เพราะเป็นนักวิทยาศาสตร์มุสลิมจึงมีคำถามเกี่ยวกับอิสลามจากเพื่อนทั้งที่เป็นมุสลิมและไม่ใช่มุสลิมขอให้ผมตอบอยู่บ่อย คำถามหนึ่งมีว่าใครคือผู้เขียนอัลกุรอาน
ใครเขียนอัลกุรอาน
บทความโดย: รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เพราะเป็นนักวิทยาศาสตร์มุสลิมจึงมีคำถามเกี่ยวกับอิสลามจากเพื่อนทั้งที่เป็นมุสลิมและไม่ใช่มุสลิมขอให้ผมตอบอยู่บ่อย คำถามหนึ่งมีว่าใครคือผู้เขียนอัลกุรอาน คำถามแม้แรงแต่ในโลกเทคโนโลยี อิสลามต้องมีคำตอบ ผมจึงขอหยิบยกคำตอบบางส่วนของ Yusuf Ahmed จากเว็บไซด์ Quora.com ของบริษัท Quora.Inc แห่งเมือง Mountain View แคลิฟอร์เนีย ซึ่งตอบไว้เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2018 มาใช้
ก่อนจะตอบ ขอให้ข้อมูลก่อนว่า อัลกุรอานเป็นภาษาอาหรับส่งผ่านทางท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) ทีละวรรคทีละตอนระหว่าง ค.ศ.610-632 รวมทั้งสิ้น 114 บท 6,236 วรรค ต่อคำถามที่ว่าใครเขียนอัลกุรอาน Ahmed ตอบว่าอัลกุรอานมีถ้อยความคล้ายโคลงกลอนในภาษาอาหรับ ถ้อยคำสวยงาม ความหมายลึกซึ้ง กระทั่งนักภาษาศาสตร์ นักประวัติศาสตร์ภาษาอาหรับยอมรับว่าก่อนหน้าศตวรรษที่ 7 หรือแม้กระทั่งหลังจากนั้นไม่มีวรรณคดีอาหรับเล่มใดใช้ถ้อยคำได้สละสลวยถึงระดับนี้ ผู้เขียนอัลกุรอานจึงต้องเข้าใจภาษาอาหรับในระดับสูง คำถามต่อมาคือเป็นไปได้หรือไม่ที่บุคคลหรือกลุ่มคนเหล่านั้นคือคนอาหรับยุคนบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) เอง
วรรณกรรมใดย่อมสะท้อนถึงสภาพสังคมโดยมักรับใช้สังคมนั้น อัลกุรอานควรเป็นเช่นเดียวกัน ทว่าอาหรับยุคศตวรรษที่ 7 เกิดรูปเคารพเพื่อให้ผู้คนบูชามากมาย ทั้งเป็นสังคมที่ชายเป็นใหญ่ ฐานะของสตรีต่ำต้อย กิริยาท่าทางของผู้คนขาดความเคารพต่อกัน เนื้อหาของอัลกุรอานนอกจากจะขัดแย้งกับวิถีวัฒนธรรมของชนอาหรับยุคนั้นยังมีลักษณะคัดค้านการกระทำของคนในสังคม เช่น ให้ยกเลิกการบูชารูปเคารพ ยกฐานะสตรีเทียบเคียงชาย หากคนอาหรับยุคนั้นจะเป็นผู้เขียนย่อมสุ่มเสี่ยงเกินตัว พิจารณาจากท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) เองหลังการเผยแผ่อัลกุรอาน ท่านสูญเสียเพื่อน สังคม รวมทั้งฐานะทางเศรษฐกิจไปมากมาย อีกทั้งทุกบันทึกในประวัติศาสตร์ยืนยันตรงกันว่าท่านอ่านเขียนไม่ได้ มิใช่คนเจ้าบทเจ้ากลอน ยิ่งกว่านั้นยังมีบันทึกถึงคำพูดและการกระทำของท่านที่เรียกว่า “หะดิษ” รวบรวมไว้ ซึ่งลักษณะวิธีการพูดและการกระทำของท่านนบีที่ปรากฏในหะดิษแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับอัลกุรอาน การกล่าวว่าท่านนบีคือผู้เขียนอัลกุรอานจึงเป็นไปไม่ได้
เมื่ออัลกุรอานไม่ได้มาจากชนอาหรับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ทั้งมิได้มาจากท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล) จากเหตุผลทั้งหมดที่อ้างถึง อัลกุรอานย่อมเหลือที่มาเพียงทางเดียวคืออัลลอฮฺ (ซ.บ.) ซึ่งในอัลกุรอานยืนยันไว้ชัดเจนเช่นกัน
وَإِن ڪُنتُمۡ فِى رَيۡبٍ۬ مِّمَّا نَزَّلۡنَا عَلَىٰ عَبۡدِنَا فَأۡتُواْ بِسُورَةٍ۬ مِّن مِّثۡلِهِۦ وَٱدۡعُواْ شُهَدَآءَكُم مِّن دُونِ ٱللَّهِ إِن كُنتُمۡ صَـٰدِقِينَ
“และหากปรากฏว่าพวกเจ้าอยู่ในความแคลงใจใดๆจากสิ่งที่เราได้ให้ลงมาแก่บ่าวของเราแล้ว ก็จงนำมาสักซุเราะฮฺหนึ่งเยี่ยงสิ่งนั้น และจงเชิญชวนผู้ที่อยู่ในหมู่พวกเจ้าอื่นจากอัลลอฮฺ หากพวกเจ้าเป็นผู้พูดจริง” อัลบะเกาะเราะฮฺ 2:23
أَفَلَا يَتَدَبَّرُونَ ٱلۡقُرۡءَانَۚ وَلَوۡ كَانَ مِنۡ عِندِ غَيۡرِ ٱللَّهِ لَوَجَدُواْ فِيهِ ٱخۡتِلَـٰفً۬ا ڪَثِيرً۬ا
“พวกเขาไม่พิจารณาดูอัลกุรอานบ้างหรือ และหากว่าอัลกุรอานมาจากผู้ที่มิใช่อัลลอฮฺแล้วแน่นอนพวกเขาก็จะพบว่าในนั้นมีความขัดแย้งกันมากมาย” อันนิซาอฺ 4:82