ถือศีลอดช่วยให้เข้มแข็งขึ้น บทความโดย: รศดรวินัย ดะห์ลัน
ถือศีลอดช่วยให้เข้มแข็งขึ้น
บทความโดย: รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ข้อบังคับ (วายิบ) ในอิสลามให้ถือศีลอดอย่างเคร่งครัดในเดือนรอมฎอน (เดือนเก้า) ยกเว้นสำหรับผู้ป่วยกับผู้เดินทางโดยสามารถชดใช้ในภายหลัง (อัลกุรอ่าน 2:185) ถูกกำหนดขึ้นในเดือนชะอ์บาน (เดือนแปด) ของปีฮิจเราะฮ์ที่สอง ตรงกับต้น ค.ศ. 624 เวลานั้นท่านนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) กำลังทำความคุ้นเคยกับตำแหน่งใหม่ในฐานะผู้นำมุสลิมในเมืองมะดีนะฮ์ การยอมรับในอำนาจของท่านนบีในหมู่ชาวเมืองมะดีนะฮ์ที่มิใช่มุสลิมยังเป็นปัญหาอยู่ การคุกคามจากชาวมักกะฮ์ที่เป็นศัตรูยังรุนแรง
ขณะที่มุสลิมเริ่มถือศีลอดเดือนรอมฎอนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์นั่นเองได้เกิดเหตุการณ์ที่กลายเป็นบททดสอบความอดทนเข้มแข็งของมุสลิมครั้งสำคัญ เป็นเหตุการณ์ที่เปลี่ยนสถานะความเป็นผู้นำของนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) ให้เป็นที่ยอมรับไปทั่วคาบสมุทรอาระเบีย ทำให้อิสลามแข็งกล้าขึ้น เหตุการณ์สำคัญในเดือนรอมฎอนที่ว่านั้นคือ “สงครามบะดัร”
ภาพวาดสงครามบะดัร กองทัพมักกะฮ์พร้อมพรั่งไปด้วยเสื้อเกราะ ม้าศึก 200 ตัวกับอูฐอีกหนึ่งพันตัวขณะที่กองทัพมุสลิมแทบหาเสื้อเกราะไม่ได้ ทั้งมีม้าเพียงสองตัว ส่วนอีก 70 ตัวที่ใช้ในสงครามคืออูฐ
เพียงเริ่มถือศีลอดเดือนรอมฎอนปีแรกไม่กี่วัน ข่าวศึกสงครามเริ่มสะพัดในเมืองมะดีนะฮ์นั่นคือการกรีฑาทัพจำนวนพันคนซึ่งพร้อมพรั่งไปด้วยม้าศึก ชุดเกราะและอาวุธของชาวมักกะฮ์รุกเข้ามาที่มะดีนะฮ์ ท่านนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) ระดมชาวมุฮาญิรีน (มุสลิมจากมักกะฮ์) และอันศอร (มุสลิมจากมะดีนะฮ์) ได้จำนวน 313 คนรวมทั้งตัวท่านออกไปรับศึกที่บ่อน้ำบะดัรซึ่งอยู่ห่างออกไปทางใต้ของมะดีนะฮ์ ทัพมุสลิมมีจำนวนน้อยกว่าสามเท่าทั้งมีอาวุธด้อยประสิทธิภาพกว่า ความพร้อมน้อยกว่าเนื่องจากอำนาจการปกครองของท่านนบีเพิ่งเริ่มต้นขึ้น ผู้คนยังไม่คุ้นชินกับอำนาจและการสั่งการ อีกทั้งสุขภาพของทหารในทัพยังมีปัญหาจากการถือศีลอดเป็นปีแรก โดยมีทหารส่วนหนึ่งไม่ถือศีลอดเนื่องจากอิสลามยกเว้นไว้ขณะเดินทาง อย่างไรก็ตามในเวลานั้นไม่มีใครตำหนิใครว่าถือศีลอดหรือไม่ถือศีลอด
การรบเริ่มในวันที่ 17 ของเดือนรอมฎอน กองทัพมุสลิมที่ด้อยกว่าในทุกด้านกลับมีกำลังใจรุกรบมากกว่าจากความศรัทธาในอัลลอฮ์ (ซ.บ.) และความเชื่อมั่นในการนำของท่านนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) ผลคือชัยชนะในสงครามครั้งแรกที่นับเป็นศึกครั้งสำคัญตกเป็นของมุสลิม ความพ่ายแพ้ของกองทัพมักกะฮ์ที่เป็นผู้นำชนเผ่าต่างๆในคาบสมุทรอาระเบียในเวลานั้นส่งผลให้ความเชื่อมั่นต่อท่านนบีและมุสลิมมีมากขึ้น มุสลิมเข้มแข็งขึ้นเป็นทวีคูณ การปกครองมะดีนะฮ์ของท่านนบีทำได้ง่ายขึ้น การต่อต้านจากชาวเมืองมะดีนะฮ์ที่มิใช่มุสลิมลดน้อยลง ชนเผ่าโดยรอบมะดีนะฮ์ยอมรับอำนาจมุสลิมมากขึ้น คำพูดติดปากของมุสลิมที่ว่า “ความพยายามเป็นของเรา ความสำเร็จเป็นของอัลลอฮ์” เริ่มขึ้นนับแต่นั้น
ความเชื่อที่ว่า การถือศีลอดทำให้ร่างกายอ่อนแอลงหายไปเป็นปลิดทิ้งกลายเป็นความเชื่อใหม่ว่าการถือศีลอดทำให้มุสลิมเข้มแข็งขึ้นเริ่มต้นนับแต่ครั้งนั้นเช่นเดียวกัน ความจริงที่ว่านี้ถูกพิสูจน์อีกหลายครั้งในหลายเหตุการณ์ ซึ่งต่อมาใน ค.ศ.1990 กองทัพบกอิสราเอลทำการศึกษาวิจัยทางการแพทย์และยืนยันว่าสุขภาพของมุสลิมระหว่างการถือศีลอดเข้มแข็งขึ้นเป็นผลให้กองทัพบกอียิปต์ได้ชัยชนะเหนือกองทัพบกอิสราเอลเป็นครั้งแรกในสงครามไซนาย ค.ศ. 1973 เป็นสงครามที่เกิดขึ้นในเดือนรอมฎอน และในเวลานั้นกองทัพอิสราเอลไม่คาดคิดว่ากองทัพอาหรับพร้อมที่จะรบ อย่างไรก็ตาม แพทย์ชาวยิวที่ทำรายงานวิจัยให้กองทัพบกอิสราเอลชิ้นนั้นตั้งเงื่อนไขไว้น่าสนใจว่าความเข้มแข็งที่มากขึ้นในเดือนรอมฎอนเกิดขึ้นเฉพาะมุสลิมที่ถือศีลอดตามแบบฉบับของนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) เท่านั้น นั่นคือกินน้อยลงโดยยังทำงานเป็นปกติ ส่วนผู้ที่กินมากขึ้นอีกทั้งลดการทำงานลงในเดือนรอมฎอนไม่เข้มแข็งขึ้นเลย กองทัพบกอิสราเอลรายงานไว้อย่างนั้น