“มัสยิดจักรพงษ์” เป็นมัสยิดแห่งแรกในเขตพระบรมมหาราชวัง บริเวณรอบเขตพระนคร
“มัสยิดจักรพงษ์” เป็นมัสยิดแห่งแรกในเขตพระบรมมหาราชวัง บริเวณรอบเขตพระนคร ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อเริ่มลงหลักปักฐานของชุมชนแห่งนี้ นับว่าเป็นชุมแขกตานี ของต้นกรุงรัตนโกสินทร์…
อิหม่ามสุธี (อับดุลฆอนี) ผลทวี อิหม่ามประจำมัสยิดจักรพงษ์ เล่าว่า ชุมชนมุสลิมโดยรอบมัสยิดจักรพงษ์มีเชื้อสายสืบต่อมาจาก แขกตานี เมืองปัตตานี ที่ถูกกวาดต้อนมาจากสงครามปัตตานี-สยามยุทธ พ.ศ. 2329 เจ้ามลายู ขุนนาง รวมถึงช่างฝีมือ ที่ถูกกวาดต้อนมาสังกัดกับกรมพระราชวังหน้า ด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ได้มอบที่ทำกินให้กับพี่น้องมุสลิมในเขตพระนครชั้นในทางทิศเหนือ อยู่ระหว่างคลองคูเมืองเดิมและคลองรอบกรุงบริเวณวัดชนะสงคราม (ตองปุ) จึงเกิดเป็นชุมชนมัสยิดจักรพงษ์ในปัจจุบัน โดยช่างฝีมือส่วนใหญ่ที่ถูกกวาดต้อนมาจะเป็นช่างทำทอง ซึ่งช่างทองในสมัยก่อนถือว่าศิลปะชั้นสูง จึงมักประกอบอาชีพรับราชการในรั้วในวัง ด้วยเหตุนี้ในสมัยก่อนคนในชุมชนมัสยิดจักรพงษ์จึงมีความสามารถในเรื่องการทำทองสืบต่อกันมาทุกครัวเรือน
ซึ่งสอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของอิหม่ามว่า “แต่ก่อนในซอยนี้ทำทองกันเกือบทุกบ้านเลย มีเสียงใช้แก๊สเป่าทอง ตีทอง แกะทอง ก๊อง ก๊องๆ ดังทั้งวัน ชุมชนมัสยิดจักรพงษ์นับเป็นแหล่งช่างทองฝีมือเยี่ยม มีคนมุสลิมจากชุมชนของเราทำงานรับราชการในฐานะช่างฝีมือในวังมากมาย”
ต่อมาชาวมุสลิมบริเวณนี้ได้รวมตัวกันเพื่อก่อสร้างอาคารเพื่อประกอบศาสนกิจ จึงได้มีการสร้างอาคารละหมาด ซึ่งเป็นอาคารไม้ยกสูงแบบง่ายๆ (บาแลกลางนา) ตั้งชื่อตามธรรมชาติที่คนไทยมักนิยมเรียกชื่อ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อตามสถานที่ใกล้เคียง โดยสุเหร่านี้ใกล้กับ วัดตองปุ (วัดชนะสงคราม) เลยเรียกว่า สุเหร่าตองปุ ต่อมาอาคารไม้มีความทรุดโทรมและคับแคบ จึงได้รื้ออาคารไม้ลงและเปลี่ยนมาเป็นการสร้างด้วยคอนกรีต 2 ชั้นขึ้นเป็นมัสยิดในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่ไม่มีเอกสารหลักฐานบันทึกไว้ที่แน่ชัดว่าก่อสร้างเมื่อใด ทำให้โครงสร้างนั้นมีความแข็งแรง คงทน มีรูปทรงที่ทันสมัยมากขึ้น โดยผสมผสานสถาปัตยกรรมอาหรับกับเปอร์เซีย และเนื่องจากอยู่ติดกับ ถนนจักรพงษ์ ซึ่งถนนจักรพงษ์ก็ตั้งชื่อตาม พระองค์เจ้าจักรพงษ์ภูวนาท ซึ่งเป็นพระบรมราชกุมารใน รัชกาลที่ 5 จึงได้ตั้งชื่อมัสยิดนี้ ว่า มัสยิดจักรพงษ์ สามารถเข้า-ออกได้ 5 ทางจากทั้งทางถนนจักรพงษ์และถนนพระสุเมรุ แต่เป็นตรอกทางเดินแคบๆ เท่านั้น อาคารบ้านเรือนภายในซอยปลูกเบียดเสียดกันอย่างหนาแน่น
ส่วนประกอบต่างๆ ของตัวอาคาร เช่น การทำลายฉลุไม้ที่หน้าต่าง และการทำแท่น (มิมบัร) ไว้เพื่อให้อิหม่ามยืนบรรยายศาสนธรรม (คุตบะห์) ก็ทำจากไม้สัก โดยใช้วิธีการเข้าสลัก คือไม่มีการใช้ตะปู เป็นฝีมือของคนรุ่นปู่ย่าตายายที่แสดงให้เห็นถึงความประณีตในการทำงาน นอกจากนี้ยังมีนาฬิกาเรือนใหญ่ 2 เรือนที่ได้มีการติดตั้งตั้งแต่ปีพ.ศ.2484 ซึ่งถือเป็นปีแรกที่มีการนำนาฬิกาเข้ามาใช้ในไทย นอกจากนี้ยังมีพระคัมภีร์อัลกุรอ่านที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริให้แปลและจัดทำในปีพ.ศ. 2507 สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ถึงแม้จะถูกสร้างมาตั้งแต่อดีต แต่ในปัจจุบันยังคงสภาพดีและสามารถอยู่ไปได้อีกยาวนาน
ปัจจุบันมัสยิดจักรพงษ์หรือสุเหร่าวัดตองปุ หรือสุเหร่าบ้านแขกตานี เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีของชาวมุสลิม ถือเป็นศูนย์กลางของชุมชนชาวมุสลิมย่านนี้ ไม่เพียงแต่คนไทยเท่านั้น ยังมีชาวต่างชาติเช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย เข้ามาละหมาดมากขึ้น เนื่องจากบริเวณโดยรอบมัสยิดมีการสร้างเกสเฮ้าส์ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะมีการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ตามเว็บไซต์ต่างๆ ว่าในนี้มีมัสยิดจักรพงษ์ โดยเฉพาะวันศุกร์จะมีผู้คนหลั่งไหลมาละหมาดที่มัสยิดแห่งนี้เป็นจำนวนมาก และบริเวณหน้ามัสยิดจะมีอาหารอิสลามวางขายให้ชิมกัน
จะเห็นได้ว่ามัสยิดจักรพงษ์ ถือเป็นศูนย์รวมของชาวมุสลิม เป็นบ่อเกิดแห่งความงดงามของวัฒนธรรม ทั้งใช้ในการประกอบพิธีกรรม และประกอบกิจกรรมต่างๆ ของชาวมุสลิมในชุมชน ปัจจุบันท่านอิหม่ามสุธี (อับดุลฆอนี) ผลทวี อายุ 77 ปี ทำหน้าที่อิหม่ามประจำมัสยิดมาเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว ภายใต้การบริหารจัดการของอิหม่ามและคณะกรรมการมัสยิดก็ได้รับการพัฒนาปรับปรุงในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านการจัดการเรียนการสอนด้านศาสนาให้แก่ปวงสัปปุรุษและเยาวชนมุสลิม โดยมีฮัจยีฮาซัน มิตรมานะ ในตำแหน่งคอเต็บและครูสอนศาสนาในโรงเรียนอนุกูลอิสลามจวบจนปัจจุบัน
มัสยิดจักรพงษ์ 70 ตรอกสุเหร่าจักร์พงษ์ ถ.จักรพงษ์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ
คุณอาจกำลังสนใจสิ่งนี้
- น่าทึ่ง ภาพมัสยิดมักกะห์-มะดีนะห์ สว่างกว่าพื้นที่ใดในโลก (ชมคลิป)
- เอมิเรตส์จัดใหญ่ สร้างโบสถ์-มัสยิด เป็นอนุสรณ์โป๊ปฟรานซิส
- จับกุมอิหม่ามคาบูล ข้อหาเกณฑ์นศ.ช่วย ISIS
- คับคั่ง! มหาวิทยาลัยสตรีในเจดดะฮ์ ฉลองครบรอบ 20 ปี
- ตัดสินแล้ว! ปมจดทะเบียนจัดตั้ง มัสยิดบึงกาฬ
ที่มา thaimuslim