ดรวินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรองประธานคณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงข้อสงสัยเรื่องการขอการรับรองฮาลาลว่า
ฮาลาลจ่ายภาษีหรือไม่ เงินฮาลาลนำไปทำอะไร เงินเดือนอิหม่าม 18,000 เชียวหรือ?
ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรองประธานคณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงข้อสงสัยเรื่องการขอการรับรองฮาลาลว่า
มีสื่อมวลชนสองสามสำนักสัมภาษณ์ผมกรณีคนกลุ่มหนึ่งร้องต่อศาลปกครองขอให้ยึดฮาลาลคืนจากสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยสองวันติดกัน นอกเหนือจากเรื่องที่เคยชี้แจงไปแล้วยังมีประเด็นที่น่าสนใจอื่นอีก ดังนี้
ถาม: เขาบอกว่าโต๊ะอิหม่ามได้เงินเดือนจากรัฐบาลเดือนละ 18,000 บาท ทำไมต้องเอาใจมุสลิมกันอย่างนั้น
ตอบ: ไม่ใช่แค่โต๊ะอิหม่าม ทางคอเต็บ บืหลั่นก็ได้ด้วย แต่อิหม่ามได้ 1,500 บาทต่อเดือน คอเต็บ บิหลั่นได้คนละพันบาท รัฐธรรมนูญไม่ต้องการให้แบ่งแยก ทุกคนต้องเท่ากัน เมื่อรัฐบาลให้ค่าตอบแทนเจ้าอาวาสก็ต้องให้อิหม่าม ให้บาทหลวงด้วย ประเทศไทยน่ารักตรงนี้ หากให้โต๊ะอิหม่าม 18,000 เจ้าอาวาส บาทหลวงก็ต้่องได้เท่ากันหรือมากกว่า เพียงแต่มันไม่ได้มากอย่างนั้น ข้อมูลมันไม่ถูกต้อง
ถาม: เขาว่าสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยมีรายได้จากฮาลาลมาก ไม่ต้องเสียภาษีด้วย เอาเปรียบกันเกินไปไหม
ตอบ: เรื่องไม่เสียภาษีนี่เรื่องจริง ใครบริจาคให้สำนักงานคณะกรรมการอิสลามยังลดหย่อนภาษีได้อีก แต่กฎหมายกำหนดไว้อย่างนั้น สำนักงานคณะกรรมการอิสลาม และมัสยิดจัดเป็นองค์กรศาสนาเหมือนวัดและโบสถ์ มีรายได้แล้วเขายกเว้นภาษีให้ ส่วนที่ว่ารายได้มากนั้น ตอน พ.ศ.2558 ประเทศไทยมีรายได้จากอาหารฮาลาลเข้าประเทศเฉพาะที่ส่งออกไปประเทศมุสลิมไม่นับผลิตภัณฑ์ฮาลาลที่ส่งออกไปยังประเทศที่ไม่ใช่มุสลิมรวมแล้ว 213,500 ล้านบาท เงินจำนวนนี้คนที่ได้ประโยชน์คือผู้ประกอบการ คนงาน เกษตรกร รัฐบาล คนไทยทั้งหมด ซึ่งแทบไม่มีมุสลิมเลย ส่วนสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยกับสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมีรายได้จากเงินก้อนนี้ 70 ล้านบาท หรือเพียง 0.033%
ถาม: 70 ล้านบาทนี่เอาไปทำอะไรกัน
ตอบ: สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยมีบุคลากรประมาณ 150 คน หากรวมเจ้าหน้าที่ในสำนักจุฬาราชมนตรีด้วยก็ประมาณ 200 คน คนเหล่านี้ต้องการเงินเดือน คณะกรรมการมีฝ่ายต่างๆ 12 ฝ่าย ทั้งฮัจย์ สังคมสงเคราะห์ ยาเสพติด วิชาการ เยาวชน สตรี มีอนุกรรมการรวมกันแล้วหลายร้อย เจ้าหน้าที่ฮาลาลอีกเป็นร้อย มีค่าใช้จ่ายกับฝ่ายต่างๆมากมาย ครั้งที่แล้วน้ำท่วมก็ต้องลงไปช่วยที่นคร ภัยหนาวที่อิสาน ไฟไหม้โรงเรียนที่เชียงรายทำเอาเด็กนักเรียนเสียชีวิตไปหลายรายยังส่งเงินไปช่วย ทั้งหมดที่ว่ามานี่ไม่ใช่มุสลิมสักราย เพราะประเทศไทยแบ่งแยกไม่ได้ไง ต้องช่วยทั้งหมด ไปลงทุนเรื่องศูนย์บำบัดยาเสพติดอีกหลายสิบล้าน ทั้งกรรมการกลางยังต้องดูแลมัสยิดในอีก 38 จังหวัดที่ไม่มีกรรมการประจำจังหวัด คิดว่า 70 ล้านพอไหมล่ะ
ถาม: เรื่องฮาลาลทำไมต้องออกตรารับรองให้ด้วย
ตอบ: ไม่ออกให้ก็ได้ อย่างอินโดนีเซียประชากร 250 ล้านคน เป็นมุสลิม 215 ล้านคน ตลาดฮาลาลใหญ่โตมโหฬาร เขาว่าหากประเทศไทยส่งออกไปอินโดนีเซียแล้วไม่รับรองฮาลาล ต้องแจ้งด้วยว่าผลิตภัณฑ์ของเราไม่เหมาะกับมุสลิม หากไม่รับรองฮาลาล ทางอินโดนีเซียเขาขอมารับรองให้เอง วันนี้เรามีโรงงานที่พร้อมขอการรับรองฮาลาล 30,000 โรง แต่มาขอจริงแค่ 10% อีก 90% ไม่มาขอเนื่องจากตราฮาลาลไม่มีการบังคับ อยากจะได้ก็มาขอ ข่าวที่ว่าไปบังคับให้เขารับตราฮาลาลนั่นก็เข้าใจผิด
ถาม: เขาไม่ขอคงเพราะเก็บแพง
ตอบ: ตราฮาลาลประเทศไทยราคาถูกที่สุดแล้ว ทางคณะกรรมการกำหนดไว้ว่าห้ามเกิน 20,000 บาท เอาเข้าจริง OTOP SME ลดราคาหมด อย่างปีที่แล้ว SME 4,000 ราย ขอตราฮาลาลประเภทร้านอาหาร ไม่ต้องจ่ายเลยแม้แต่บาทเดียว หลายจังหวัดเขาเก็บ OTOP แค่ร้อยบาท
ถาม: มีข่าวว่ามีคนบางกลุ่มขอให้ สนช. ออกกฎหมายโอนอำนาจการออกตราฮาลาลให้ไปอยู่กับองค์กรอื่นๆ
ตอบ: เรื่องนี้พูดกันมานาน บางทียังว่ารัฐบาลจะตั้งกรมฮาลาล ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าฮาลาลเป็นเรื่องศาสนา องค์กรหรือหน่วยงานที่ไม่ใช่ศาสนาไปรับรองฮาลาลอาจไม่เหมาะ ต่างประเทศไม่ยอมรับ อีกเรื่องหนึ่งคือกฎหมายว่าด้วยการบริหารองค์กรศาสนาอิสลามประกาศใช้ใน พ.ศ.2540 เกิดในช่วงบรรยากาศประชาธิปไตยเบ่งบาน ตาม พรบ. มุสลิมทุกคนเลือกกรรมการมัสยิด อิหม่ามมัสยิดที่เลือกมาจากประชาชนเลือกกรรมการจังหวัด กรรมการจังหวัดเลือกจุฬาราชมนตรีและเลือกกรรมการกลาง โครงสร้างที่มอบอำนาจให้กับผู้แทนประชาชนอย่างนี้มีประเทศไทยประเทศเดียว
แต่วันนี้ทางอินโดนีเซียกับมาเลเซียเขาจะทำตาม หากกรรมการมีปัญหาก็ต้องแก้ไขที่การพัฒนาองค์กรและบุคลากร ทำเหมือนสมัยพัฒนา อบต. อบจ. นั่นแหละ สุดท้ายก็ดีเอง หากจะตั้งองค์กรใหม่ก็ต้องหาองค์กรที่มีผู้แทนมาจากประชาชนอย่างนี้ ไม่ใช่เอาใครก็ได้อย่างที่บางประเทศทำ หรือให้รัฐมนตรีตั้งอย่างที่เคยเสนอกันมาแล้ว
ถาม: ทำไมกรรมการกลางไม่ชี้แจงให้คนเข้าใจ
ตอบ: บรรยากาศไม่ค่อยดีก็เลยไม่มีการชี้แจง ผมเองไม่ได้เป็นโฆษก เมื่อมีโอกาสก็อยากจะชี้แจง ที่ออกมาครั้งนี้ก็เพราะข้อมูลที่เผยแพร่ออกมา มันมีความเข้าใจผิดแยะ ฮาลาลให้ผลประโยชน์กับประเทศชาติมหาศาล คนที่ไม่รู้จะได้รู้
ที่มา: www.mtoday.co.th