กรมปศุสัตว์ ผุดไอเดียนำสื่อการ์ตูนป้องกัน ปัญหาเนื้อโคปลอมปนเนื้อสุกร มาร่วมรณรงค์กัน
กรมปศุสัตว์ ผุดไอเดียนำสื่อการ์ตูนป้องกัน ปัญหาเนื้อโคปลอมปนเนื้อสุกร
เมื่อเร็วๆ นี้ นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ มอบหมายให้รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า กรมปศุสัตว์ได้เกาะติดสถานะการณ์ปัญหาการจำหน่ายเนื้อโคปลอมปนเนื้อสุกรให้แก่ผู้บริโภคได้ระยะหนึ่งแล้ว หลังจากได้รับแจ้งพบการกระทำผิดจากผู้บริโภคชาวไทยในบางพื้นที่ ไม่เว้นแม้แต่ชุมชนมุสลิม ซึ่งปรากฎในภาพข่าวตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา โดยเป็นการกระทำผิดของผู้ฉวยโอกาส ที่มุ่งหวังเพียงกำไรส่วนต่างราคาของเนื้อสุกร มาหลอกจำหน่ายเป็นเนื้อโคในราคาที่สูงกว่า ถือเป็นการกระทำที่ได้ไม่คุ้มเสีย เพราะกระทำเช่นนี้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างได้แก่
1.ทำลายความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกคน
2.ทำร้ายสุขภาพหากบริโภค
3.ทำร้ายพ่อค้า แม่ค้า ผู้ประกอบอาชีพจำหน่ายเนื้อโค
4.ทำลายภาพลักษณ์ของประเทศ เพราะนักท่องเที่ยวจะรู้สึกถึงความไม่ไว้ใจในพื้นที่ อาจถูกหลอกลวงในเรื่องอื่นๆ ได้
รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางการแก้ไขของกรมปศุสัตว์จะดำเนินการเชิงรุกและเชิงรับควบคู่กัน โดยการแก้ไขปัญหาเชิงรับเป็นการสื่อสารเตือนภัย การให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการแจ้งเบาะแสการกระทำผิดผ่านแอพลิเคชั่น DLD 4.0 ตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อกรมปศุสัตว์ได้รับแจ้งแล้ว จะสั่งการให้ชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมเก็บตัวอย่างส่งตรวจหาดีเอ็นเอสุกรทางห้องปฏิบัติการ ในกรณีที่พบการกระทำผิดจริงจะดำเนินการบังคับใช้กฎหมายตามความผิดที่พบ นอกจากนี้กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการนำสื่อในรูปแบบการ์ตุน มาป้องกันปัญหาเนื้อโคปลอมปนเนื้อสุกร เพื่อผู้บริโภคด้วย เพราะสื่อการ์ตูนเป็นการสื่อที่มีสีสัน ทำให้เข้าใจได้ง่าย และสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ทุกกลุ่ม ทั้งนี้สื่อการ์ตูน ชุด กรมปศุสัตว์ เฝ้าระวังปัญหาเนื้อโคปลอมปนเนื้อสุกร มีด้วยกัน 4 ตอน ได้แก่
1.เนื้อโคปลอมปนเนื้อสุกรส่งผลกระทบหลายด้าน
2.การแจ้งเบาะแสเนื้อโคปลอมผ่านแอพลิเคชั่น DLD 4.0
3.การใช้ TEST KIT ตรวจเนื้อโคปลอมปนเนื้อสุกร
4.บทลงโทษการดำเนินคดีผู้จำหน่ายเนื้อโคปลอม
อย่างไรก็ตามเพื่อความมั่นใจในการเลือกซื้อเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อโดยสังเกตจากตราสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ ok” ที่กรมปศุสัตว์รับรอง โดยสถานที่จำหน่ายต้องสะอาด และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้เท่านั้นจึงจะผ่านเกณฑ์ และสำหรับสินค้าปศุสัตว์ทางเลือกอย่างสินค้าฮาลาล ผู้บริโภคก็สามารถเลือกซื้อ โดยสังเกตตราสัญลักษณ์ Halal ที่รับรองโดยสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวในที่สุด