มัสยิดบูเก็ตตันหยง ในหลวง ร.9 พระราชทานเงินให้ซ่อมแซม
นายเจ๊ะอารี รอตันหยง บิหลั่นมัสยิดบูเก็ตตันหยงและเจ้าหน้าที่ในพระตำหนักฯ หนึ่งพสกนิกรมุสลิมในแผ่นดินไทย เผยเรื่องราวจากส่วนลึกของหัวใจ ความรู้สึกซาบซึ้งสุขใจยิ่งที่ได้เป็นพสกนิกรไทยใต้ร่มพระบารมี ในหลวง รัชกาลที่9
พระตำหนักแห่งเดียวในโลก
“พ่อผมร่วมกับชาวบ้านถวายที่ดิน 333 ไร่บนเขาตันหยงเพื่อสร้างพระตำหนัก ในหลวง ร.9 ท่านให้ผู้ว่าฯ หาที่ดินมาให้ทดแทนและให้พวกเราสร้างบ้านอยู่ใกล้ ๆ จะได้เป็นเพื่อนบ้านอยู่ด้วยกัน ที่ว่าแปลกก็คือในเขตพระตำหนักมีกุบัรเก่าแก่ของชุมชน โดยปกติแล้วบริเวณกุบัรคงจะไม่เหมาะที่จะสร้างพระตำหนัก เจ้าของสุสานเองก็คงไม่ชอบ
แต่กลายเป็นว่า ราษฎรเองเต็มใจ พระองค์ท่านก็ไม่ทรงรังเกียจ และยังทรงให้ชาวบ้านมุสลิมเข้าออกเพื่อประกอบศาสนกิจได้ตามต้องการ ต่อมาได้มีการพัฒนาพื้นที่กุบัรปลูกต้นเฟื่องฟ้าเต็มไปหมดดูแล้วร่มรื่นสวยงาม เราเรียกว่า ลานเฟื่องฟ้า”
เมื่อดอกตันหยงบาน
“ตั้งแต่มีพระตำหนักที่นี่ชีวิตชาวบ้านบนเขาตันหยงก็เปลี่ยนไป พวกเรามีความสุขสบายใจ มีงานทำท่านช่วยชาวบ้านทุกสิ่งทุกอย่าง มีฟาร์มตัวอย่าง มีศูนย์พิกุลทอง ลูกหลานที่นี่ไปทำงานที่นั่นกันหมด ผมเองก็ได้ทำงานในพระตำหนัก ตอนที่รับเสด็จฯ ครั้งแรก ทรงถามผมว่า “สบายดีมั๊ย ท่านมาอยู่ที่นี่อยากจะช่วย มีอะไรก็ให้พูดกัน” มัสยิดนี้ (มัสยิดบูเก็ตตันหยง) ท่านก็พระราชทานเงินให้ซ่อมแซม ท่านจะเสด็จฯ มาที่มัสยิดมาถามทุกข์สุขพวกเรา บ่อย ๆ มีอยู่ครั้งหนึ่งท่านเสด็จฯ มาพระราชทานเงินให้ 100,000 บาท พอทรงทราบว่า ที่มัสยิดมีปัญหาน้ำไม่พอใช้ ท่านทรงแก้ไขให้ทันทีเลย”
จากหนังสือ"สถาบันพระมหากษัตริย์กับมุสลิมในแผ่นดินไทย"โดย ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
มัสยิดบูเก็ตตันหยงแห่งนี้ ชาวบ้านในพื้นที่มักเรียกกันติดปากว่า “มัสยิดรายอ” หรือมัสยิดในหลวง ซึ่งคำว่า “รายอ” เป็นคำที่ประชาชนในพื้นที่ใช้แทน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งถือเป็นพระมหากษัตริย์ของประชาชนคนไทยทุกคน
มัสยิดบูเก็ตตันหยง เมื่อปี พ.ศ. 2515 ซึ่งมี นายหะยีนาหวัน รอตันหยง เป็นโต๊ะอิหม่ามคนแรก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จมาประทับบริเวณชายหาดที่หมู่บ้านเขาตันหยง ซึ่งปัจจุบันเป็นเขตพระราชฐานชั้นกลางของพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ในปัจจุบัน
ซึ่งในสมัยนั้นมัสยิดบูเก็ตตันหยง มีลักษณะเป็นเรือนไม้ตั้งอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว และด้วยประชาชนในพื้นที่ได้ถวายที่ดินสร้างมัสยิดบูเก็ตตันหยงในสมัยนั้น ถวายให้พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงมีการยกเรือนไม้ย้ายมาตั้ง ณ สถานที่ปัจจุบัน
โดยยังคงใช้เป็นสถานที่ในการประกอบศาสนกิจของประชาชนในพื้นที่ และด้วยมีผู้มาร่วมประกอบสถานกิจจำนวนมากขึ้น ทำให้มัสยิดบูเก็ตตันหยง ซึ่งเป็นเรือนไม้มีความคับแคบ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้ 300,000 บาทกับนายหะยีนาหวัน รอตันหยง เป็นโต๊ะอิหม่ามมัสยิดบูเก็ตตันหยง ในการสร้างมัสยิดบูเก็ตตันหยงขึ้นใหม่ให้มีขนาดเพียงพอรองรับประชาชนในพื้นที่ที่มาประกอบศาสนกิจ และจัดสร้างเป็นปูนคอนกรีตขึ้นมา โดยจัดสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2528 และปัจจุบันมัสยิดบูเก็ตตันหยงมีการทาสีเขียวสดใสตั้งเด่นเป็นสง่าในพื้นที่ดังกล่าว
มัสยิดบูเก็ตตันหยงแห่งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งมัสยิดที่มีเรื่องราวความผูกพันระหว่างประชาชนชาวมุสลิมในพื้นที่กับสถาบันพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ ซึ่งประชาชนในพื้นที่ทุกคนล้วนมีความผูกพันกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะทุกครั้งที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานมายังพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ประชาชนในพื้นที่ก็จะเดินทางมาเฝ้ารอรับเสด็จ ณ บริเวณแห่งนี้
ที่มา: mgronline.com