มุสลิมเนเธอร์แลนด์ร้อง UN หลังถูกจับผิด กมธ.รัฐสภา


สำนักข่าวมุสลิมไทยโพสต์ : มุสลิมเนเธอร์แลนด์ร้อง UN หลังถูกจับผิด กมธ.รัฐสภา

กลุ่มพันธมิตรมุสลิมในเนเธอร์แลนด์ ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กรณีคณะกรรมาธิการรัฐสภาเนเธอร์แลนด์ ตั้งข้อกล่าวหาที่จงใจติดตามเอาผิดชาวมุสลิม และองค์กรมุสลิม

ทั้งนี้ กลุ่มพันธมิตรมุสลิมได้ตั้งทีมทนายความอุมมะห์ ดำเนินการยื่นคำร้องหนา 82 หน้า ในนาม “ชาวมุสลิมผู้มีชื่อเสียง” ได้แก่ ฮามิด ตอฮีรี ญาค็อบ ฟาน เดอร์ บลอม และ นาสรฺ เอล-ดามานโฮรี ซึ่งตามรายงานข่าวประชาสัมพันธ์โครงการอุมมะห์ ทั้ง 3 คนถูกสอบสวนในฐานะอาชญากร โดยคณะกรรมการเป็นเวลาหลายชั่วโมง

มุสลิมเนเธอร์แลนด์ร้อง UN หลังถูกจับผิด กมธ.รัฐสภา

ในปี 2020 มีการตั้งคณะกรรมาธิการรัฐสภาเนเธอร์แลนด์ ทำหน้าที่ตรวจสอบเกี่ยวกับอิทธิพลจากต่างประเทศที่เข้ามาชักจูงชาวมุสลิมในประเทศ คณะกรรมาธิการ นี้ได้รับมอบอำนาจให้ทำหน้าที่แทนรัฐบาลในการสอบสวนสถาบันทางสังคมและศาสนา เช่น มัสยิด ที่อาจรับการสนับสนุนจากภายนอก

คณะกรรมาธิการดังกล่าวระบุว่า การสอบสวนเป็นไปอย่างมีเหตุมีผลและไม่เลือกปฏิบัติ แต่ในความเป็นจริงแล้วมันโฟกัสไปที่ชาวมุสลิมและองค์กรมุสลิมเท่านั้น

กลุ่มทนายอุมมะฮ์ กล่าวว่า การมุ่งเน้นเฉพาะอิสลามและชาวมุสลิม เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งละเมิดหลักการไม่เลือกปฏิบัติ ตามอนุสัญญาแห่งสหประชาชาติ ส่งผลให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “การล่าแม่มด” (การเพ่งเล็งคอยจับผิดอย่างเหวี่ยงแห) ต่อชาวมุสลิมและองค์กรอิสลาม

ทั้งนี้ รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ ระบุว่า องค์กรมุสลิมรับเงินทุนจากต่างประเทศ อาทิ โมร็อกโก ตุรเคีย เอมิเรตส์ คูเวต กาตาร์ และซาอุดิอาระเบีย

บุคคล 3 คน ที่ถูกกล่าวถึงในการร้องเรียน ถูกคณะกรรมาธิการรัฐสภาเรียกตัวไปในฐานะพยาน แต่กลับถูกคุกคามว่าจะถูกลงโทษจำคุก หากไม่มาปรากฏตัว มีการเผยแพร่คลิปจากการเข้าพบดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า บุคคลทั้ง 3 ถูกสอบปากคำอย่างเข้มข้น

ญาค็อบ ฟาน เดอ บลอม ประธานมัสยิดสีน้ำเงิน (Blauwe Moskee) ในกรุงอัมสเตอร์ดัม กล่าวในแถลงการณ์ว่า “รัฐธรรมนูญของประเทศ ระบุว่าจะไม่ปฏิบัติต่อกันด้วยความแตกต่าง เพียงเพราะการนับถือศาสนา หรือสีผิวที่ต่างกัน แต่สิ่งนี้เกิดขึ้นที่นี่อย่างชัดเจน”

ข้อมูลของ Statista ซึ่งเป็นเว็ปไซต์ข้อมูลในฮัมบูร์ก เปิดเผยว่า ประมาณ 5% ของประชากรในเนเธอร์แลนด์ เป็นมุสลิม และพวกเขามักเผชิญกับการเลือกปฏิบัติอย่างมากมาย ซึ่งเชื่อกันว่า มีสาเหตุมาจากการเพิกเฉยต่อการแพร่แนวคิดอิสลาโมโฟเบีย และอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มขวาจัดในทางการเมือง

ที่มา: www.newarab.com

https://news.muslimthaipost.com/news/37276

อัพเดทล่าสุด