รัฐบาลอินเดียสั่งแบนกลุ่มมุสลิม Popular Front of India (PFI) รวมทั้งเครือข่ายที่เป็นสาขาของกลุ่ม เป็นเวลา 5 ปี โดยอ้างว่า
สำนักข่าวมุสลิมไทยโพสต์: มารู้จัก PFI กลุ่มมุสลิมอินเดียที่ถูกประกาศเป็นกลุ่มนอกกฎหมาย
สัปดาห์นี้ รัฐบาลอินเดียสั่งแบนกลุ่มมุสลิม Popular Front of India (PFI) รวมทั้งเครือข่ายที่เป็นสาขาของกลุ่ม เป็นเวลา 5 ปี โดยอ้างว่าทำผิดกฎหมาย พรบ.การป้องกันกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย (UAPA) โดยก่อนจะออกคำสั่ง หน่วยงานความมั่นคงได้ออกตรวจค้นทั่วประเทศ และจับกุมผู้คนหลายสิบคนที่ถูกกล่าวหาว่า เชื่อมโยงกับ PFI ในหลายรัฐ
รัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายในกล่าวในคำแถลงเมื่อวันที่ 28 กันยายน ที่ผ่านมา ว่า กลุ่ม PFI และเครือข่าย ถูกพบว่าเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุรุนแรง รวมทั้งการก่อการร้าย การจัดหาเงินทุนสนับสนุน การสังหารชีวิตผู้คน ในขณะที่กลุ่ม PFI ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหา และว่า กลุ่มของเขาตกเป็นเหยื่อของการล่าแม่มด โดยรัฐบาลของนายนเรทรา โมดี
กลุ่ม PFI ก่อตั้งขึ้นในปี 2007 โดยเป็นการรวม 3 กลุ่มที่ทรงอิทธพลเข้าด้วยกัน คือ กลุ่มแนวหน้าประชาธิปไตยแห่งชาติ (National Democratic Front (NDF) ในรัฐเกรละ (Kerala) กลุ่ม Karnataka Forum for Dignity ในรัฐ Karnataka และกลุ่ม Manitha Neethi Pasarai ในทมิฬนาดู ใน 2 ปี หลังจากก่อตั้ง PFI มีการประกาศว่า กลุ่มจัดตั้งพรรคการเมือง คือ พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยแห่งอินเดีย (Social Democratic Party of India – SDPI) จะลงสมัครรับเลือกตั้ง
PFI ระบุว่า กลุ่มตั้งเป้าในการเพิ่มศักยภาพให้แก่มุสลิม และชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ ในอินเดีย และสมาชิกพรรค SDPI ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น ในเกรละ และกรณาฏกะ
สื่อกล่าวว่า กลุ่มนี้กระตือรือร้นในประเด็นที่เกี่ยวกับมุสลิม และว่า แนวคิดพื้นฐานในการเพิ่มอำนาจเข้ากันได้กับสังคมในรัฐเกรละ ทำให้ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งระดับเทศบาล ในหลายเขตของรัฐกรณาฏกะ
หน่วยงานสอบสวนแห่งชาติของอินเดีย แถลงเมื่อวันที่ 22 กันยายน ที่ผ่านมา ว่า ในช่วงไม่กี่ปีนี้มีคดีอาญาจำนวนมากเกิดขึ้นในรัฐต่าง ๆ โดยเชื่อว่า ผู้นำ และสมาชิกของ PFI อยู่เบื้องหลัง หรือมีส่วนร่วมในการกระทำรุนแรงหลายคดี
มุสลิมในอินเดียคิดเป็นร้อยละ 14 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ 1.4 พันล้านคน พวกเขากล่าวว่า ต้องเผชิญกับการสู้รบที่เพิ่มขึ้น ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว อันเนื่องมาจากการกระทำของกองกำลังสุดโต่งชาวฮินดู ที่ไม่ต้องรับโทษเมื่อทำผิดกฎหมาย
ที่มา: www.aljazeera.com