ตลาดอาหารฮาลาล (Halal Food)ในปัจจุบันถือเป็นตลาดหลักที่ทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรมุสลิมโลกที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น
พาณิชย์ ดันสินค้าฮาลาลสู่ตลาดโลก
นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตลาดอาหารฮาลาล (Halal Food)ในปัจจุบันถือเป็นตลาดหลักที่ทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรมุสลิมโลกที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 1.6 พันล้านคน ในปี 2553 เป็น 2.8 พันล้านคนในปี 2593 ส่งผลให้ในอนาคตตลาดอาหารฮาลาลจะยิ่งเติบโตอย่างก้าวกระโดดในกลุ่มผู้บริโภคทั้งที่เป็นมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม และจากข้อมูลของ Salaam Gateway สถาบันวิจัยด้านเศรษฐกิจโลกอิสลาม ระบุปี 2561 ตลาดอาหารฮาลาลมีมูลค่า 1,369 พันล้านดอลลาร์คิดเป็น 17% ของค่าใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่มทั่วโลก และคาดว่าในปี 2567 ตลาดอาหารฮาลาลจะมีมูลค่าถึง 1,972 พันล้านดอลลาร์ หรือเฉลี่ย (CAGR) ปีละ 6.3 %
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้เดินหน้าผลักดันและส่งเสริมการส่งออกสินค้าฮาลาลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในการเดินหน้าใช้ยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” และแผนงานอาหารไทย อาหารโลก ในการมุ่งเน้นการส่งออกอาหารฮาลาล อาหารมังสวิรัติ และอาหารแนวใหม่ที่กำลังเป็นเทรนด์สำคัญของโลก เนื่องจากประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารที่มีศักยภาพในระดับชั้นนำของโลก
โดยปัจจุบันประเทศไทย เป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารฮาลาลรายใหญ่เป็นอันดับที่ 11 ของโลก ในปี 2562 ก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไทยมีมูลค่าส่งออกถึง 35,037 ล้านดอลลาร์คิดเป็น 2.44 % ของมูลค่าตลาดอาหารฮาลาลโลก
ในปีงบประมาณ 2564 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้มีแผนงานสำคัญในการส่งเสริมสินค้าฮาลาล อาทิ การอบรมให้ความรู้ผู้ประกอบการสินค้าฮาลาลเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ตลาดเป้าหมาย การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอาหารฮาลาล 5 จงหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อการค้าระหว่างประเทศ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าอาหารฮาลาลในห้างสรรพสินค้าและซุปเปอร์สโตร์ในตลาดภูมิภาคตะวันออกกลาง การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหาร Gulfood 2021 ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระหว่างวันที่ 21 - 25 ก.พ. 2564 รวมทั้งการพัฒนาฐานข้อมูลผู้ประกอบการฮาลาล และการส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าอาหารฮาลาลไทยในงานแสดงสินค้า THAIFEX –ANUGA ASIA และตลาดต่างประเทศ อาทิ กาตาร์ โอมาน จีน อาเซียนและอินเดียเพื่อยกระดับความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น
“ตลาดอาหารฮาลาลไม่เพียงแต่เป็นตลาดของชาวมุสลิมที่เป็นตลาดหลัก ซึ่งมีมูลค่าสัดส่วนการใช้จ่ายในการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มทั่วโลกคิดเป็นอัตราส่วนราว 17% แต่ยังเป็นที่น่าสนใจในประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม (Non-OIC) อีกหลายประเทศเนื่องจากมีอัตราประชากรมุสลิมที่เพิ่มสูงขึ้น หรือเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวของชาวมุสลิม เช่น อินเดีย จีน สิงคโปร์ และหรือแม้แต่ประเทศไทยเอง ซึ่งจากข้อมูลเบื้องต้นจะเห็นว่าตลาดอาหารฮาลาลโลกมีแนวโน้มจะเข้ามามีบทบาท ขยายขนาด และทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเหตุนี้ผู้ประกอบการควรเริ่มศึกษาข้อมูลทำความคุ้นเคยเพื่อรองรับการตลาดดังกล่าวในอนาคต”
นายสมเด็จฯ กล่าวว่า ปัจจุบันภาครัฐได้ลงมติเห็นชอบวิสัยทัศน์และนโยบายการส่งเสริมสินค้าและผลิตผลเกษตรมาตรฐานฮาลาล โดยสอดคล้องกับแผนระดับชาติซึ่งเป็นทิศทางการพัฒนาประเทศ โดยมีแผนที่สําคัญ 3 แผน ประกอบด้วย
1. แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580)
2. แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการเกษตร (พ.ศ. 2561 – 2580)
และ 3. แผนพัฒนาการเกษตรในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564) ซึ่งกำหนดวิสัยทัศน์ให้ประเทศไทยเป็นประเทศผู้นําในการพัฒนา ผลิต และส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่ได้รับความเชื่อมั่นในระดับสากลสู่ตลาดโลกด้วยมาตรฐานฮาลาลไทย โดยใช้หลักศาสนา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในปี 2570
โดยมีการดำเนินงานที่สำคัญ เช่น การจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้า (Halal Hub) การจัดตั้งสถาบันฮาลาล (Halal Academy) การพัฒนาฐานข้อมูลฮาลาล (Thailand Halal Big Data) และการส่งเสริมฐานข้อมูลวัตถุดิบฮาลาล (H Number) รวมทั้งระบบศูนย์ข้อมูลกลางการแลกเปลี่ยนทรัพยากรอิเล็กทรอนิกส์ด้านฮาลาล (System Protocol For Halal Electronic Resources Exchange หรือ SPHERE) รวมถึงแผนการที่มุ่งเจรจาการค้าในตลาดกลุ่ม OIC และ Non OIC เช่น จีน รวมถึงตลาดใหม่ๆ ที่ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในเอเชียกลาง เช่น สาธารณรัฐคาซัคสถาน ที่กำลังศึกษาและสำรวจเส้นทางขนส่ง
อีกทั้ง จากการหารือร่วมกับหน่วยงานศูนย์ฮาลาลขององค์การอาหารและยาซาอุดิอาระเบีย (Saudi Food and Drug Authority – SFDA) สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (The Central Islamic Committee of Thailand - CICOT) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันผลักดันการส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลส่งออกเข้าสู่ประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นศูนย์กลางแห่งมาตรฐานฮาลาลนั้น มีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก
โดยเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2563 ทาง SFDA ได้อนุญาตให้สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยสามารถออกประกาศนียบัตรฮาลาลสำหรับการส่งเสริมสินค้าอาหารเข้าซาอุดิอาระเบียเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงถือได้ว่าสินค้าไทยที่ได้รับเครื่องหมาย ประกาศนียบัตรรับรองมาตรฐานฮาลาลจากสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยจะเป็นที่ยอมรับ (Mutual Recognition) ของ SFDA ซึ่งนับว่าเป็นก้าวสำคัญสู่การยอมรับในมาตรฐานสินค้าฮาลาลของไทย
นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสทางการค้าการส่งออกสินค้าฮาลาลไปยังกลุ่มตะวันออกกลาง (GCC) ที่เป็นตลาดขนาดใหญ่ประกอบด้วยจำนวนมุสลิมราว 396 ล้านคน หรือ 90% ของจำนวนประชากรทั้งหมดของกลุ่มประเทศ โดยมีความต้องการในด้านสินค้าเกษตรและอาหารฮาลาลที่หลากหลาย รวมถึงอาหารแห้งและอาหารกระป๋อง พร้อมทั้งปลดล็อคการส่งออกสินค้าอาหารประเภทสัตว์ปีกแช่แข็ง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลอื่นๆ ของไทย จะทำให้สามารถส่งออกได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น
ที่มา: www.bangkokbiznews.com
- มาเลเซียประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพิ่มอำนาจรัฐจัดคุมโรคระบาด
- เหตุใดอินโดนีเซียเลือก ฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้คนหนุ่มสาวก่อนผู้สูงอายุ
- ศาล EU หนุนห้ามเชือดสัตว์ฮาลาล เพราะ?
- อินโดฯประกาศแล้ว วัคซีนโควิดฮาลาล พร้อมฉีดสัปดาห์หน้า
- ยืนยันวัคซีนโควิด-19 มุสลิมฉีดได้
- จีนโต้กลับพระสันตะปาปา หลังเห็นใจมุสลิมอุยกูร์