักหลักอยู่แถวอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ทหารจีนเหล่านี้บางส่วนก็เป็นชาวจีนมุสลิม เช่นเดียวกับจีนฮ่อ ซึ่งเคยอยู่ในเมืองไทยมาก่อนแล้ว จึงได้รวมตัวมาพำนักอยู่ในเมืองเชียงใหม่เป็นจำนวนไม่น้อย ปัจจุบันชาวจีนมุสลิมในเชียงใหม่จึงเพิ่มจำนวนมากขึ้น และมีมัสญิดของกลุ่มจีนมุสลิมอยู่สองมัสญิด ซึ่งในจังหวัดเชียงใหม่มีมัสญิดทั้งหมดอยู่ 5-6 มัสญิด เท่านั้น
- ศาสนาอิสลามเข้าสู่ประเทศไทยในสมัยใด?
- ศาสนาอิสลามในสมัยกรุงศรีอยุธยา ชุมชนมุสลิมในอยุธยา ประวัติมุสลิมในสมัยอยุธยา (ละเอียด)
- ความเป็นมามุสลิมในประเทศไทย ประชากรมุสลิมในประเทศไทย อิสลามในกรุงเทพ มาจากไหน
- ประวัติคลองแสนแสบและบรรพชนมุสลิมเชื้อสายต่างๆ
- เรียม เพศยนาวิน จากนางสาวไทย สู่รานีกษัตริย์มาเลเซีย
- ทำไมบรูไนไม่ยอมรวมชาติกับมลายู
บทความโดย : มูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย