ศาสนาอิสลามในน่านเจ้า เริ่มเข้ามาในสมัยใด อาณาจักรน่านเจ้าถูกทำลายสิ้นในปี พศ ๑๗๙๗ ชาวไทยน่านเจ้าอพยพหนีภัยลงมาทางใต้ก็มีมาก และที่ตกอยู่ในอำนาจของพวก
ศาสนาอิสลามในน่านเจ้า เริ่มเข้ามาในสมัยใด
อาณาจักรน่านเจ้า มีอาณาเขตกว้างขวาง คือ เขตมณฑลยูนนานทั้งหมดรวมแคว้นสิบสองปันนาด้วย กล่าวคือ ทิศเหนือจดมณฑลเสฉวน ทิศใต้จดพม่า ญวณ ทิศตะวันออกจดดินแดนไกวเจา กวางสี ตังเกี๋ย ทิศตะวันตกจดพม่า ธิเบต มีกษัตริย์ปกครองต่อมาอีกหลายองค์และมีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับจีนมาก จนกระทั่งถูกกองทัพมองโกลยกมาย่ำยี
อาณาจักรน่านเจ้าถูกทำลายสิ้นในปี พ.ศ. ๑๗๙๗ ชาวไทยน่านเจ้าอพยพหนีภัยลงมาทางใต้ก็มีมาก และที่ตกอยู่ในอำนาจของพวกมองโกลแห่งกุบไลข่านก็มิใช่น้อย อาณาจักรน่านเจ้าของไทยก็สูญชื่อตั้งแต่บัดนั้น (ทองใบ แตงน้อย “แผนที่ภูมิศาสตร์” ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย (พิมพ์ ครั้งที่ ๓๑ : ๒๕๓๖)
เชื่อกันว่า ก่อนที่คนไต หรือคนไทยจะเสียอาณาจักรน่านเจ้า (หรือแคว้นยูนนาน แก่พระจักรพรรดิมองโกล คือ พระเจ้าซีโจ้ว หรือ กุบไลข่าน สมัยราชวงศ์หงวน หรือ หยวน (พ.ศ. ๑๘๐๓ –๑๙๑๑) นั้นศาสนาอิสลามน่าจะได้แพร่หลายในอาณาจักรน่านเจ้าแล้ว (ดิเรก กุลสิริสวัสดิ์ ; ความสัมพันธ์ของมุสลิมฯ พิมพ์ครั้งที่ ๔ (๒๕๔๕) (สำนักพิมพ์มติชน) หน้า ๗)
ปีที่อาณาจักรน่านเจ้าถูกมองโกลรุกรานและทำลายสิ้นนั้น คือราวปีพ.ศ. ๑๗๙๗ (ค.ศ. ๑๒๕๔) แต่ปีที่พระเจ้าซีโจ้ว หรือกุบไลข่านขึ้นครองราชย์และตั้งราชวงศ์หยวนในจีนนั้นราว พ.ศ. ๑๘๐๒ – ๑๘๐๓ / ค.ศ. ๑๒๖๐ แสดงว่าอาณาจักรน่านเจ้าถูกมองโกลทำลายนับตั้งแต่ก่อนการสถาปนาราชวงศ์หยวน ในจีนโดยจักรพรรดิกุบไลข่าน หรือพระเจ้าซีโจ้ว กล่าวคือน่าจะตรงกับช่วงปลายรัชสมัยจักรพรรดิมองโก้ ข่าน (ราว พ.ศ. ๑๗๙๔ / ค.ศ. ๑๒๕๑)
ศาสนาอิสลามน่าจะเข้าสู่อาณาเขตของน่านเจ้านับตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ้อง (ส้ง) (พ.ศ. ๑๕๐๓ – ๑๘๒๓ / ค.ศ. ๙๖๐ – ๑๒๗๙) จากเมืองกวางโจว ซึ่งในสมัยราชวงศ์ซ้อง เมืองกวางโจวถือเป็นศูนย์กลางประชาคมมุสลิมที่หนาแน่นที่สุดเมืองหนึ่งในจีน (ฮุซัยน์ มุอันนิส (อัลอิสลาม อัลฟาติฮ์) ค.ศ. ๑๙๘๗ หน้า ๖๙) ผลจากการเผยแผ่ศาสนาอิสลามที่ได้รับการตอบรับจากพลเมืองในประเทศจีน ช่วงรัชสมัยราชวงศ์ซ้องทำให้ในอาณาจักรนางเจียวหรือน่านเจ้า ส่วนมากของชาวเมืองหรือคนไตล้วนเป็นมุสลิม (Islam in China p.9) ในนครหลวงตาลีฟู หรือหนองแส หรือม่งเส ซึ่งพระเจ้าโก๊ะล่อฝง ทรงสร้างราวพ.ศ. ๑๓๐๐ (ค.ศ. ๗๕๗) จนได้เสียแก่พระจักรพรรดิกุบไลข่านนั้น ปรากฏว่ามีพลเมืองส่วนมากเป็นมุสลิม (Islam in China p.124)
ในขณะที่พระจักรพรรดิกุบไลข่านขึ้นครองราชย์นั้น (ค.ศ. ๑๒๕๙) พระองค์ได้ทรงแต่งตั้งท่านมุฮำหมัดซัมซุดดีน ซึ่งเป็นชาวมุสลิมจากเมืองบุคอรอและรู้จักกันในนาม “อัซซัยยิด อัลอะญัล” (นายใหญ่) ให้เป็นผู้ดูแลการคลังของจักรวรรดิมองโกล ต่อมาในภายหลังท่านได้เป็นผู้ว่าการมณฑลยูนนาน (ฮุซัยน์ มุอันนิส “อัลอิสลาม อัลฟาติฮ์” (๑๙๘๗) หน้า ๗๐) (ซึ่งเป็นอาณาเขตเดิมของอาณาจักรน่านเจ้า ในปี ฮ.ศ. ๖๗๑ / ค.ศ. ๑๒๗๒ / พ.ศ. ๑๘๑๕)
มาร์โคโปโล นักท่องโลกชาวอิตาเลียน (เวนิส) ซึ่งเคยใช้ชีวิตอยู่ในจีนระหว่างปี ค.ศ. ๑๒๗๕ – ๑๒๙๒ / พ.ศ. ๑๘๑๘ – ๑๘๓๕ ได้ยืนยันว่ามีจำนวนพลเมืองมุสลิมเป็นจำนวนมากอาศัยอยู่ในมณฑลยูนนาน และนักเดินทางอีกผู้หนึ่ง (มิได้ระบุชื่อ) ก็ได้เคยเยือนจีนในเวลาเดียวกัน และยืนยันว่า ประชาชนในเมืองตาลีฟู (อดีตราชธานีของน่านเจ้า) ทั้งหมดเป็นชาวมุสลิม (อ้างแล้ว หน้า ๖๘)
แสดงว่าคนไตแต่ก่อนนั้นเป็นชาวหุยหุยเจี่ยว หรือ ฮ่วยฮ่วยก่าจำนวนไม่น้อย แม้จนกระทั่งบัดนี้ พวกน่านเจ้าหรือยูนนานซึ่งเราเรียกว่า ฮ่อ นั่นก็เป็นมุสลิม และฮ่อนั้นที่จริงก็เป็นชาติไทยมิใช่จีน (พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ภาคต้น หน้า ๕๐) หรือไทยเดิมที่ตกค้างอยู่ในจีนเราเรียกว่า ฮ่อ นี่เอง (พงศาวดารไทยใหญ่ เล่ม ๑ หน้า ก.)
ท่านกาญจนาคพันธ์ (สง่า กาญจนาคพันธ์ หรือ ขุนวิจิตรมาตรา) อธิบายใน “คอคิดขอเขียน” ตอนหนึ่งว่า “ทางเหนือเปอร์เซีย เป็นทะเลสาบแคสเปียนแถวนั้นเป็นดินแดนที่เรียกกันว่า ตุรกีสถาน เป็นที่อยู่ของพวกเร่ร่อน ซึ่งแตกแขนงมาจากภูเขาอาลไต (อัลไต) หลายต่อหลายพวก ล้วนเป็นวงศ์วานเครือเดียวกัน พวกใหญ่ที่อยู่แถวตุรกีสถานเรียกอย่างฝรั่งว่า “เตอร์ก” จีนเรียก “เขียก” (คือ คำที่ไทยเรียก “แขก”) ในชั้นหลังเรียกหุ้ยหุย ไทยก็เห็นจะเรียก หุ้ยหุย
หุ้ยหุยเพศนี้ห่อน ใครเห็น
สฤษดิรูปราวเฉกเฉลย เล่าไว้
ประเทศที่อยู่กระเด็น แดนจรด จีนพ่อ
แขกใช่แขกไซ้ชั้น เสพย์หมู
(วิทยาสาร ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ ๑๒ หน้า ๑๘)
คำว่า หุ้ยหุย นี้แปลว่า “การกลับมายังจุดเริ่มต้น” และหมายถึงผู้นับถือศาสนาอิสลาม คือผู้นอบน้อมตนเองยังพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อใฝ่สันติ หมายถึง ความสงบ สันติภาพ ในหนังสือ Islam in China มีบทหนึ่ง The Title “Hui Hui” อธิบายความหมายของเรื่องนี้โดยละเอียดว่าเป็นพวกจีนมุสลิม (Islam in China p.176-177, ดิเรก กุลสิริสวัสดิ์ “ความสัมพันธ์ของมุสลิม” (๒๕๔๕) หน้า ๘)
- ศาสนาอิสลามเข้าสู่ประเทศไทยในสมัยใด?
- ประวัติคลองแสนแสบและบรรพชนมุสลิมเชื้อสายต่างๆ
- เรียม เพศยนาวิน จากนางสาวไทย สู่รานีกษัตริย์มาเลเซีย
- มัสยิดทรงไทยแห่งเดียวในโลก
ที่มา: alisuasaming.org