คำถามที่เกิดขึ้นไม่เฉพาะในประเทศไทยแต่กับมุสลิมประมาณ 2 พันล้านคนทั่วโลก คือ วัคซีนโควิด-19 ฮาลาลสำหรับมุสลิมหรือไม่
สภาพฮาลาลของ วัคซีนโควิด-19
บทความโดย: รศ.ดร. วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เวลานี้ใครต่อใคร ประเทศไหนต่างรอวัคซีนโควิด-19 กันทั้งนั้น บางส่วนในบางประเทศเริ่มฉีดกันไปแล้วด้วยซ้ำ สำหรับประเทศไทยคาดกันว่าในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 คนไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งทีมแพทย์ที่มีความเสี่ยงสูงกำลังจะได้รับวัคซีนโควิด-19 ล็อตแรก 2 แสนโดสจากบริษัท Sinovac ประเทศจีน จากนั้นในเดือนมิถุนายน 2564 จะได้วัคซีนจากบริษัท Astrazeneca ประเทศอังกฤษอีก 26 ล้านโดส รายหลังนี้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้กับบริษัทสยามไบโอไซแอนซ์ บริษัทผลิตวัคซีนระดับโลกของไทย ต่อจากนั้นคงไม่มีปัญหาขาดแคลนวัคซีนสำหรับประเทศไทยเนื่องจากผลิตกันเองในบ้านเรา นอกจากนี้ยังมีวัคซีนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและเอกชนบางแห่งในประเทศไทยรอคิวที่จะตามออกมาอีก
เทคโนโลยีการผลิตวัคซีนมีอยู่หลายแบบ มีทั้งใช้ไวรัสที่ยังมีชีวิตแต่ลดความรุนแรงลงแล้ว (Live/attenuated) หรือใช้ไวรัสตาย (Inactivated) ตัวอย่างของกรณีนี้คือวัคซีนของ Sinovac นอกจากนั้นยังมีการใช้พิษของไวรัสที่ลดความรุนแรงลง (Inactivated toxin) ขณะที่วิธีที่นิยมกันมากคือใช้หน่วยย่อยของไวรัส (Subunit/conjugate) อย่างเช่น mRNA ซึ่งวัคซีนจากบริษัท Pfizer และ Moderna ของสหรัฐอเมริกาใช้เทคโนโลยีนี้ หรือใช้ส่วนของโปรตีน ในกลุ่มการใช้หน่วยย่อยยังอีกวิธีหนึ่งคือสอด RNA บางส่วนของไวรัส SAR CoV-2 ที่ก่อโรคโควิด-19 เข้าไปในปลอกไวรัสที่ไม่ก่ออันตราย (Vector) เทคโนโลยีนี้ยังอาจปรับ RNA ให้เป็น DNA ตัวอย่างของวัคซีนกลุ่มนี้คือ Johnson & Johnson และ Astrazenaca ที่ประเทศไทยจะนำมาใช้ DNA นั้นคงทนกว่า RNA จึงเก็บได้ที่อุณหภูมิห้องไม่ต้องใช้ห้องเย็นให้ยุ่งยาก จึงเหมาะกับประเทศไทย
ในบรรดาคนไทยเกือบ 70 ล้านคน ประมาณ 4-5 ล้านคนเป็นมุสลิม คำถามที่เกิดขึ้นไม่เฉพาะในประเทศไทยแต่กับมุสลิมประมาณ 2 พันล้านคนทั่วโลก คือ วัคซีนโควิด-19 ฮาลาลสำหรับมุสลิมหรือไม่
เรื่องวัคซีนฮาลาลเกิดเป็นประเด็นกับวัคซีนตัวอื่นมาแล้วไม่ว่าจะเป็นวัคซีนโปลิโอ คอตีบ หรือแม้กระทั่งไข้กาฬหลังแอ่น ชาวบ้านในปากีสถาน บังคลาเทศ อินโดนีเซีย มาเลเซีย หรือแม้แต่ประเทศไทยเกิดประเด็นคำถามถึงขนาดผู้ปกครองบางส่วนปฏิเสธที่จะให้ลูกหลานรับวัคซีนกลุ่มนี้ ความที่เป็นประเด็นมาก่อนทำให้ทางการของอินโดนีเซียและมาเลเซียถึงกับส่งนักวิชาการศาสนาอิสลามเข้าร่วมตรวจสอบวัคซีนโควิด-19 อีกทั้งบริษัทผู้ผลิตวัคซีนพากันปรับสูตรการผลิตกันยกใหญ่เนื่องจากตลาดมุสลิมใหญ่โตมโหฬารจำเป็นต้องรักษาไว้
สิ่งที่เป็นข้อห้ามในทางศาสนาอิสลามที่เป็นประเด็นในกรณีวัคซีนคือ การใช้เจละติน (Gelatin) จากสุกรเพื่อรักษาสภาพของวัคซีน (Stabilizer) วิธีนี้ใช้กันทั่วไป เหตุนี้ Sinovac และ Astarzeneca ที่เป็นผู้ผลิตวัคซีนส่งให้ประเทศไทยต่างยืนยันว่า ใช้เจละตินที่ปลอดสุกร โดยอินโดนีเซียส่งนักวิชาการศาสนาอิสลามเข้าไปร่วมตรวจกระบวนการผลิตวัคซีนของ Sinovac ที่ประเทศจีน ขณะที่ Astrazeneca ยืนยันออกมาจากทางบริษัทว่าไม่มีการใช้เจละตินจากสุกร ในส่วนการรับรองฮาลาลคาดว่าคงให้นักวิชาการศาสนาอิสลามในอังกฤษซึ่งมีอยู่หลายหน่วยงานเข้าไปตรวจสอบ รอฟังข่าวก็แล้วกัน