ผลการศึกษาวิจัยใหม่พบว่า ผู้พิพากษามุสลิมในอินเดียและปากีสถาน ที่ถือศีลอดในเดือนรอมฎอน มีแนวโน้มที่จะผ่อนปรนในการตัดสินคดีมากกว่าในช่วงอื่น
สำนักข่าวมุสลิมไทยโพสต์: ผู้พิพากษามุสลิม มีแนวโน้มผ่อนปรนเดือนรอมฎอนมากกว่า
ผลการศึกษาวิจัยใหม่พบว่า ผู้พิพากษามุสลิมในอินเดียและปากีสถาน ที่ถือศีลอดในเดือนรอมฎอน มีแนวโน้มที่จะผ่อนปรนในการตัดสินคดีมากกว่าในช่วงอื่น
นักวิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลการตัดสินคดีอาญา ประมาณ 500,000 คดี และการตัดสินของผู้พิพากษา 10,000 คน ซึ่งครอบคลุมระยะเวลา 50 ปีในอินเดียและปากีสถาน
ข้อมูลแสดงให้เห็นว่า การตัดสินยกฟ้องคดีของผู้พิพากษามุสลิมเพิ่มขึ้น “อย่างรวดเร็วและมีนัยสำคัญทางสถิติ” ในช่วงเดือนรอมฎอน แต่ไม่มีความแตกต่างสำหรับผู้พิพากษาที่ไม่ใช่มุสลิม
ผลการศึกษาของ New Economic School ของรัสเซีย พบว่า ผู้พิพากษาในทั้ง 2 ประเทศ ตัดสินให้ปล่อยตัวจำเลยเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยราว 40% ในช่วงเดือนรอมฎอน เมื่อเทียบกับช่วงเวลาอื่น ๆ ของปี
นักวิจัยยังพยายามประเมินว่า การตัดสินคดีที่ผ่อนปรนมากขึ้นนั้น ดีกว่าหรือแย่กว่า การตัดสินนอกเดือนรอมฎอนหรือไม่
พวกเขาพบว่า จำเลยที่ได้รับคำตัดสินที่ผ่อนปรนไม่มีแนวโน้มที่จะก่ออาชญากรรมอีก อัตราการกระทำผิดซ้ำโดยทั่วไปลดลงเล็กน้อย รวมทั้งจำเลยในคดีอาชญากรรมรุนแรง เช่น การปล้นโดยใช้อาวุธ และการฆาตกรรม การวิจัยยังระบุว่า การตัดสินที่ผ่อนปรน ยังมีโอกาสน้อยที่จะถูกอุทธรณ์
Avner Seror ผู้ร่วมวิจัยและนักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Aix-Marseille ประเทศฝรั่งเศส กล่าวว่า ความน่าจะเป็นที่คำตัดสินเดิมจะถูกยกเลิกในชั้นอุทธรณ์ ก็ต่ำกว่าเช่นกัน
Seror กล่าวว่า เดือนรอมฎอนนั้น เหมาะสมอย่างยิ่งกับการวิเคราะห์ทางสถิติ เพราะมีช่องทางมากมายสำหรับการเปรียบเทียบ ตั้งแต่การเข้าเดือนที่ต่างกันไปทุกปี ไปจนถึงระยะเวลาการถือศีลอดที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับเวลาที่ดวงอาทิตย์ขึ้นและตก
เขาเสนอว่า การตัดสินที่ผ่อนปรนอาจเชื่อมโยงกับแนวคิดเรื่องความกรุณา ที่มีอยู่ในหลักศาสนาของชาวมุสลิมโดยเฉพาะในเดือนรอมฎอน คล้ายกับจิตวิญญาณของคริสต์มาสในหมู่ชาวคริสต์
“แต่มันไปไกลกว่านั้น เพราะดูเหมือนว่าจะช่วยให้ผู้พิพากษามีความมั่นคงในการตัดสินอย่างถูกต้อง”
ที่มา: www.sbs.com.au