กรมปศุสัตว์ได้เกาะติดสถานะการณ์ปัญหาการจำหน่ายเนื้อโคปลอมปนเนื้อสุกรให้แก่ผู้บริโภคได้ระยะหนึ่งแล้ว หลังจากได้รับแจ้งพบการกระทำผิดจากผู้บริโภคชาวไทยในบางพื้นที่
ปศุสัตว์จัดเต็ม ลุยสกัดเนื้อปลอมคุ้มครองผู้บริโภค
เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ มอบหมายให้รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า กรมปศุสัตว์ได้เกาะติดสถานะการณ์ปัญหาการจำหน่ายเนื้อโคปลอมปนเนื้อสุกรให้แก่ผู้บริโภคได้ระยะหนึ่งแล้ว หลังจากได้รับแจ้งพบการกระทำผิดจากผู้บริโภคชาวไทยในบางพื้นที่ ไม่เว้นแม้แต่ชุมชนมุสลิม ซึ่งปรากฎในภาพข่าวตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา โดยเป็นการกระทำผิดของผู้ฉวยโอกาส ที่มุ่งหวังเพียงกำไรส่วนต่างราคาของเนื้อสุกร มาหลอกจำหน่ายเป็นเนื้อโคในราคาที่สูงกว่า ถือเป็นการกระทำที่ได้ไม่คุ้มเสีย เพราะกระทำเช่นนี้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างได้แก่
1. ทำลายความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกคน เพราะเมื่อผู้บริโภคทราบว่าถูกหลอกย่อมเสียความรู้สึก เลิกซื้อและเลิกบริโภค
2. ทำร้ายสุขภาพหากบริโภค เพราะสิ่งที่ใช้ในการปลอมแปลงเนื้อสุกรเป็นเนื้อโค รวมถึงแหล่งที่มาของเนื้อสัตว์อาจไม่ได้รับการตรวจโรค
3.ทำร้ายพ่อค้า แม่ค้า ผู้ประกอบอาชีพจำหน่ายเนื้อโค เพราะถูกขายตัดราคา
4. ทำลายภาพลักษณ์ของประเทศ เพราะนักท่องเที่ยวจะรู้สึกถึงความไม่ไว้ใจในพื้นที่ อาจถูกหลอกลวงในเรื่องอื่นๆ ได้
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์
รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางการแก้ไขของกรมปศุสัตว์จะดำเนินการเชิงรุกและเชิงรับควบคู่กัน โดยการแก้ไขปัญหาเชิงรับเป็นการสื่อสารเตือนภัย การให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการแจ้งเบาะแสการกระทำผิดผ่านแอพลิเคชั่น DLD 4.0 ตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อกรมปศุสัตว์ได้รับแจ้งแล้ว จะสั่งการให้ชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมเก็บตัวอย่างส่งตรวจหาดีเอ็นเอสุกรทางห้องปฏิบัติการ ในกรณีที่พบการกระทำผิดจริงจะดำเนินการบังคับใช้กฎหมายตามความผิดที่พบ เช่น ความผิดตามพระราชบัญญัตติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ.2559 มาตรา 38 จำหน่ายเนื้อสัตว์ที่มิได้รับรองให้จำหน่าย โทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 47 ผู้กระทำผิดมีเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณ หรือสาระสำคัญประการอื่น โทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงขั้นตอนการสอบสวนเพื่อขยายผลไปยังต้นตอของสถานที่กระทำผิด
นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์
สำหรับการแก้ปัญหาเชิงรุก กรมปศุสัตว์กำหนดให้การเฝ้าระวังการจำหน่ายเนื้อโคปลอมปนเนื้อสุกร เป็นตัวชี้วัดสำหรับสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งได้ลงพื้นที่ตรวจเฝ้าระวังการจำหน่ายเนื้อโคจำนวนมากกว่า 1,123 แห่ง เพื่อเป็นการป้องปรามผู้ค้า นอกจากนี้ในระหว่างเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน กรมปศุสัตว์ได้สุ่มเก็บตัวอย่างเนื้อโคดิบ จำนวน 200 ตัวอย่าง จาก 81 แหล่ง ทั้งในตลาด นอกตลาด และช่องทางออนไลน์ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อตรวจหาโปรตีนเนื้อสุกรด้วยชุดทดสอบ ซึ่งผลทดสอบไม่พบเนื้อสุกรปลอมปนทั้งหมด
อย่างไรก็ตามเพื่อความมั่นใจในการเลือกซื้อเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อโดยสังเกตจากตราสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ ok” ที่กรมปศุสัตว์รับรอง โดยสถานที่จำหน่ายต้องสะอาด และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้เท่านั้นจึงจะผ่านเกณฑ์ และสำหรับสินค้าปศุสัตว์ทางเลือกอย่างสินค้าฮาลาล ผู้บริโภคก็สามารถเลือกซื้อ โดยสังเกตตราสัญลักษณ์ Halal ที่รับรองโดยสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวในที่สุด
ที่มา: สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์