คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (กอท) ได้จัดโครงการอบรมสัมมนาหน่วยรับรองฮาลาลทั่วราชอาณาจักร ประจำปี 2564 โดยมีผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประมาณ 500 คน
สำนักข่าวมุสลิมไทยโพสต์: แนวคิดตั้ง องค์กรฮาลาลมหาชน ศึกนี้อีกยาว
วันที่ 7 ตุลาคม 2563 ที่ภัตตาคารสินธรสเต็กเฮาส์ คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (กอท.) ได้จัดโครงการอบรมสัมมนาหน่วยรับรองฮาลาลทั่วราชอาณาจักร ประจำปี 2564 โดยมีผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประมาณ 500 คน
การจัดการสัมมนา เพื่อกำหนดเป้าหมายการทำงานของกิจการฮาลาล รวมทั้ง สรุปการทำงานที่ผ่านมา เพื่อพัฒนากิจการฮาลาลของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพ เป็นที่ยอมรับทั่วโลก โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการฮาลาลขอรับรองฮาลาล จำนวน 150,000 ผลิตภัณฑ์ ขายสินค้าไปทั่วโลก
น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดการสัมมนา กล่าวว่า มีแนวทางที่จะออกกฎหมาย ให้การบริการกิจการฮาลาลเป็นองค์การฮาลาลมหาชน เป็นหน่วยงานราชการที่มีการบริหารที่อิสระ ได้รับการสนับสนุนการทำงานจากภาครัฐ มีการสนุนสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ ในจังหวัด ก็จะมีผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจ มีส่วนร่วม เมื่อมีการไปตรวจสอบ ก็จะได้รับการสนับสนุนการทำงาน ไม่มีข้อครหาต่าง ที่ผ่านมา เรื่องฮาลาล เราทำได้ดี แต่ยังมีข้อครหา ในฐานะที่เป็นมุสลิม เราจะรู้สึกอย่างไร จึงคิดว่า จะผลักดันให้ฮาลาลเป็นองค์การฮาลาลมหาชน รัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องของฮาลาล เพราะฮาลาลมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ก็ได้มอบหมายให้ตน ในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีมุสลิมรับผิดชอบเรื่องการผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวนี้
เมื่อมีการตั้งคำถามว่า คณะกรรมการกลางอิสลามฯ และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดจังหวัด ใช้หลักการศาสนาการตรวจสอบฮาลาล และค่าใช้จ่ายต่างๆ ในองค์กร หากมีองค์การมหาชนฮาลาล จะกระทบตรงนี้หรือไม่ ปัจจุบันการทำงานขององค์กรศาสนา ไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล ค่าใช้จ่ายนำมาจากการฝ่ายฮาลาล หากมีการจัดตั้งองค์การมหาชน จะกระทบต่อการทำงานขององค์กรศาสนาหรือไม่
น.ส.มนัญญา กล่าวว่า การจัดตั้งองค์การมหาชน ไม่มีผลกระทบ แต่จะทำให้การทำงานขององค์กรศาสนาได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ จะทำให้การทำงานมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีมากกว่าเดิม
นายสมัย เจริญช่าง รองประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดกรุงเทพฯ ได้ลุกขึ้นอภิปราย โดยระบุว่า ที่ผ่านมา เรื่องฮาลาลมีการนำภาพลบไปพูด ทั้งที่ฮาลาลของไทยมีเรื่องดีมากมาย กิจการฮาลาลของไทยได้รับการยอมรับ มีความเป็นเอกภาพ เป็นประเทศที่มาตราฮาลาลตราเดียว เมื่อเทียบกับหลายประเทศที่มีหลายตรา ที่ผ่านมาทำงานโดยไม่ใช้งบประมาณภาครัฐ พร้อมกันนั้นอยากให้ฝ่ายบริหารผู้เกี่ยวข้องรัฐบาลให้ประสานกับกระทรวงกาารต่างประเทศไปดูแล กรณีที่องค์กรฮาลาลของอินโดนีเชีย เข้ามาแทรกแซงเรื่องกิจการฮาลาลในประเทศไทย ไม่เคารพกฎหมาย
น.ส.มนัญญา เผยอีกว่า การผลักดันกฎหมาย จัดตั้งฮาลาลเป็นองค์การมหาชน เป็นเพียงแนวคิดที่ต้องการผลักดัน จากนี้ไป ก็จะไปจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษา ซึ่งก็แล้วแต่คณะกรรมการกลางฯว่า จะเสนอใครเข้ามา รายละเอียดยังบอกไม่ได้ชัดเจน อยู่ที่คณะทำงานจะศึกษา ‘ยืนยันว่า การจัดตั้งองค์การมหาชน ไม่กระทบต่อการทำงานของคณะกรรมการกลางฯ คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เกี่ยวกับฮาลาล แต่จะช่วยให้การทำงานมีความคล่องตัว มีการประสานกับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อาทิ อย. กรมปศุสัตว์ ทำให้การทำงานได้ดีขึ้น
เอกราช มูเก็ม บรรณาธิการดิอลามี่
เอกราช มูเก็ม บรรณาธิการดิอลามี่ เผยว่า พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวว่า รูปแบบการบริหารคณะกรรมการกลางฯ เรามีการจัดโครงสร้างภายในเป็นฝ่ายต่าง ๆ จำนวน 12 ฝ่าย เพื่อขับเคลื่อนการทำงานดังนี้ 1. ฝ่ายกิจการฮาลาล 2. ฝ่ายการเงิน 3. ฝ่ายวิชาการและการศึกษา 4. ฝ่ายกิจการฮัจย์ 5. ฝ่ายประชาสัมพันธ์และเทคโนโลยี 6. ฝ่ายนิติการ 7. ฝ่ายทะเบียนและสถิติ 8. ฝ่ายซะกาตและสังคมสงเคราะห์ 9. ฝ่ายป้องปรามยาเสพติด 10. ฝ่ายกิจกรรมเยาวชนและสตรี 11. ฝ่ายประสานงานและต่างประเทศ 12. ฝ่ายส่งเสริมเมาลิดกลางฯ” กล่าวถึงกรณีที่มีผู้สงสัยการใช้งบประมาณ และบริหารงบประมาณขององค์กรนั้น ขอยืนยันว่า เรามีระบบในการตรวจสอบภายใน นอกจากนี้ยังจัดจ้างให้บริษัทเอกชน ผู้มีความชำนาญด้านบัญชีมาเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีอีกด้วย นอกจากนี้การประชุมคณะกรรมการกลางฯ ทุกครั้ง ก็มีสมาชิกตรวจสอบการทำงานอยู่แล้วทุกเดือนเช่นกัน
“ เราเป็นองค์กรศาสนา จัดตั้งตามพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 แต่ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้อุดหนุนงบประมาณ เรามีรายได้ในการบริหารจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมฮาลาล ซึ่งงบประมาณดังกล่าว นอกจากบริหารในฝ่ายกิจการฮาลาลแล้ว ยังเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในคณะกรรมการกลางฯ รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ ตามภารกิจที่แบ่งออกเป็นฝ่ายต่าง ๆ ก็ล้วนใช้งบจากที่มาของงบประมาณดังกล่าวทั้งสิ้น ”
พล.ต.ต.สุรินทร์ กล่าวว่า ขณะนี้มีบุคคลที่ไม่ประสงค์ดีและเป็นภัยต่อความมั่นคงพยายามดิสเครดิตการทำงานของกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะพยายามยื่นถอดถอนเครื่องหมายฮาลาลจากกระทรวงพาณิชย์ และมีการฟ้องร้องไปยัง DSI ทั้งนี้เขาเชื่อว่า หากทำลายระบบฮาลาลแล้ว ก็จะทำให้ระบบองค์กรศาสนาอิสลามเพลี้ยง่อย ไม่สามารถทำงานต่อไปได้
“ ทั้งหมดเรารู้ทัน และกำลังประสานงานกับราชการอย่างใกล้ชิด อีกทั้งรัฐบาลทุกรัฐบาลเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทและภารกิจของฮาลาลไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนเกิดรายได้เข้าประเทศในแต่ละปีอย่างมหาศาล ขอให้มั่นใจว่า การเบิกจ่ายงบประมาณของคณะกรรมการกลางฯ มีการตรวจสอบภายใน และจะต้องลงนาม 2 ใน 3 คน จึงสามารถเบิกจ่ายได้ และงบประมาณดังกล่าวก็ได้นำไปบริหารอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย” พล.ต.ต.สุรินทร์ กล่าว
ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี อดีตกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย
ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี อดีตกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เผยรูปแบบขององค์กรที่จะตั้งขึ้นใหม่ (ไม่ว่าจะเรียกว่าอะไรก็ตาม) จะต้องยังคงดำเนินการโดยมุสลิมภายใต้การตรวจสอบมาตรฐานหะลาลโดยมุสลิมและยืนอยู่บนหลักการศาสนาอิสลาม เงินรายได้ทุกอย่างจากการรับรองหะลาล (เงินค่าธรรมเนียม ค่าที่ปรึกษา ค่าใบรับรอง ฯลฯ) จะต้องให้นำเข้าองค์กรที่จะตั้งขึ้นใหม่นี้ และมอบกลับคืนให้รัฐทั้งหมด ดังนั้น เพื่อนต่างศาสนิกไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ หรือคนทั่วไปนอกจากจะไม่สามารถกล่าวหาได้ว่า “หะลาล” เป็นผลประโยชน์สำหรับมุสลิมเท่านั้น แต่กลับจะแสดงถึงคุณค่าของธุรกิจหะลาลภายใต้การดำเนินการขององค์กรมุสลิมว่าได้สร้างผลประโยชน์มหาศาลให้กับรัฐและสังคมไทยโดยส่วนรวม
ในขณะเดียวกัน เงื่อนไขสำคัญที่ภาครัฐเองจะต้องเข้าใจก็คือ องค์กรศาสนาอิสลามไม่ได้รับเงินงบประมาณอุดหนุนจากรัฐโดยตรงเพื่อการบริหารและการพัฒนาสังคมมุสลิมโดยรวม (มีแค่ค่าเบี้ยประชุมของกรรมการอิสลามประจำจังหวัด กรรมการกลางอิสลามฯ และเงินประจำตำแหน่งอิหม่าม-คอเต็บ-บิหลั่น) ดังนั้น รัฐก็จะต้องให้เงินงบประมาณเพื่ออุดหนุนองค์กรศาสนาอิสลามในด้านต่างๆ เป็นการกลับคืนด้วย
ซึ่งสังคมไทยโดยรวมย่อมมองว่านับเป็นความสมเหตุสมผลที่องค์กรมุสลิมมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะได้รับเงินงบประมาณอุดหนุนนี้ เพราะองค์กรมุสลิมได้นำเงินทุกบาทจากกิจการหะลาลส่งเข้ารัฐแล้ว ซึ่งได้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลให้กับสังคมไทย ดังนั้น ข้อครหาที่ว่าเป็นการนำเงินภาครัฐมาให้กับมุสลิมได้ก็จะไม่มีน้ำหนัก ในขณะเดียวกัน เงินทุกบาททุกสตางค์จากงบฯ อุดหนุนนี้จะได้สามารถได้รับการตรวจสอบถึงความโปร่งใสในการเอาไปใช้จากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน
ที่ผ่านมา เราต้องยอมรับว่าประเด็นกิจการหะลาลของกรรมการรกลางอิสลามฯ นั้น ถูกโจมตีจากสังคมว่ามีผลประโยชน์มหาศาลบ้าง เป็นแดนสนธยาบ้าง ดังคำถามที่ว่า แต่ละปีมีเงินเข้าฝ่ายกิจการหะลาลเป็นเงินเท่าไหร่? จากส่วนไหนบ้าง? จ่ายไปไหน? เป็นเงินเท่าไหร่? ถึงเวลาแล้วที่ต้องพัฒนาองค์กรฮาลาลเพื่อสังคมจะได้เห็นว่า องค์กรในศาสนาอิสลาม มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และไม่ได้เป็นดังที่สังคมตั้งข้อครหาในทางไม่ดีตลอดมาแต่อย่างใด
สมพร หลงจิ บรรณาธิการเอ็มทูเดย์
สมพร หลงจิ บรรณาธิการเอ็มทูเดย์ เผยจำนวนเงินที่ได้จากค่าธรรมเนียมการรับรองฮาลาล ไม่มีตัวเลขชัดเจนว่า แต่ละปีมีจำนวนเท่าไหร่ เพราะไม่ได้มีการแจกแจงชัดเจนจึงขอคำนวณจากกรอบระเบียบการขอการรับรอง ดังนี้
การขอการรับรองฮาลาล มีผู้รับผิดชอบ 2 ส่วน คือ คณะกรรมการฝ่ายกิจการฮาลาล ในจังหวัดที่มี คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ซึ่งมีจำนวน 40 จังหวัด (จังหวัดที่มีมัสยิด 3 แห่งขึ้นไป) ส่วนจังหวัดที่ไม่มีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เป็นความรับผิดชอบของคณะกรรมการฝ่าบกิจการฮาลาล คณะกรรมการกลางแห่งประเทศไทย กรณีที่คณะกรรมการฝ่ายฮาลาลฯ เดินทางจากกรุงเทพฯไปตรวจ จะคิดค่าเดินทางด้วยต่างหาก
ตามระเบียบ การขอฮาลาล มีค่าใช้จ่ายคือ การตรวจสอบโรงงานมี 3 ระดับ 1.ขนาดเล็ก จำนวน 15,000 บาท 2. ขนาดกลาง จำนวน 25,000 บาท 3. ขนาดใหญ่ จำนวน 35,000 บาท / มีค่าอบรมพนักงาน / มีค่าที่ปรึกษารายเดือน 1,000 บาท ปีละ 12,000 บาท
การตรวจรับรองฮาลาล แต่ละจังหวัดจะดำเนินการตรวจสอบเอง ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับศักยภาพและความสามารถทางด้านศาสนาหรือบุคลากรของแต่ละจังหวัด แต่ทั่วประเทศประมาณว่า มีจำนวน 6,000-8,000 โรงงาน จะงบประมาณจากกิจกรรมดังกล่าวประมาณ 150 ล้านบาท กระจายอยู่ในทุกจังหวัด โดยจังหวัดที่มีการตรวจรับรองมากที่สุด มีสมุทรปราการ ปทุมธานี และกรุงเทพฯ ประมาณ 400-500 โรงงานต่อจังหวัด เฉพาะ 3 จังหวัดนี้มีรายได้ มากกว่า 10 ล้านบาทต่อจังหวัด
นอกจากค่าธรรมเนียมตรวจโรงงานแล้ว ยังมีค่าเครื่องหมายฮาลาลขนมเปียกปูน กรณีที่โรงงานขอใช้ตราบนผลิตภัณฑ์ จะคิดค่าธรรมเนียม 500 บาท/1 ผลิตภัณฑ์ หากโรงงานใด ออกผลิตภัณฑ์ 100 ผลิตภัณฑ์ ก็จะต้องเสีย 50,000 บาท เงินจำนวนนี้ เข้าสู่คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (กอท.) ตามข้อมูลปัจจุบัน มีการขอตราฮาลาล จำนวน 150,000 ผลิตภัณฑ์ คิดเป็นค่าธรรมเนียม ประมาณ 75 ล้านบาท
บัญญัติ ทิพย์หมัด นายกสมาคมสื่อมุสลิมไทย
บัญญัติ ทิพย์หมัด นายกสมาคมสื่อมุสลิมไทย เผย เป็นที่ทราบกันดี คณะกรรมการอิสลามฯ ไม่มีได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เงินจากฮาลาลถูกนำมาใช้ในการบริหารกิจการองค์กรทั้งหมด ดังเช่น การจัดกิจกรรม การช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือผู้ด้วยโอกาส ค่าเบี้ยประชุมคณะกรรมการกลางฯ ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าเบี้ยประชุมคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ ค่าใช้จ่ายสำนักงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ เงินเดือนเจ้าหน้าที่ จ่ายเป็นสังคมสงเคราะห์ช่วยเหลือสังคม กรณีน้ำท่วม ไฟไหม้ เป็นต้น ซึ่งงบประมาณรับรายและค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่เป็นที่เปิดเผยสู่สาธารณะ แต่กระนั้นค่าใช้จ่ายทั้งหมด สามารถตรวจสอบได้โดยคณะกรรมการผู้ที่เกี่ยวข้อง
ในส่วนการบริหารกิจการของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (กอท.) ใช้งบประมาณเดือนละ 4 ล้านบาทหรือปีละ40-50 ล้านบาท ในการบริหารองค์กรส่วนกลาง เมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าสินค้าฮาลาลของประเทศไทยที่ส่งขายทั่วโลกปีละหลายแสนล้านบาทแล้วนั้น ถือได้ว่าน้อยนิดเหลือเกิน
อีกทั้งต้องยอมรับว่า การทำงานขององค์กรศาสนาอิสลามในปัจจุบันมีจุดอ่อนในเรื่องการประชาสัมพันธ์และการนำเสนอผลงานให้ประจักษ์ชัดสู่ประชาชน หากอนาคตมีองค์กรอิสระที่ประกอบด้วยบุคคลหลายๆภาคส่วนสามารถตรวจสอบการใช้งบประมาณขององค์กรศาสนาในทุกๆระบบ คาดว่าจะทำให้ข้อครหาต่างๆลดน้อยลงอย่างแน่นอน
[บทสรุป: องค์กรฮาลาลมหาชน เป็นเพียงแค่แนวคิด จึงจำเป็นต้องศึกษาระบบระเบียบข้อกำหนดและการบริหารองค์กรดังกล่าวนี้ออกมาให้ชัดเจน แล้วจึงสามารถรับฟังความคิดเห็นของทุกๆฝ่ายร่วมกันในอนาคต ทั้งนี้เรื่องดังกล่าว ยังไม่มีความชัดเจนแต่อย่างใดทั้งสิ้น : 16 ตุลาคม 2563]