อาหารไทยเข้าสู่ตลาดฮาลาล กรุงเทพฯ เตรียมดึงนักท่องเที่ยวมุสลิมเข้ามามากขึ้น
สำนักข่าวมุสลิมไทยโพสต์: อาหารไทยสู่ตลาดฮาลาล กรุงเทพฯเตรียมดึง นทท.มุสลิมมากขึ้น
อาหารรสจัดจ้านที่มีกลิ่นหอมยั่วยวนของประเทศไทย ดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ขณะนี้ไทยกำลังมุ่งเน้นไปที่การสร้างสรรค์อาหารยอดนิยมในรูปแบบฮาลาล เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากโลกมุสลิมให้มากขึ้น
นับตั้งแต่ประเทศไทยที่มีชาวพุทธเป็นชนส่วนใหญ่ ได้สถาปนาความสัมพันธ์ ทางการทูตกับซาอุดิอาระเบียอีกครั้งหนึ่ง ในปี 2565 (2022) มีการมุ่งเน้นที่การดึงดูดนักท่องเที่ยวจากประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ให้มายังจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวยอดนิยมมากขึ้น เมื่อเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลได้ประกาศแผนปี 2567 – 2571 เพื่อส่งเสริมประเทศไทยให้เป็น “ครัวฮาลาลของโลก” และ “ศูนย์กลางฮาลาล” ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาบันหลักที่รับผิดชอบในการรับรองการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์เกี่ยวกับฮาลาลในประเทศไทย คือ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในกรุงเทพ ฯ ซึ่งได้พัฒนา Halal Assurance, Liability-Quality System หรือ HAL-Q ซึ่งใช้โดยโรงงานอาหารกว่า 770 แห่ง และร้านอาหารกว่า 7,000 แห่งทั่วประเทศ ทำให้สามารถใช้คำว่า “ฮาลาล” ในการตลาดได้
ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการก่อตั้งศูนย์ ฯ กล่าวกับสื่ออาหรับนิวส์ ว่า เฉพาะในกรุงเทพ ฯ เพียงแห่งเดียว มีร้านอาหารประเภทนี้ถึง 900 แห่ง ซึ่ง “เพียงพอที่จะรองรับนักท่องเที่ยวชาวมุสลิม”
“เราทำงานร่วมกับคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เรากำลังพยายามนำเสนออาหารไทยฮาลาล ให้เป็น “ซอฟต์ เพาเวอร์ – soft power” ของประเทศไทย” ดร.วินัย กล่าวเสริม
ตั้งแต่ต้มยำหอมตะไคร้ อันเป็นเอกลักษณ์ ไปจนถึงผัดไทย เมนูเส้นเล็กอันเป็นอาหารประจำชาติ หลักการของอาหารไทย คือ ความกลมกลืน สำหรับ ดร.วินัย ดะห์ลัน การเตรียมอาหารด้วยวิธีฮาลาล และได้รับการรับรองเช่นนี้ ช่วยเพิ่ม “ความไว้วางใจ” ของนักท่องเที่ยว เนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมเดินทางมายังประเทศไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ
ที่ “ร้านสุขสยาม” ห้องอาหารในร่ม ธีมตลาดน้ำ ในศูนย์การค้าไอคอนสยาม กรุงเทพ ฯ และ “ร้านกันตัง” เสิร์ฟอาหารไทยขึ้นชื่อในสไตล์ฮาลาล อรรถ ณัฐภูวนารถ พนักงานร้าน กล่าวว่า “ต้มยำ คือ ที่สุดของที่สุด ... หลายคนมาเพื่อกินต้มยำที่นี่”
แต่ไม่ใช่นักท่องเที่ยวมุสลิมทุกคนที่จะรู้จักตลาดอาหารที่ค่อนข้างใหม่ หรือสถานที่อื่น ๆ ที่มีแผงขายอาหารฮาลาล
ตลาดกลางคืน จ็อดแฟร์ (The Jodd Fairs Night Market) ย่านถนนพระราม 9 ก็เป็นอีกที่ที่มีอาหารฮาลาลให้เลือก เช่น ต้มยำทะเล แกงเนื้อแดง และผัดไทย ในตลาดประตูน้ำในกรุงเทพ ฯ แผงลอยบางร้านที่ดำเนินการโดยชาวไทยมุสลิม ก็จำหน่ายอาหารฮาลาล แม้ว่าจะต้องใช้ความพยายามพอสมควรในการหาอาหารเหล่านี้ก็ตาม
นักท่องเที่ยวบางคน เช่น นานี โรฮายู ชาวมาเลเซีย ซึ่งมาเยี่ยมสามีและลูกสาว ได้เดินทางไปตามถนน และตรอก ซอกซอย ในกรุงเทพ ฯ โดยใช้คำแนะนำด้านอาหารจากโซเชียลมีเดีย การปฏิบัติตามข้อมูลอ้างอิงที่ครอบครัวของเธอได้พบทางออนไลน์ เป็นวิธีที่สนุกในการสำรวจเมือง และค้นหาร้านอาหารฮาลาลใหม่ ๆ
“จากถนนหนี่งไปอีกซอยหนึ่ง คุณจะพบร้านอาหารฮาลาลอย่างไม่มีปัญหา มีข้อมูลมากมายบนอินเทอร์เน็ต มันง่ายมาก” เธอบอกกับอาหรับนิวส์ หลังประสบความสำเร็จการค้นหาต้มยำ บะหมี่ และข้าวเหนียวมะม่วง
ที่มา: www.arabnews.com
https://news.muslimthaipost.com/news/38082
บทความที่น่าสนใจ
- ผ้า ติดตราฮาลาล เพื่อ?
- แอพหาคู่แบบฮาลาลเมืองผู้ดีกลับมาจัดกิจกรรมช่วยมุสลิมหาคู่ชีวิตอีกครั้ง
- ชี้แจง ฮาลาลมาเลเซียไม่ครอบคลุมอาหารสัตว์
- แนะนำบริษัทเวียดนามให้บุกตลาดมุสลิม
- ท่องเที่ยวฮาลาล ท่องเที่ยววิถีมุสลิม บราซิลพร้อมแล้ว!
- รัฐบาลดันส่งออก สินค้าฮาลาล โต 3% มูลค่ากว่าแสนล้าน
- ผนึกพลังผุดหลักสูตร ผลิตทรัพยากรมนุษย์ด้านฮาลาล ผสานสร้างสมุทรปราการโมเดล
- ฮาลาลจ่ายภาษีหรือไม่ เงินฮาลาลนำไปทำอะไร เงินเดือนอิหม่าม 18,000 เชียวหรือ?
- ตลาดเครื่องสำอางฮาลาล เปิดโผรุกหนักทั่วโลกอย่างน่าทึ่ง!