มองประเทศไทยหลังสถานการณ์โควิด-19 บทความโดย รองศาสตราจารย์ วินัย ดะห์ลัน
มองประเทศไทยหลังสถานการณ์โควิด-19
บทความโดย: รองศาสตราจารย์ วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2563 ขณะที่ปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มขยายตัวรุนแรงขึ้น ผมฝ่ากระแสเขียนเรื่อง “มองโลกแง่ดีกรณีการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่” โดยสองข้อในหลายข้อดี ผมเขียนว่า จีนประเทศต้นตอรวยขึ้นมากแล้วทำให้สามารถกำหนดมาตรการควบคุมที่รวดเร็วและได้ผล อีกประการหนึ่ง คือ ความก้าวหน้าด้านสาธารณสุขโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการควบคุมโรคระบาดของประเทศไทยจัดอยู่ในลำดับต้นของโลก เขียนไว้อย่างนั้นแม้เวลานั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์สาหัส
แต่จนถึงวันนี้ผมดีใจที่สถานการณ์เป็นไปอย่างที่คาดการณ์ไว้ นั่นคือมาตรการเด็ดขาดผสานกับเทคโนโลยีที่มีอยู่ทำให้ในวันนี้จีนสามารถควบคุมโรคโควิด-19 ได้เรียบร้อย ยอดคนเสียชีวิตลดลง ผู้ติดเชื้อรายใหม่น้อยลง และจีนกำลังถ่ายทอดประสบการณ์ตลอดจนความช่วยเหลือให้กับประเทศอื่นๆ
ผมทำงานอยู่ในโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชนมาครึ่งชีวิต ร่วมงานกับกระทรวงสาธารณสุขนานหลายปี เห็นศักยภาพของวงการแพทย์ไทย เชื่อมั่นว่าเรารับมือโควิด-19 ได้ และดูเหมือนสถานการณ์เป็นไปในลักษณะนั้น เราพยายามชะลอการเข้าสู่ระยะที่สามของการระบาดให้ช้าที่สุด ตรึงจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ไว้ จนถึงวันนี้ 12 มีนาคม 2563 ทั่วทั้งโลกมีจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 126,036 ราย เสียชีวิต 4,615 ราย จีนมีผู้ป่วยรายใหม่เพียง 12 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตรายใหม่ จีนประสบความสำเร็จอย่างมากในการต่อสู้กับโรคร้ายนี้ ขณะที่ยุโรป อเมริกา และหลายประเทศในเอเชีย อเมริกาใต้ ออสเตรเลียดูคล้ายกำลังเพลี่ยงพล้ำ
เมื่อสองเดือนที่แล้วประเทศไทยคือประเทศแรกๆที่พบผู้ป่วยโรคโควิด-19 เป็น 1 ใน 5 ประเทศที่เผชิญปัญหาวิกฤติ มาวันนี้เราหล่นลงมาอยู่ที่อันดับที่ 26 หลายประเทศแซงหน้าเราขึ้นไปหมด วันนี้เรามีรายงานผู้ติดเชื้อ 59 ราย ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6 ราย ผู้ติดเชื้อที่อยู่ระหว่างการรักษา 24 ราย เสียชีวิต 1 ราย นอกนั้นรักษาหายได้หมด ประเทศไทยตรึงการระบาดไว้ได้ค่อนข้างดี แม้จะถูกค่อนขอดว่าปกปิดข้อมูล ตัวเลขจริงสูงกว่านี้
แต่เราก็มั่นคงไม่วิตกจริตไปกับคำวิพากษ์วิจารณ์ สิ่งสำคัญคือเราต้องไม่แตกตื่นไปกับโรค จะเบื่อหน่ายกับพฤติกรรมของนักการเมืองบางคนบางฝ่ายที่ทำมาหากินกับโควิด-19 บ้างก็เป็นเรื่องปกติที่ชาชินกันไปแล้ว สำคัญคือเราต้องเชื่อมั่นกับเจ้าหน้าที่และศักยภาพของคนของเรา ผมยังเชื่ออยู่เสมอว่าเราจะผ่านวิกฤตินี้ไปได้ แม้องค์การอนามัยจะเพิ่งประกาศให้โควิด-19 เป็นการระบาดใหญ่ระดับโลก (Pandemic) ก็ตาม
มองไปข้างหน้า หลังสถานการณ์โควิด-19 ผ่านพ้นไป ซึ่งคงจะเป็นไปสักพัก ประเทศไทยของเราในวันนั้นจะเปลี่ยนแปลงไปมาก รายได้จากการท่องเที่ยวของเราที่เคยสูงถึง 12% ของจีดีพีเป็นตัวเลขมหัศจรรย์ที่ไม่เคยเห็นกันมาก่อนจะลดฮวบลงแม้จะฟื้นคืนกลับมาได้บ้างแต่ไม่มีทางกลับไปเหมือนเดิม ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวทั้งหลายต้องปรับตัว จำเป็นต้องมองหาช่องทางใหม่ๆ พฤติกรรมของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไปมากจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาธุรกิจใหม่ แต่เมื่อมีความมุ่งมั่น ความหวังย่อมมีอยู่เสมอ ผมเชื่อมั่นของผมอย่างนั้น
- โควิด-19 กับหวัดใหญ่ 2009 สองสถานการณ์ที่แตกต่าง
- ตูนิเซีย ราคากระเทียมพุ่งสูง เชื่อช่วยรักษาโควิด-19
- ซาอุฯ สั่งปิดมัสยิด ชวนให้ละหมาดที่บ้าน
- ดร.วินัย เผยวิธีป้องกันโควิด-19 ปลอดภัยไร้หน้ากากอนามัย
- อิหร่านประกาศปิดศาสนสถานสำคัญ 'อิหม่ามรีฎอ' ช่วงวันหยุดปีใหม่
- มัสยิดอัลอักซอ ปิดห้ามเข้าแล้ว แต่ให้ละหมาดลานด้านนอกได้
- ตุรกีอ่วม! กลับจากมักกะห์กว่า 2 หมื่นคนถูกกักตัวในหอพัก
- 'ผู้นำอิสลาม' แนะมุสลิมยกมือทักทายแทนสลาม ป้องกันโควิด-19