เรื่องราวของนายกรัฐมนตรีมุสลิมคนใหม่ของสกอตแลนด์ แรงบันดาลใจให้เยาวชน แต่ความท้าทายรออยู่ข้างหน้า
สำนักข่าวมุสลิมไทยโพสต์ : นายกรัฐมนตรีมุสลิมคนใหม่ของสกอตแลนด์: แรงบันดาลใจให้เยาวชน แต่ความท้าทายรออยู่ข้างหน้า
มีการเผยแพร่ภาพชายคนหนึ่งนำละหมาดให้ครอบครัวหลังจากละศีลอดเดือนรอมฎอน ที่ Bute House ในเอดินเบอระ ผ่านทางทวิตเตอร์ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ที่ผ่านมา
ฉากที่สงบนี้ถือเป็นเวลาพิเศษ เนื่องจากเป็นค่ำคืนแรกที่ นายกรัฐมนตรีสกอตแลนด์คนใหม่ "ฮัมซะ ยูเซฟ (Humza Yousaf)" ได้เข้าพำนักในบ้านประจำตำแหน่ง ณ ที่ซึ่งกุมอำนาจทางประวัติศาสตร์ของประเทศ ในฐานะมุสลิมคนแรกที่ดำรงตำแหน่งมุขมนตรี (ผู้นำรัฐบาล) หลังจากการลงคะแนนเสียงในรัฐสภา
นายกรัฐมนตรีมุสลิมคนใหม่ของสกอตแลนด์
เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ฮัมซะ กลายเป็นหัวหน้าพรรคแห่งชาติสกอตแลนด์ (SNP) ในวัยเพียง 37 ปี หลังจากได้รับคะแนนเสียง 52% ในการลงคะแนนเสียงครั้งที่ 2
เขาเป็นลูกชายของผู้อพยพชาวปากีสถาน ที่มาตั้งรกรากใหม่ที่เมืองกลาสโกว์ เขามีส่วนร่วมในชุมชน และร่วมทำงานอาสาสมัครตั้งแต่อายุยังน้อย
ฮาบิบ มาลิก อดีตเพื่อนร่วมงานของฮัมซะ เล่าว่า เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2003 ชายหนุ่มอายุ 18 ปี คนนี้ เดินเข้ามาในสำนักงานระดับภูมิภาคของ Islamic Relief ซึ่งเป็นกลุ่มช่วยเหลือเพื่อการกุศลในสหราชอาณาจักร เพื่อหางานอาสาสมัครทำ “ผมบอกเขาว่า ไม่มีปัญหา คุณทำได้ ในตอนนั้นผมคิดว่า เขาเพิ่งจบการศึกษาด้านการเมืองมา”
ฮัมซะ เริ่มทำงานอาสาสมัครที่ร้านค้าการกุศล ซึ่งผู้คนบริจาคเสื้อผ้ามือสองและสิ่งของอื่น ๆ เขาได้รับมอบหมายให้คัดแยกเสื้อผ้า จัดชั้นวางของ และทำความสะอาด
“จากนั้นเขาเดินหน้าต่อไป และแสดงความสนใจในกิจกรรมหาทุน จนเข้าไปมีส่วนร่วมในการกิจกรรมดังกล่าว เช่น จัดคอนเสิร์ต จัดเลี้ยงอาหารค่ำ เกม และกิจกรรมสันทนาการ”
นายกรัฐมนตรีมุสลิมคนใหม่ของสกอตแลนด์
ฮัมซะ เป็นหนึ่งในทีมหลักขของมาลิก ซึ่งเป็นอดีตหัวหน้าฝ่ายบรรเทาทุกข์อิสลามแห่งสกอตแลนด์ เขารู้จักที่จะดึงความสนใจด้วยพลัง และความมุ่งมั่น ในขณะที่ทำงานเพื่อการกุศล “เขามีทัศนคติเชิงบวกอยู่เสมอ และเป็นผู้ร่วมทีมที่ยอดเยี่ยม เขาช่วยจัดคอนเสิร์ตระดมทุน หนึ่งในนั้นคือการระดมทุนเพื่อกู้วิกฤตซูดาน ในปี 2004” มาลิกและฮัมซะ ร่วมทีมอาสาสมัครด้วยกันระหว่างปี 2003 – 2011
ในปี 2005 ขณะที่ศึกษาด้านการเมืองอยู่ที่มหาวิทยาลัยกลาสโกว์ ฮัมซะเข้าร่วมกับพรรค SNP โดยทำงานเป็นผู้ช่วยสมาชิกรัฐสภาของสกอตแลนด์ ก่อนจะกลายเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติที่อายุน้อยที่สุดในประเทศ ด้วยวัย 25 ปี เขาได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมและหมู่เกาะ ในปี 2016 ในระหว่างดำรงตำแหน่ง เขาถูกวิจารณ์ข้อหาขับรถโดยไม่มีประกันภัย ทำให้เขาถูกปรับเงิน 300 ปอนด์ และโดนตัดคะแนน 6 แต้ม
หลังจากนั้นในปี 2021 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 เขาได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ช่วงนั้นเขาถูกวิจารณ์ว่า ผู้ป่วยต้องรอคิวที่โรงพยาบาลนานมาก
นายกรัฐมนตรีมุสลิมคนใหม่ของสกอตแลนด์
บทบาทใหม่ของ ฮัมซะ ในฐานะผู้นำประเทศ ไม่ได้สร้างความประหลาดใจให้แก่ มาลิก เลย “เขาทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และทำงานหนักมาก ไม่ว่าเขาจะทำงานอะไรก็ตาม ดังนั้น ผมไม่แปลกใจเลยที่เขาขึ้นมาสู่ตำแหน่งนี้ เขาเป็นคนน่ารัก และเป็นสมาชิกที่มีความสำคัญต่อทีมอย่างมาก เขามีความเป็นผู้นำ รู้วิธีเป็นผู้นำ และวิธีที่จะจูงใจคน”
“เขาเป็นชาวสกอตที่มีความเชื่อมั่นอันรุนแรง เขารักสกอตแลนด์ และเชื่อมั่นว่าสกอตแลนด์ในฐานะประเทศอิสระ จะเป็นส่วนหนึ่งของประเทศยุโรป”
ฮัมซะ จะเผชิญกับความท้าทายบางอย่าง รวมถึงข้อพิพาทกับสหราชอาณาจักร เกี่ยวกับเอกราชของสกอตแลนด์ ในสุนทรพจน์ที่กล่าวเมื่อวันที่ได้รับชัยชนะ เขาได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของความเป็นอิสระของประชาชน และว่า คนในสกอตแลนด์ต้องการความเป็นอิสระมากกว่าเดิม “และเราจะเป็นรุ่นแรกที่ส่งมอบมันให้กับประชาชน”
นายกรัฐมนตรีมุสลิมคนใหม่ของสกอตแลนด์
ในปี 2014 สกอตแลนด์จัดให้มีการลงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชจากสหราชอาณาจักร ผลที่ออกมา 55 % โหวตให้อยู่กับสหราชอาณาจักร 45 % โหวตให้แยกตัวเป็นเอกราช ในขณะที่อังกฤษปฏิเสธไม่ให้จัดการลงประชามติอีกครั้ง
การมีภูมิหลังเป็นมุสลิมปากีสถาน ได้ส่งข้อความเชิงบวกแก่ชนกลุ่มน้อยของประเทศ คนหนุ่ม-สาวเห็นเขาเป็นแบบอย่าง และเป็นบุคคลที่สร้างแรงบันดาลใจอย่างแท้จริง สิ่งนี้ได้ให้การส่งเสริมแก่เยาวชนมุสลิมและชนกลุ่มน้อย ให้มองเห็นความหวังของการทำงานหนัก ว่าจะทำให้ก้าวไปสู่จุดสูงสุดได้
ตามข้อมูลการสำรวจสำมะโนประชากรในปี 2011 สกอตแลนด์มีประชากรมุสลิมประมาณ 77,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 1.4 ของประชากรทั้งประเทศ ร้อยละ 66 ของมุสลิมในเมืองกลาสโกว์ มีเชื้อสายปากีสถาน
ที่มา: www.aa.com.tr