ชนกลุ่มน้อยในอิรักประท้วง ไม่ใช่ประเทศอิสลามทำไมจึงจะห้ามขายเหล้า
สำนักข่าวมุสลิมไทยโพสต์ : อิรักไม่ใช่ประเทศอิสลาม ทำไมห้ามขายเหล้า?
เริ่มตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม ที่ผ่านมา ทางการอิรักสั่งห้ามนำเข้า ผลิต และขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด โดยเป็นการตอกย้ำกฎหมายห้ามการกระทำดังกล่าว ซึ่งผ่านความเห็นชอบเมื่อปี 2016 แต่การบังคับใช้ได้ถูกระงับไปชั่วคราว หลังจากที่มีการต่อต้านอย่างรุนแรงจากกลุ่มที่สนับสนุนการแยกศาสนาออกจากการเมือง (เซคิวลาริสต์) และชนกลุ่มน้อยที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม
กฎหมายดังกล่าวกำหนดโทษปรับสำหรับการฝ่าฝืน อยู่ที่ระหว่าง 10 ล้าน – 25 ล้านดินาร์ หรือราว 266,709 – 658,113 บาท
เมื่อเดือนที่ผ่านมา กฎหมายดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในราชกิจจา ฯ ของอิรักอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นการปูทางไปสู่การบังคับใช้ โดยกลุ่มแนวร่วมของนายโมฮัมเหม็ด ชีอะ อัล-ซูดานี นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนตุลาคม ปีที่ผ่านมา เป็นผู้สนับสนุนให้บังคับใช้กฎหมายดังกล่าว
แม้กฎหมายใกล้จะมีผลบังคับใช้ แต่ร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกรุงแบกแดด เมืองเออร์บิล และในหลายส่วนของประเทศ ยังคงเปิดขาย โดยเฉพาะร้านที่เป็นของชนกลุ่มน้อยชาวยาซิดี และชาวชุมชนคริสเตียน ซึ่งสร้างความน่ากังวลเป็นอันมาก
อิรักเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางศาสนา โดยประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิมชีอะฮ์ และซุนนี แต่ยังคงมีชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่ม เช่น คริสเตียน ยาซีดี โซโรอัสเทรียน แมนดาอีน และอื่น ๆ ซึ่งแต่ละกลุ่มก็มีสมาชิกจำนวนไม่น้อย นักวิเคราะห์เชื่อว่า กฎหมายนี้จะเป็นก้าวแรกที่นำไปสู่การทำให้อิรักกลายเป็นประเทศอิสลาม
นักรณรงค์ชาวคริสเตียน ในเมืองอันคาวา กล่าวว่า การห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นการลิดรอนสิทธิ์ของผู้ที่นับถือศาสนาอื่น และชนกลุ่มน้อย
นายอะลี ซาเฮบ นักวิเคราะห์การเมืองชาวอิรัก กล่าวว่า อิรักไม่ใช่ประเทศอิสลาม และ “บางศาสนาก็อนุญาตให้ดื่มแอลกอฮอล์ได้ รัฐบาลไม่ควรบังคับความคิดเห็น หรืออุดมการณ์บางอย่างของประชาชน”
ศาสนาของชาวยาซิดีและศาสนาคริสต์ ไม่ห้ามการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บางครั้งมีการใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในพิธีกรรมทางศาสนาด้วยซ้ำ ซึ่งต่างจากศาสนาอิสลาม ในขณะเดียวกัน ผู้ที่คัดค้านกฎหมายนี้กล่าวว่า การห้ามดังกล่าวเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญของอิรัก ซึ่งรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานในเสรีภาพส่วนบุคคล การนับถือศาสนา และการปฏิบัติตามวัฒนธรรมประเพณี มิรซา ดินนายี นักรณรงค์ชาวยาซิดี แสดงความเห็นว่า ประเทศมุสลิมส่วนมากไม่ได้ห้ามการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่มีการออกกฎหมายควบคุม ซึ่งรัฐบาลอิรักควรจะพิจารณาทำสิ่งนี้แทนที่จะสั่งห้ามโดยสิ้นเชิง
ไม่น่าแปลกใจเลย ที่กลุ่มประชาสังคมอิรัก ออกมาต่อต้านกฎหมายนี้อย่างรุนแรง โดย นักวิจัย นักวิชาการ นักข่าว และนักเคลื่อนไหวชาวอิรักที่มีชื่อเสียง มากกว่า 1,000 คน ร่วมกันทำหนังสือเปิดผนึกที่มีเนื้อหาวิจารณ์กฎหมายดังกล่าว ถึงเลขาธิการสหประชาชาติเมื่อเดือนที่ผ่านมา
หลายคนกังวลกันว่า การออกกฎหมายห้ามดังกล่าวจะผลักดันให้ชาวอิรักไปซื้อสินค้าจากตลาดมืด และกฎหมายนี้อาจบีบให้เพิ่มการลักลอบนำเข้ายาเสพติด รวมทั้งการส่งเสริมการใช้สารเสพติดในรูปแบบอื่น ๆ
ที่มา: www.al-monitor.com