รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สอดรับกับมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรไทยที่โตต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปี รัฐบาลเล็งเห็นโอกาสและศักยภาพการผลิตและส่งออกสินค้าอาหารและผลผลิตเกษตรมาตรฐานฮาลาลสู่ตลาดกลุ่มประเทศมุสลิม
รัฐบาลดันส่งออก สินค้าฮาลาล โต 3% มูลค่ากว่าแสนล้าน
วันที่ 24 มิ.ย.64 ที่ทำเนียบรัฐบาล นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สอดรับกับมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรไทยที่โตต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปี รัฐบาลเล็งเห็นโอกาสและศักยภาพการผลิตและส่งออกสินค้าอาหารและผลผลิตเกษตรมาตรฐานฮาลาลสู่ตลาดกลุ่มประเทศมุสลิม และประเทศที่ไม่ใช่มุสลิมแต่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่มาก เช่น อินเดีย จีน รัสเซีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งคาดว่ามีประชากรชาวมุสลิมทั่วโลกกว่า 2 พันล้านคน มูลค่าตลาดประมาณ 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้าการส่งออกสินค้าฮาลาลทุกประเภทไปยังกลุ่มประเทศมุสลิม ของปี 2564 ไว้ที่ 1.22 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3% ที่มีมูลค่า 1.18 แสนล้านบาท
นางสาวรัชดา กล่าวว่า ทั้งนี้ ความได้เปรียบในการแข่งขันของผู้ผลิตไทย คือ สามารถผลิตสินค้าที่หลากหลายและได้มาตรฐาน ทำให้ตอบสนองความต้องการของตลาดได้เป็นอย่างดี ขณะนี้มีบริษัทที่ได้การรับรองมาตรฐานอาหารฮาลาลประมาณ 5,000 บริษัท มีผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองฮาลาลมากกว่า 160,000 รายการ ซึ่งอาจเป็นจำนวนที่มากที่สุดในโลกก็ว่าได้ และรัฐบาลเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเป็นประเทศผู้นําในการพัฒนา ผลิต และส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่ได้รับความเชื่อมั่นในตลาดโลก อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาพบว่า ผู้ประกอบการบางส่วนยังไม่เห็นความสาคัญในการผลิตสินค้าตามหลักศาสนาอิสลาม และยังไม่ทราบความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละประเทศ รวมถึงมีแนวโน้มการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศผู้นำเข้ามากขึ้น
นางสาวรัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อส่งเสริมบทบาทการเป็นผู้ผลิตสำคัญในตลาดโลก รัฐบาลได้ขับเคลื่อนด้วยโมเดล “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีแนวทางดำเนินการร่วมกับหลายภาคส่วน ครอบคลุมการเพิ่มศักยภาพหน่วยงานรับรองมาตรฐานฮาลาล ใช้เทคโนโลยีทันสมัยในการตรวจสอบ การเสริมสร้างองค์ความรู้ในการผลิตและการบริหารจัดการตั้งแต่ระดับฟาร์มจนถึงผู้บริโภค การพัฒนาฐานข้อมูลฮาลาล และการส่งเสริมฐานข้อมูลวัตถุดิบฮาลาล เป็นต้น ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ มีแผนการพัฒนาศักยภาพการตลาดฮาลาลสู่สากล ประกอบด้วย กิจกรรม เช่น การจัดอบรมให้ความรู้กับผู้ประกอบการเกี่ยวกับการผลิตสินค้าฮาลาลที่ถูกต้องตามหลักศาสนา รวมถึงความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละประเทศ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายร่วมกับห้างค้าปลีก/ซุปเปอร์สโตร์ชั้นนำ การจัดกิจกรรมจับคู่เจรจาการค้าสินค้าอาหารฮาลาลออนไลน์ ในอาเซียน จีน แอฟริกา และตะวันออกกลาง การประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์สินค้าฮาลาลไทย และการสร้างความร่วมมือที่ดีกับผู้เกี่ยวข้องกับสินค้าฮาลาลในตลาดประเทศมุสลิม เป็นต้น
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์พร้อมให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่ผู้ประกอบการที่มีความสนใจตลาดสินค้าฮาลาลที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มมากขึ้น และยังมีโอกาสช่องทางการค้าออนไลน์เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภคตามวิถีชีวิตในยุคปัจจุบัน
ที่มา: www.thaipost.net
- ข่าวบิดเบือน ทุนมหาดไทย ให้เฉพาะเยาวชนไทยมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น
- กัญชง-กัญชา กก.อิสลามออกประกาศแล้ว ฮาลาลหรือไม่? (รายละเอียด)
- ไก่ทอด เท็กซัส Texas ฮาลาล halal or not ไม่ได้รับการรับรองฮาลาล halal
- ล่าสุด หม่อมถนัดแดก แจงร้านไม่ได้ขอฮาลาล ได้เฉพาะมัสมั่นขาแกะ
- ฟัตวา บิทคอยน์ Bitcoin ฮาลาลหรือไม่?