อาหารฮาลาล คืออะไร อธิบายความหมายอย่างง่ายๆ พร้อมยกตัวอย่างอาหารที่ฮาลาลและไม่ฮาลาล
อาหารฮาลาล คืออะไร อธิบายความหมายอย่างง่ายๆ พร้อมยกตัวอย่างอาหารที่ฮาลาลและไม่ฮาลาล
เขียนโดย: บัญญัติ ทิพย์หมัด
คุณเคยสงสัยไหมว่า ทำไมอาหารบางชนิดถึงมีป้าย "ฮาลาล"? มันหมายความว่าอย่างไร?
คำว่า "ฮาลาล" (Halal) ในภาษาไทย มีที่มาจากภาษาอาหรับ หมายถึง "อนุมัต" หรือ "อนุญาต" ในบริบทของศาสนาอิสลาม เมื่อนำมาใช้กับอาหาร หรือที่เรียกว่า “อาหารฮาลาล” หมายถึง อาหารที่อนุญาตให้มุสลิม (ผู้นับถือศาสนาอิสลาม)บริโภคหรือรับประทานได้นั้นเอง
ทั้งนี้ (อธิบายเพิ่มเติม อาหารฮาลาล) คือ อาหารที่ผ่านกระบวนการผลิตที่สอดคล้องกับหลักการทางศาสนาอิสลาม ซึ่งรวมถึง:
- วัตถุดิบ: ต้องเป็นวัตถุดิบที่สะอาด ห้ามมีส่วนผสมของสิ่งที่ฮาราม (สิ่งต้องห้าม) เช่น เนื้อหมู เลือด สุรา สัตว์เลื้อยคลาน หรือรวมไปถึงวัตถุดิบที่ไปโกง, ยักยอก หรือขโมย หรือแม้แต่วัตถุดิบที่ผ่านการเซ่นไหว้ภูมิผีปีศาจ ก็ถือเป็นสิ่งต้องห้ามเช่นกัน
- การเชือดสัตว์: หากเป็นเนื้อสัตว์ เช่น ไก่ เป็ด วัว ต้องเชือดโดยผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม และต้องกล่าวบิสมิลลาห์ (กล่าวชื่อพระเจ้า”อัลลอฮ์”) ก่อนการเชือด ทั้งนี้การเชือดก็มีหลักปฎิบัติต่างๆ ซึ่งมุสลิมก็ต้องศึกษาอย่างละเอียดอีกด้วย
- กระบวนการผลิต: ทุกขั้นตอนในการผลิตอาหารต้องสะอาด ปราศจากสิ่งปนเปื้อน และไม่สัมผัสกับสิ่งที่ฮาราม ร่วมไปถึงการล้างภาชนะต่างๆ และการจัดเก็บอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะในส่วนกระบวนการปรุง ผู้ปรุงอาหาร (กรณีไม่ใช้มุสลิม) จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสบู่ดิน ก่อนที่จะสัมผัสภาชนะและวัตถุดิบต่างๆ โดยหากเป็นระบบอุตสาหกรรม ก็จะมีการทำความสะอาดมากกว่า [“GMPและ HACCP” + ล้างสบู่ดิน(สิ่งปนเปื่อน)]
ผู้ประกอบการหรือผู้ปรุง ต้องมีความตั้งใจหรือคำสัญญาว่า “จะดำเนินการผลิตอาหารฮาลาล” อีกด้วย
เหตุผลที่อาหารฮาลาลมีความสำคัญ:
- หลักการทางศาสนา: เป็นการปฏิบัติตามหลักการทางศาสนาอิสลาม
- สุขภาพ: อาหารฮาลาลมักเน้นความสะอาดและถูกสุขอนามัย
- ความมั่นใจของผู้บริโภค: ผู้บริโภคมุสลิมมั่นใจได้ว่าอาหารที่บริโภคเป็นไปตามหลักการทางศาสนา
ตัวอย่างอาหารที่ฮาลาล: เนื้อวัว เนื้อไก่ เนื้อแกะ (ที่เชือดตามหลักศาสนา) ปลา ผัก ผลไม้ ข้าว ขนมปัง น้ำ ทั้งนี้ตามหลักศาสนบัญญัติ มีคำสอนที่ว่า “ทุกสิ่งนั้นล้วนแล้วแต่เป็นที่อนุมัติในการรับประทานได้ ยกเว้น สิ่งที่ศาสนากำหนด หรือชี้ชัดว่า “ไม่อนุมัติ(ฮาราม)”
ตัวอย่างอาหารที่ไม่ฮาลาล: เนื้อหมู เนื้อสุนัข สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ที่ตายเอง (โดยไม่ผ่านการเชือด) เลือดทุกชนิด (เลือดเป็นที่รวมของสารพิษต่างๆ) สุราหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ รวมไปถึง อาหารที่มีส่วนผสมของสิ่งที่ฮาราม กรณีตรวจสอบอย่างง่ายในช้อปหรือร้านสะดวกซื้อ คือการตรวจสอบเครื่องหมายรับรองฮาลาล ว่ามีประทับในซองหรือผลิตภัณฑ์ดังกล่าวหรือไม่ นั้นเอง
บทสรุป
อาหารฮาลาล คือ อาหารที่อนุมัติสำหรับมุสลิมสามารถรับประทานได้ ทั้งนี้เพราะ ความเชื่อของมุสลิมคือ “หากรัปทานอาหารที่ไม่ฮาลาลก็จะเป็นบาปติดตัวและจะกลายเป็นเชื้อเพลิงของไฟนรก อีกทั้ง มุสลิมที่ทานอาหารไม่ฮาลาล พระเจ้า (อัลเลาะห์) จะไม่ตอบรับผลบุญที่มุสลิมผู้นั้นได้ทำไป อาหารฮาลาลไม่เพียงแต่เป็นเรื่องของศาสนาเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับสุขภาพและความปลอดภัยของอาหารอีกด้วย ซึ่งการบริโภคอาหารฮาลาลเป็นการแสดงออกถึงความเคารพต่อศาสนาอิสลามและวัฒนธรรมของมุสลิม เพื่อนๆต่างศาสนิกที่มีความเชื่อว่า “อาหารนี้ไม่มีหมู มุสลิมทานได้ เป็นความเข้าใจที่ผิดและคลาดเคลื่อน” แต่เพื่อบอกกันความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ควรซื้อหรือจัดหาอาหารจากร้านต้นตำรับมุสลิม หรือว่าเลือกสินค้าที่มีเครื่องหมายรับรองฮาลาลเท่านั้น โดยสิ่งต่างๆเหล่านี้ยอมสร้างความสุขและผลดีทั้งผู้ให้และผู้รับ
สิ่งสำคัญ คือ “อาหารฮาลาล คืออาหารที่สะอาด ถูกสุขอนามัย ใครๆก็รับประทานได้”
ข้อมูล : บัญญัติ ทิพย์หมัด นักวิจัยเรื่อง วาทกรรมอาหารฮาลาลในสังคมไทย
อ้างอิง : เว็บไซต์ www.halalthailand.com