บ้านสงขลา เป็นชื่อชุมชนมุสลิมเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ในอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ชาวบ้านเล่าต่อกันมาว่า บรรพบุรุษตนคือกลุ่มมุสลิมที่อพยพย้ายถิ่นมาจากเมืองสงขลาในสมัยสุลต่านมุสตาฟา
มุสลิมบ้านสงขลาเมืองไชยา
บ้านสงขลา เป็นชื่อชุมชนมุสลิมเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ในอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ชาวบ้านเล่าต่อกันมาว่า บรรพบุรุษตนคือกลุ่มมุสลิมที่อพยพย้ายถิ่นมาจากเมืองสงขลาในสมัยสุลต่านมุสตาฟา
ดังมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า...
หลังจากที่ สมเด็จพระนารายณ์ ส่งกำลังเข้าปราบปรามรัฐอิสระสงขลาหัวเขาแดงลงได้อย่างเด็ดขาดในปี พ.ศ. 2223 โปรดให้ส่งสุลต่านมุสตาฟา ผู้ครองเมืองขณะนั้น พร้อมด้วยครอบครัวและผู้ติดตามที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ไปอยู่ที่เมืองไชยา ส่วนผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 60 ปี ได้แก่ น้องชายชื่อ หะซันและฮุสเซน กับลูกชายของมุสตาฟา ชื่อเตาฟิก พร้อมด้วยบริวารจำนวนหนึ่งไปรับราชการที่กรุงศรีอยุธยา
ไม่นานหลังตำแหน่งเจ้าเมืองไชยาว่างลง จึงโปรดเกล้าแต่งตั้งมุสตาฟาเป็นพระยาพิชิตภักดีศรีพิชัยสงคราม เจ้าเมืองไชยา
แผนที่แสดงตำแหน่งที่ตั้งของบ้านสงขลาและบ้านพุมเรียงซึ่งอยู่ริมคลองพุมเรียง
ห่างจากบ้านสงขลาไปทางทิศตะวันออกราว 5 กิโลเมตร และห่างจากทะเลอ่าวไทยที่ปากน้ำแหลมโพธิ์เข้ามาราว 3 กิโลเมตร
มุสตาฟา จึงนับเป็นเจ้าเมืองไชยาผู้มีเชื้อสายมุสลิมท่านแรก อย่างไรก็ดี ทันทีที่ได้รับตำแหน่งมุสตาฟาได้พาครอบครัวและผู้ติดตามมาลงหลักปักฐานสร้างบ้านสร้างเรือนบนที่ดอนเล็กๆ ในทุ่งไชยาอันอุดมสมบูรณ์ และขนานนามเมืองไชยาใหม่ที่ตั้งอยู่ ณ ทุ่งไชยา ว่า บ้านสงขลา
โดยเมื่อแรกตั้งเมือง มุสตาฟาได้ปักเสาหลักประโคนไว้เป็นอนุสรณ์ที่กลางเมืองไชยาบ้านสงขลาด้วย ปัจจุบันยังมีร่องรอยเสาหลักประโคนให้เห็นอยู่
นอกจากเรื่องเล่าที่บอกประวัติความเป็นมาซึ่งคุ้นเคยดีในหมู่ชาวบ้านที่บ้านสงขลาแล้ว หลักฐานสำคัญที่ชาวบ้านพูดถึงเสมอและเชื่อว่ามีความเกี่ยวข้องกับมุสตาฟาผู้เป็นเจ้าเมืองก็คือ กุโบร์เจ้าเมือง
เสาหลักประโคน เชื่อว่าเป็นเสาหลักเมืองไชยาที่บ้านสงขลา ชาวบ้านเล่าว่า เดิมบริเวณที่ตั้งเสาต้นนี้เป็นที่เนินขนาดย่อม น้ำท่วมไม่ถึง ต่อมาในสมัยหลังจึงมีการไถปรับพื้นที่รอบๆ ลง
บริเวณที่ตั้ง สุสานเจ้าเมืองไชยา มีลักษณะเป็นที่ดอนคล้ายเกาะกลางน้ำเพราะมีคลอง 3 สายล้อมรอบ คือ คลองบ้านสงขลา คลองท่าโพธิ์ และคลองโหนดการ้อง
บ้านสงขลามีกุโบร์หรือสุสานเจ้าเมือง 2 แห่ง แห่งแรกคือ สุสานเจ้าเมืองไชยา หรือที่ชาวบ้านเรียกติดปากว่า พาหม สุสานเจ้าเมืองไชยาแห่งนี้ตั้งอยู่บนที่ดอนมีคลองล้อมรอบ
โดยอยู่ทางทิศเหนือในเขตบ้านโต๊ะเจ้า ไม่ไกลจากบ้านสงขลานัก
ภายในมีศาลาโถงที่สร้างคลุมแท่นปูน 2 แท่น ป้ายด้านหน้าระบุชื่อ พระยาพิชิตภักดีศรีพิชัยสงคราม พระยาไชยามุสตาฟา บุตรสุลต่านสุลัยมาน
และ พระยาพิชิตภักดีศรีพิชัยสงคราม พระยาไชยาเตาฟิก บุตรสุลต่านมุสตาฟา
สุสานเจ้าเมืองไชยา พระยาไชยามุสตาฟาและพระยาไชยาเตาฟิก ตั้งอยู่ในเขตบ้านโต๊ะเจ้าทางทิศเหนือของบ้านสงขลา
กุโบร์อีกแห่งอยู่ห่างจากบ้านสงขลาไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือราว 1 กิโลเมตร ชาวบ้านเรียกว่า กุโบร์บ้านป่าขาว
นอกจากที่นี่จะเป็นที่ฝังร่างของมุสลิมในย่านมาจนถึงปัจจุบันแล้ว สุสานแห่งนี้ยังมีกุโบร์พระยาแก้วโกรพพิชัย เจ้าเมืองพัทลุงอีกด้วย พระยาแก้วโกรพพิชัยมีนามเดิมว่า ฮุสเซน
ท่านเป็นบุตรสุลต่านสุลัยมานและเป็นน้องชายมุสตาฟา เจ้าเมืองไชยา
เล่ากันว่า พระยาแก้วโกรพพิชัยจะเดินทางไปบ้านสงขลาแต่เสียชีวิตกะทันหัน
ชาวบ้านจะนำร่างท่านไปฝังที่สุสานเจ้าเมืองไชยา แต่ขณะนั้นเป็นหน้าน้ำ การเดินทางไม่สะดวก จึงต้องฝังร่างท่านที่นี่เพราะเป็นที่เนิน น้ำท่วมไม่ถึง
สุสานพระยาแก้วโกรพพิชัย หรือกุโบร์บ้านป่าขาว
ต่อมา ในช่วงสงครามคราวเสียกรุง บ้านเมืองระส่ำระสาย ผู้คนอพยพหนีภัยสงคราม เมืองไชยาที่บ้านสงขลาขาดผู้นำจึงถูกพม่าตีแตกโดยง่าย บางส่วนอพยพไปอยู่ที่พุมเรียง
แต่ทัพพม่าก็ยกตามไปตีค่ายชาวบ้านที่บ้านพุมเรียงจนแตกพ่าย พม่ากวาดต้อนผู้คนไปจำนวนหนึ่ง หลังสงครามสงบ พุมเรียงกลายเป็นศูนย์กลางการปกครองของไชยาภายใต้การดูแลของเจ้านครฯ
ก่อนที่ลูกหลานผู้มีเชื้อสายมุสตาฟาจะกลับมามีบทบาทสำคัญในการช่วยพระเจ้าตากปราบก๊กเจ้านครฯ ในสมัยกรุงธนบุรี
ที่มา: www.muangboranjournal.com