ประกาศจุฬาราชมนตรี เรื่อง มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19)
ประกาศจุฬาราชมนตรี เรื่อง มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19)
ว่าด้วย การปฏิบัติศาสนกิจในเดือนรอมฎอน ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช ๑๔๔๑ (พ.ศ. ๒๕๖๓)(ฉบับที่ ๔/๒๕๖๓)
- รอมฎอน 63 ประกาศดูดวงจันทร์ กำหนดเดือนรอมฎอน 1441
- สำนักจุฬาราชมนตรี แถลงการณ์ ขอมุสลิมเคร่งครัด เชื้อไวรัสโคโรน่า 2019
- จุฬาราชมนตรี ประกาศป้องกันโควิด 2019 (ฉ.2/2563)
- งดละหมาดวันศุกร์ เกิน 3 ครั้งได้ คำชี้ขาด สำนักจุฬาราชมนตรี
ตามที่ได้มีประกาศจุฬาราชมนตรี เรื่อง มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19) ฉบับที่ ๑/๒๕๖๓ ลงวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๖๓, ฉบับที่ ๒/๒๕๖๓ ลงวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๓ และฉบับที่ ๓/๒๕๖๓ ลงวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๓ เพื่อให้เป็นแนวทางในการปฏิบัติศาสนกิจของพี่น้องมุสลิมนั้น
เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวยังคงพบผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง จึงยังมีผลในทางปฏิบัติต่อไป และในห้วงระหว่างวันที่ ๒๔ หรือ ๒๕ เมษายน – ๒๓ หรือ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๓ นี้ จะตรงกับเดือนรอมฎอนที่มุสลิมต้องปฏิบัติศาสนกิจการถือศีลอดและการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในเดือนที่สำคัญยิ่งนี้ ซึ่งจะมีการรวมตัวกันเป็นหมู่คณะ ณ มัสยิด เคหสถาน หรือสถานที่ที่จัดเตรียมไว้ และในสถานการณ์ที่ยังคงพบผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่องนี้ จึงจำเป็นต้องกำหนดมาตรการเพิ่มเติม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19) ดังนี้
๑. การดูดวงจันทร์เพื่อกำหนดวันที่ ๑ ของเดือนรอมฎอน ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช ๑๔๔๑ (พ.ศ. ๒๕๖๓) นี้ ให้เป็นหน้าที่ของผู้ที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเท่านั้น
๒. การถือศีลอดเดือนรอมฎอนให้ถือปฏิบัติตามปกติที่บทบัญญัติศาสนากำหนด ยกเว้น ผู้ที่ได้รับผ่อนผันตามหลักการศาสนาเท่านั้น ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19) มิได้เป็นอุปสรรคให้งดการถือศีลอดแต่ประการใด ตลอดจนการกลืนน้ำลายที่ไม่เจือปนเศษอาหารที่อยู่ในช่องปากก็มิได้ทำให้การถือศีลอดบกพร่องแต่อย่างใด กลับเป็นการรักษาร่างกายและลำคอให้ชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น จึงไม่ควรถ่มน้ำลายในสถานที่สาธารณะโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อในสภาวการณ์ปัจจุบัน
๓. งดการจัดเลี้ยงอาหารละศีลอดที่มัสยิด เคหสถาน หรือสถานที่ที่จัดเตรียมไว้ หากมีความประสงค์ก็ให้จัดทำอาหารปรุงสุกที่บ้านและจัดใส่ภาชนะบรรจุภัณฑ์ให้ถูกต้องตามสุขลักษณะแล้วแจกจ่ายให้แก่เพื่อนบ้านและญาติใกล้ชิดแทนการจัดเลี้ยงที่มารวมกันเป็นหมู่คณะ
๔. กรณีสมาชิกในครอบครัวละศีลอดหรือรับประทานอาหารซาโฮร์ร่วมกัน ให้หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารในภาชนะร่วมกัน และให้นั่งห่างกันอย่างน้อย ๑ เมตร ล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร
๕. งดการเอี๊ยะติก๊าฟ และการละหมาดญะมาอะห์ที่เป็นซุนนะห์ (สุนัต) ประเภทต่าง ๆ ในค่ำคืนของเดือนรอมฎอน ได้แก่ การละหมาดตะรอเวียะห์ การละหมาดวิตร์ (วิเต็ร) และการละหมาดตะฮัจญุด ตลอดจนกิจกรรมการรวมตัวอื่น ๆ ที่มัสยิด หรือในสถานที่ที่จัดเตรียมไว้
๖. ให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดแจ้งไปยังมัสยิดในการสร้างความเข้าใจเรื่องการจ่ายซะกาตฟิตร์ และฟิดยะห์ล่วงหน้า ที่สามารถกระทำได้ตั้งแต่เข้าสู่เดือนรอมฎอน โดยให้มัสยิดเป็นผู้รวบรวม และขอให้สัปปุรุษทุกคนร่วมมือในการมอบซะกาตฟิตร์และฟิดยะห์ดังกล่าวให้กับมัสยิด เพื่อนำไปช่วยเหลือครอบครัวที่เดือดร้อนในสถานการณ์ปัจจุบัน
อนึ่ง สำหรับการละหมาดอีฎิ้ลฟิตร์และการจัดกิจกรรมในวันดังกล่าว จะประกาศมาตรการให้ทราบในโอกาสต่อไป
ขอให้พี่น้องมุสลิมทุกคนมีความอดทนต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และขอให้ใช้โอกาสแห่งเดือนรอมฏอนอันประเสริฐนี้ปฏิบัติศาสนกิจให้ครบถ้วนสมบูรณ์ และขอดุอา (ขอพร) ต่ออัลลอฮ์ พระผู้เป็นเจ้า ให้ภัยบะลาอ์ครั้งนี้ผ่านพ้นไปโดยเร็ว
ทั้งนี้ ให้ถือปฏิบัติตามมาตรการฯ ฉบับนี้ และมาตรการฯ ทั้ง ๓ ฉบับดังกล่าวข้างต้น ด้วยความเคร่งครัด จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น
ประกาศ ณ วันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๓
(นายอาศิส พิทักษ์คุมพล)
จุฬาราชมนตรี