ทางสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ออกหนังสือชี้แจง ร้านอัสมาเป็ดย่างไม่ได้รับการรับรองฮาลาลจาก สกอท
สำนักข่าวมุสลิมไทยโพสต์: สกอท.ประกาศ อัสมาเป็ดย่าง ปลอมฮาลาล
จากกรณีประชาชนได้ส่งข้อมูลให้ตรวจสอบ ร้านเป็ดย่างชื่อดังส่งขายทั่วประเทศ จำหน่ายเป็ดย่าง ชิ้นส่วนเป็ดต่างๆ และทอดมัน ตั้งอยู่ในจังหวัดนนทบุรี ใช้สัญลักษณ์ฮาลาลสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย แต่ไม่มีเลขกำกับ เพียงเขียนข้อความ สดสะอาด ถูกหลักอนามัย
จากข้อมูลพบว่า ผู้ประกอบการ ใช้ชื่ออาหรับ เป็นชื่อสินค้า ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคที่เป็นมุสลิมไม่ทันสังเกตเครื่องหมายรับรองเพียงดูแต่ชื่อ จึงตัดสินใจซื้อสินค้าไปรับประทาน เกิดความเสียหายแก่ผู้บริโภค เพราะรับประทานสิ่งที่ไม่ได้รับอนุมัติ (ฮารอม)เข้าไป
ในประเทศไทยการขออนุญาตใช้เครื่องหมายฮาลาลและหนังสือรับรองการผลิตอาหารฮาลาล ผู้ผลิตจะต้องติดต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบคือ “สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (สกอท.)”
ล่าสุดวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 ทางสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ออกหนังสือชี้แจง ร้านอัสมาเป็ดย่างไม่ได้รับการรับรองฮาลาลจาก สกอท. ดังนี้...
ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย
ฉบับที่ ๒/๒๕๖๔ ออกตามความในพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. ๒๕๔๐
เรื่อง ผลิตภัณฑ์อัสมาเป็ดย่างไม่ได้รับการรับรองฮาลาลจาก สกอท.
อาศัยความในมาตรา ๑๘ (๙) แห่งพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. ๒๕๔๐ ให้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยออกประกาศและให้คำรับรองเกี่ยวกับกิจการศาสนาอิสลาม จึงออกประกาศให้พี่น้องมุสลิมได้ทราบว่า จากการที่มีเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มผู้บริโภคเกี่ยวกับการรับรองฮาลาลในผลิตภัณฑ์ อัสมาเป็ดย่าง ที่เป็นประเด็นทางสื่อสังคมออนไลน์ว่า ปรากฏสัญลักษณ์เครื่องหมายรับรองฮาลาลของสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยบนผลิตภัณฑ์ดังกล่าว
สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ได้ตรวจสอบแล้วพบว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่มีการขอรับรองฮาลาลแต่อย่างใด จึงขอประกาศให้พี่น้องมุสลิมทราบว่า ผลิตภัณฑ์อัสมาเป็ดย่าง ไม่ได้รับการรับรองฮาลาลและการรับรองการใช้เครื่องหมายรับรองฮาลาลจากสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย จึงขอประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน
ประกาศ ณ วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔
สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย
หมายเหตุ ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์ฮาลาลไทยได้จาก www.halal.co.th และ Application “HalalThai”
จัดทำโดยองค์กรศาสนา สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ผู้ออกเครื่องหมายรับรองฮาลาลไทย เครื่องหมายเดียว มาตรฐานเดียว
ในมุมของผู้บริโภค
1.ใช้ในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ฮาลาลไทย
2.ใช้ค้นหาผลิตภัณฑ์ฮาลาล ทั้งขอใหม่และที่ยังมีการรับรอง “สถานะฮาลาลไทย”
3.ใช้เพื่อการเข้าถึงผู้ประกอบการหรือผู้จัดจำหน่ายและจำหน่าย
4. จับคู่ธุรกิจผลิตภัณฑ์ฮาลาลไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศ
5.ใช้เพื่อแจ้งเรื่อง-ร้องเรียน ผ่านแอปพลิเคชัน
ในมุมของผู้ประกอบการ ผู้จัดจำหน่ายและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ฮาลาลไทย
1.ประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ฮาลาลไทยไปทั่วโลก
2.ยืนยันสถานะผลิตภัณฑ์ฮาลาลไทยของผู้ประกอบการ มีการรับรองจริง โดยการป้อนหมายเลขฮาลาลลงในแอปพลิเคชันและกดปุ่มค้นหา ถ้าผู้ประกอบการมีรูปภาพผลิตภัณฑ์ หมายเลข อย. ก็สามารถค้นหาได้
หรือถ้ามีหมายเลขบาร์โคดในระบบก็สามารถใช้สแกนการค้นหาได้เช่นกัน
3.ใช้เพื่อการเข้าถึงผู้บริโภค (B2C)
4.ใช้เพื่อการเข้าถึงผู้ประกอบการอื่น ผู้จัดจำหน่าย และจำหน่าย (จับคู่ธุรกิจ B2B)
5.ใช้เพื่อแจ้งเรื่อง-ร้องเรียน ผ่านแอปพลิเคชัน Halal Thai ในทุกกรณี
ผลิตภัณฑ์ฮาลาลไทย ต้องระบุหมายเลขฮาลาลบนบรรจุภัณฑ์และเครื่องหมายรับรองฮาลาลอย่างชัดเจน เพื่อผู้บริโภคสามารถนำหมายเลขมาตรวจสอบย้อนกลับได้ง่ายๆด้วยตัวคุณเอง
ถ้ามีแค่เครื่องหมายรับรองฮาลาลไทยและไม่มีหมายเลขฮาลาลไทย บนบรรจุภัณฑ์สันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่าปลอม ละเมิด หรือไม่มีการขอรับรองฮาลาลไทย สามารถใช้แอปพลิเคชันถ่ายรูปแจ้งเรื่อง-ร้องเรียน เพื่อตรวจสอบได้ทันที หรือส่งเรื่องมาทางไลน์ได้ที่ @halal
ผลิตภัณฑ์ฮาลาลไทยมากกว่า 150,000 รายการที่ได้รับเครื่องหมายการรับรองฮาลาลไทยสามารถตรวจสอบและค้นหาง่ายๆด้วยตัวคุณเองถึง 2 ช่องทาง
1. แอปพลิเคชัน Halal Thai ของสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย โดยสังเกตที่ไอคอนรูปเครื่องหมายฮาลาลไทย
2. ทางเว็บ www.halal.co.th
มาตรฐานฮาลาลไทย “ตามหลักการศาสนา โดยองค์กรศาสนา บูรณาการด้วยมาตรฐานสากล” สามารถขอรับรองฮาลาลผ่านระบบออนไลน์ได้แล้ววันนี้ที่ www.halal.or.th เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0
- เปิดเครื่องหมายฮาลาลแต่ละประเทศ ที่มุสลิมควรต้องทราบ!!
- ช็อคตาตั้ง! นักวิทย์ฯพบ 185 ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นจากหมู ในชีวิตประจำวัน
- ข่าวปลอม! มุสลิมซื้อที่ดินได้ไม่จำกัด ส่วนพุทธได้แค่ 50 ไร่เท่านั้น
- ฮาลาลจ่ายภาษีหรือไม่ เงินฮาลาลนำไปทำอะไร เงินเดือนอิหม่าม 18,000 เชียวหรือ?
- ชี้แจง ยาคูลท์ ยกเลิกฮาลาล เฟคนิวส์!
- กลุ่มชาวพุทธฯ หงายเงิบ! ไม่รับฟ้องยกเลิกฮาลาล
- คุณรู้หรือไม่ บะหมี่มาม่ากรรมวิธีการทำเส้นไม่ฮาลาล